ปัจจุบันสินค้าออร์แกนิกได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ยังมีผู้บริโภคบางส่วนขาดความมั่นใจว่า จะเป็นสินค้าออร์แกนิกจริงแท้แค่ไหน แม้จะได้มาตรฐานรับรองเกษตรอินทรีย์ไทยก็ตาม
ทีมวิจัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย ผศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันออร์แกนิก สำหรับรองรับระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าด้วยระบบจีเอสพี ภายใต้การจัดระบบโดยมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย
โดยแอปฯดังกล่าวจะบอกถึงคุณภาพผลผลิต ฟาร์มของเกษตรกร ผู้ใช้แอปฯสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้ทั้ง ชื่อเกษตรกร ชื่อฟาร์ม ตำแหน่งที่ตั้ง ช่องทางการติดต่อ ภาพผลผลิตจริง ไทม์ไลน์การเพาะปลูก วันและเวลาที่เก็บเกี่ยวอย่างชัดเจน รวมถึงบอกลักษณะของผลผลิตได้ตรงตามมาตรฐานสากลของผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ โดยเชื่อมโยงข้อมูลไปยังระบบบัญชีแยกประเภท และฐานข้อมูลเกษตรกรจากมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย เพียงแค่สแกนคิวอาร์โค้ดครั้งเดียว
ทั้งนี้ เกษตรกรจะเป็นผู้กรอกข้อมูลเข้าระบบด้วยไฟล์ดิจิทัล อาทิ การวางแผนการผลิต การปฏิบัติในฟาร์ม การนำเข้าปัจจัยการผลิต ระยะการปลูก การเติบโตของพืช ฯลฯ เมื่อทำได้ครบทั้งกระบวนการผลิต คณะผู้วิจัยจะลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพ และตรวจเช็กข้อมูลการบันทึกย้อนหลังของเกษตรกร เพื่อประเมินผลผลิตมีคุณภาพและปลอดสารเคมี 100% หรือไม่
หากผ่านมาตรฐานที่กำหนด ผลผลิตและฟาร์มของเกษตรกรจะได้รับใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบอิเล็กทรอนิกส์ และได้คิวอาร์โค้ดแปะไปบนสินค้าที่วางจำหน่าย
ปัจจุบันแอปฯ ออร์แกนิก ได้ถูกนำไปใช้จริงเป็นการนำร่องในพื้นที่ สงขลา, สกลนคร และเชียงใหม่ รวม 18 ฟาร์มและเตรียมขยายการใช้งานไปอีก 5 จังหวัด สุรินทร์, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี, สระแก้ว และลำปาง ภายในปี 2561
นอกจากนั้น แอปฯนี้ยังได้รับรางวัลเหรียญทองแดง และรางวัลพิเศษ จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์เวทีนานาชาติ ครั้งที่ 46 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกด้วย ติดตามรายละเอียดได้ที่ www.sci.ti.ac.th
...
สะ–เล–เต