โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ แจงเหตุ “พระธาตุสามหุน” พังถล่ม เหตุออกแบบไม่ได้มาตรฐาน และคำนวณโครงสร้างไม่ผ่านวิศวกรรม เตรียมให้ทางท้องถิ่นดำเนินการเอาผิดผู้รับเหมา

จากกรณีที่เกิดเหตุการณ์พระธาตุสามหุน ที่วัดป่ากุดหว้า บ้านกุดหว้า ต.กุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เกิดทรุดตัวและทำให้โครงสร้างที่ครอบองค์พระธาตุถล่มทับคนงานก่อสร้างเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 4 ราย ซึ่งเหตุเกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 4 มิถุนายน 2561 โดยหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้เร่งนำผู้บาดเจ็บส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ และช่วยกันนำร่างผู้เสียชีวิตออกจากจุดเกิดเหตุเพื่อนำส่งให้ญาติประกอบพิธีทางศาสนา ตามที่ข่าวเสนอไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.61 เจ้าหน้าที่ส่วนที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่เข้าสำรวจความเสียหายของพระธาตุสามหุน โดยพบว่าพระธาตุพังเสียหายอย่างมาก เนื่องจากตัวอาคารที่สร้างครอบตัวพระธาตุได้พังลงมาทับองค์พระธาตุจนปลายยอดพระธาตุหักลงมาสร้างความเสียหาย และสะเทือนกับสภาพจิตใจของชาวบ้านที่มีความเลื่อมใสต่อองค์พระธาตุ โดยทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบพื้นที่การก่อสร้างอย่างละเอียดอีกครั้งเพื่อหาสาเหตุของการถล่ม

ด้านนายวีระชัย แก้วหาวงศ์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า สำหรับตัวอาคารสร้างใหม่ที่สร้างครอบองค์พระธาตุสามหุนองค์เดิม ได้เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา โดยก่อสร้างตามเงินที่ได้รับจากประชาชนมาบริจาค โดยปีนี้ได้ก่อสร้างเริ่มตั้งแต่ชั้นที่ 13 เป็นต้นไป โดยก่อสร้างเป็นหลังคาทรงระฆังคว่ำ เป็นผนังคอนกรีตทั้งหมด และจากเมื่อช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 4 ได้เกิดมีฝนตกหนัก ทำให้ปูนเกิดการอุ้มน้ำ ซึ่งหลังจากฝนหยุดตกได้มีคนงานบางส่วนเข้าไปทำงาน กระทั่งมีการพังทลายดังกล่าว

...

โดยจากการตรวจสอบพบว่า จุดเริ่มต้นของการทรุดตัวเกิดจากเสาช่วงกลาง ซึ่งเสาช่วงกลางจะเป็นเสาที่รับน้ำหนักโดยตรงของตัวอาคารทั้งหมด เนื่องจากตัวอาคารเป็นทรงสามเหลี่ยม ตัวเสามีความสูง 13 เมตร จากการตรวจสอบพบว่าลักษณะนี้ไม่ได้มีการถ่ายน้ำหนักไปส่วนอื่นของอาคารได้เลย จึงเกิดเป็นจุดวิบัติ หรือเสากลางด้านล่างเกิดการระเบิดขึ้น ทำให้เกิดตัวอาคารครอบองค์พระธาตุถล่มลงมา และจากการสันนิษฐานเบื้องต้นก็คือ ด้วยรูปแบบของทรงอาคาร และแบบแปลนที่นำมาก่อสร้างไม่ได้มีการผ่านวิศวกรที่มีความรู้ด้านวิศวกรรมในการออกแบบและคำนวณคาน และเสารวมทั้งฐานรากต่างๆ จึงเป็นสาเหตุที่เกิดการพังถล่มลงมา

นายวีระชัย เผยต่อว่า จากการตรวจสอบกับทางท้องถิ่น ทราบว่าการก่อสร้างอาคารไม่ได้รับการขออนุญาตการก่อสร้างจากทางท้องถิ่น เพราะฉะนั้นทางท้องถิ่นต้องไปตรวจสอบเอกสารทั้งหมด และรวบรวมหลักฐานเพื่อทำการร้องทุกข์กล่าวโทษ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 4 ราย รวมถึงตัวองค์พระธาตุสามหุนองค์เดิมที่พังลงมาสร้างความเสียหายจนประเมินค่าไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศที่บริเวณวัดพบว่ามีชาวบ้านต่างมาดูความเสียหายขององค์พระธาตุสามหุน พร้อมวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา โดยชาวบ้านบางคนบอกว่าพระธาตุสามหุนถือเป็นพระธาตุเสริมดวง เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านมาอย่างยาวนาน ส่วนสาเหตุที่เกิดอาคารถล่มลงมาก็เกิดจากคนที่มาทำไม่ซื่อสัตย์

อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ จะนำเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบสาเหตุของการก่อสร้างพระธาตุสามหุนที่พังถล่มลงมาอย่างละเอียดในช่วงบ่ายวันนี้.