แนวทางการเสริมสร้างศักยภาพ
“เด็ก”...“เยาวชน” ทางการอาชีพ กรณีเด็กจบแล้วไม่ได้เรียนต่อ อาจจะด้วยเพราะความยากจน ไร้สัญชาติ ก็น่าจะมี “วิชาชีพ” ติดตัว...ใช้วิชานี้ประกอบอาชีพ เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้
เข้าสู่โหมดติดอาวุธวิชาชีพ เพื่อให้เด็กมีความรู้ ทักษะงานอาชีพ...แยกย่อยเป็นช่วงวัยเริ่มจาก “เด็กเล็ก” ...งานศิลปะ ฝึกใช้มือ กล้ามเนื้อ ฝึกนิสัย ฝึกสมาธิ มีความคิดสร้างสรรค์ ฝึกความอดทน
“นักเรียน”...สร้างพื้นฐานงานอาชีพเกษตร งานพื้นฐานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน การประกอบอาหาร ถนอมอาหาร เพาะ...ขยายพันธุ์ไม้ พันธุ์สัตว์ ศิลปหัตถกรรม ตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า งานซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆภายในครัวเรือน ผ่านการเรียนรู้เชื่อมโยงภายใต้ระบบ “สหกรณ์”
ให้มีการทำงานร่วมกัน สามัคคี ซื่อสัตย์ ประหยัด มีการซื้อ...ขาย และรวมไปถึงการทำบัญชี
“...เรื่องสหกรณ์โรงเรียน (เริ่ม พ.ศ.2534) ก็เป็นงานหนึ่งที่ข้าพเจ้าพยายามจัดให้มีขึ้นทุกแห่ง เมื่อเริ่มโครงการข้าพเจ้ากำชับไว้ว่าผลผลิตที่เกิดจากงานเกษตรห้ามขายเด็ดขาด ต้องให้นักเรียนรับประทานเพื่อบำรุงร่างกาย ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักของโครงการ ถึงแม้ว่าจะมีปริมาณเกินกว่าที่จะบริโภคได้หมด ก็ให้ทำการถนอมอาหารเก็บไว้ หรือแจกให้นักเรียนไปรับประทานที่บ้าน...ต่อมาเมื่อโครงการประสบความสำเร็จพอสมควรแล้ว ก็ยอมให้ขายได้ส่วนหนึ่งเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนให้โครงการบางส่วนเลี้ยงตัวเองได้ ทั้งนี้ ต้องไม่ให้มีผลกระทบต่อภาวะโภชนาการ เมื่อมีการซื้อขายก็ต้องเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ
ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าระบบที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งโรงเรียน ตชด.มากที่สุดก็คือ ระบบสหกรณ์ เพราะแต่ละคนมีเงินน้อย เมื่อร่วมกันจึงพอลงทุนธุรกิจใดๆได้ ในหนังสือเรียนชั้นประถมศึกษาก็มีบทที่ว่าด้วยการสหกรณ์อยู่แล้ว จึงสนับสนุนให้มีการปฏิบัติจริงในโรงเรียน กรมส่งเสริมสหกรณ์ (สหกรณ์จังหวัด สหกรณ์อำเภอ) ได้มาช่วยจัดกิจกรรมสหกรณ์ โดยให้สหกรณ์ (จริงๆ) ที่อยู่ใกล้เคียง ช่วยเป็นพี่เลี้ยงดูแลแนะนำให้กรรมการสหกรณ์เด็กนักเรียนไปดูงานถ้าเป็นไปได้...”
พระราชนิพนธ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่วนหนึ่งในหนังสือสืบสานพระราชปณิธานสามทศวรรษจรัสหล้า การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร แสดงให้เห็นถึงแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ทุรกันดารทั่วประเทศ
...
สมเด็จพระเทพฯทรงใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาเด็ก เยาวชนให้ได้รับโอกาส ได้เรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตนเอง โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งครู นักเรียน ผู้ปกครอง ชาวบ้านในชุมชน
ปลูกฝังแนวคิดเกี่ยวกับหลักและวิธีการ “สหกรณ์” ให้แก่เยาวชน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้การทำงานร่วมกัน ฝึกการวางแผน ร่วมกันคิดร่วมกันทำและแก้ไขปัญหา และมีรับสั่งกับอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในขณะนั้น (นายเสงี่ยม มาหมื่นไวย) เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2534 ให้มีการจัดการเรียนรู้วิชาการสหกรณ์และดำเนินกิจกรรมสหกรณ์ในโรงเรียน โดยให้เริ่มที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน
วันที่ 7 มิถุนายน “วันสหกรณ์นักเรียน” กรมส่งเสริมสหกรณ์สนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนับสนุนการสอนและจัดกิจกรรมสหกรณ์ในโรงเรียน ในโครงการพระราชดำริทั่วประเทศ ตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร เพราะเห็นว่าระบบเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับการพัฒนาชนบทในพื้นที่ห่างไกลคือระบบสหกรณ์
วันที่ 21 เมษายน 2537 ทรงมีพระราชดำรัส ณ ศาลาดุสิดาลัย ความตอนหนึ่งว่า “...ถ้าเราให้ความรู้ต่างๆตั้งแต่ยังเยาว์ จัดเป็นระบบก็จะทำให้โตขึ้นมีความเคยชินต่อระบบไปทั้งในช่วงแรกยังไม่ทำโครงการมาเป็นระบบ แต่ว่าจากที่เห็นแนวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำ เช่น เรื่องการสหกรณ์ ที่มีแนวว่าถ้าทำงานอยู่คนเดียว ฝ่ายเดียวก็จะไม่สามารถที่จะมีทุน มีแรงงาน มีความสามารถ ความรู้ ความคิดที่จะทำงานใหญ่ได้ ก็มีการรวมกลุ่มกันก็จะเป็นของดี...”
ในขั้นปฏิบัติ พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เล่าให้ฟังว่า ระยะแรกได้เริ่มต้นจัดกิจกรรมและสอนวิชาการสหกรณ์ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน แต่ปัจจุบันขยายผลไปยังโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) โรงเรียนพระปริยัติธรรม และโรงเรียนสอนศาสนาปอเนาะ รวม 504 แห่ง
ตลอดระยะเวลา 27 ปีของการจัดการเรียนการสอนวิชาสหกรณ์ให้กับนักเรียน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้ความสำคัญในการติดตามการดำเนินงานในพื้นที่อย่างใกล้ชิดด้วยพระองค์เอง ทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารจะทรงทอดพระเนตรกิจกรรมสหกรณ์ พร้อมทั้งทรงทอดพระเนตรสมุดจดรายงานการประชุมของคณะกรรมการสหกรณ์นักเรียน สมุดบัญชีลงบันทึกการรับ-จ่ายของสหกรณ์ พร้อมทั้งมีพระราชดำรัสและพระราชทานคำแนะนำอันทรงคุณค่าแก่ผู้เกี่ยวข้องในการส่งเสริมสหกรณ์ในโรงเรียนตามพระราชดำริในโอกาสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรียนการสอนการสหกรณ์ เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ เข้าใจการทำงานร่วมกันในระบบและวิธีการสหกรณ์ปลูกฝังให้นักเรียนมีความรู้ สามารถพัฒนาตนเองในการช่วย
ตนเอง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (Self Help-Mutual Help) อันเป็นอุดมการณ์สหกรณ์
“ครู” ผู้รับผิดชอบสอน “วิชาสหกรณ์” ในโรงเรียน จะได้รับการอบรมเพื่อกำหนดหลักสูตรการสอน คู่มือการจัดการเรียนรู้การสหกรณ์ในสถานศึกษา การผลิตสื่อการสอนวิชาสหกรณ์ เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้เข้าใจเกี่ยวกับสหกรณ์ได้อย่างถูกต้อง สามารถนำไปปรับใช้ได้ในการเรียน...การดำเนินชีวิต
...เป็นการปลูกฝัง “ค่านิยมสหกรณ์” แก่เยาวชน
นอกจากนี้ ยังบูรณาการกิจกรรมสหกรณ์นักเรียนกับกิจกรรมอื่นๆ อาทิ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน การส่งเสริมอาชีพเยาวชนในท้องถิ่น โดยการรวมซื้อหรือจัดหาปัจจัยการผลิตตามความต้องการ รวมทั้งขายผลผลิตการเกษตรให้แก่โรงครัวของโรงเรียน...หากมีผลผลิตเหลือก็ขายในชุมชน
“วิชาสหกรณ์” ยังช่วยเพิ่มพูนความรู้ ทักษะให้แก่นักเรียนทางด้านภาษาไทย คณิตศาสตร์ ด้วยการสอดแทรกวิชาสหกรณ์เข้ากับวิชาสังคมศาสตร์ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ฝึกให้นักเรียนได้รู้จักการจัดประชุมคณะกรรมการสหกรณ์ การบันทึกรายงานการประชุม การบัญชี การตั้งราคาสินค้า การจ่ายเงินปันผล เงินเฉลี่ยคืนของกิจกรรมสหกรณ์ ที่สำคัญช่วยปลูกฝังประชาธิปไตย ความซื่อสัตย์ ความประหยัด เอื้ออาทรต่อผู้อื่น
สหกรณ์โรงเรียนถือเป็นแหล่งเรียนรู้ ยังสามารถเพิ่มโอกาสคนในชุมชนเข้าถึงความรู้การเกิดความคิดในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ...สังคม รวมกันจัดตั้งกลุ่มที่ดำเนินการด้วยหลักและวิธีการสหกรณ์หรือจัดตั้งสหกรณ์ หรือสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มหรือสหกรณ์ที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ได้อีกด้วย
...
วันสหกรณ์นักเรียน ประจำปี 2561 ในส่วนกลางจะจัดที่สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ ถนนพิชัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ มีกิจกรรมมากมายหลากหลาย ตลาดนัดผลิตภัณฑ์สหกรณ์นักเรียน 7 ฐาน เช่น ฐาน “โรงเรียนจัดการเรียนรู้การสหกรณ์รางวัลพระราชทาน” นิทรรศการกรมส่งเสริมสหกรณ์ ฯลฯ
“สหกรณ์”...กุญแจสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กไทย เป็นเคล็ดวิชาสำคัญที่จะสร้างประเทศชาติให้เข้มแข็ง.