“อดุลย์” ไฟเขียว เร่งจัดเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งแรกภายในปี 61 ให้ผู้ประกันตนกว่า 14 ล้านคน เลือกตัวแทนมาดูแลเงินกองทุนกว่า 1.8 ล้านล้านบาท แทนบอร์ดชุดเก่าที่ตั้งโดย คสช.หมดวาระ เลขาฯ สปส.เล็งใช้เครื่องลงคะแนนแทนการหย่อนบัตรคาดใช้งบไม่เกิน 70 ล้านบาท ลดลงจากเดิม ที่ต้องใช้มากถึง 1 พันล้าน เป็นเหตุให้ค้างเติ่งมานาน

การเลือกตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคมชุดใหม่ แทนบอร์ดชุดที่ 13 ที่หมดวาระ แต่ยังรักษาการ เริ่มเห็นความคืบหน้า โดยเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า การเลือกบอร์ดประกันสังคมควรจะดำเนินการไปนานแล้ว แต่ที่ล่าช้าเพราะความเห็นไม่ตรงกัน ฝ่ายหนึ่งกังวลว่า การจัดการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมจะต้องให้งบประมาณสูงถึง 1 พันล้านบาท ขณะที่อีกฝ่ายอยากให้บอร์ดประกันสังคมมาจากการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อคัดสรรคนที่มีคุณภาพมาทำหน้าที่เหมือนบอร์ดชุดเก่า จะได้ไม่ต้องเสียงบประมาณ แต่อาจจะทำให้การมีส่วนร่วมจากผู้ประกันตนทั้งจากมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 กว่า 14.5 ล้านคน ที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องเสียสิทธิ แต่ขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้ว โดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ได้ให้ สปส.ปฏิบัติตามกฎหมายประกันสังคม ที่ระบุให้บอร์ดประกันสังคมต้องมาจากการเลือกตั้ง

นพ.สุรเดชกล่าวว่า ได้แต่งตั้งนายถาวร พานิชพันธ์ อดีตรองอัยการสูงสุดและผู้ทรงคุณวุฒิบอร์ดประกันสังคม เป็นประธานอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์และการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ซึ่งได้ประชุมอนุกรรมการฯไปแล้ว 2 ครั้ง เบื้องต้นจะใช้เครื่องลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมาใช้นับคะแนน แทนการเข้าคูหาหย่อนบัตรเลือกตั้งแบบกระดาษ เนื่องจากคาดว่าจะมีผู้ลงสมัครเลือกตั้งหลักร้อยคน จะทำให้หมายเลขผู้สมัครมีจำนวนมาก การใช้เครื่องลงคะแนนเสียงจึงตอบโจทย์มากกว่า และเพื่อป้องกันปัญหาบล็อกโหวต การซื้อสิทธิ ขายเสียงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยจะมีการกำหนดรายละเอียดอีกครั้ง รวมถึงจะมีผู้แทนจาก กกต. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กฤษฎีกา ผู้แทนนายจ้าง ลูกจ้าง ร่วมด้วย

...

“การเลือกตั้งผ่านเครื่องลงคะแนนเสียงแทนการหย่อนบัตรจะใช้งบประมาณเพียง 70 ล้านบาท ประหยัดงบลงไปได้ถึง 930 ล้านบาท โดยจะเช่าเครื่องลงคะแนนจากบริษัทเอกชนมาใช้แทนการซื้อ เพราะจะไม่คุ้มค่า เนื่องจากบอร์ดมีวาระเพียง 2 ปี ทั้งหมด 14 คน เป็นตัวแทนนายจ้าง 7 คน และผู้ประกันตน 7 คน” เลขา สปส.กล่าว

นพ.สุรเดชกล่าวอีกว่า สปส.จะเสนอให้มีการกำหนดวันใช้สิทธิลงคะแนนมากกว่า 1 วัน เนื่องจากหน่วยงานที่จัดการเลือกตั้งเป็นหน่วยงานใหม่และจัดเลือกตั้งเป็นครั้งแรก รวมถึง สปส.ถือว่าเป็นมือใหม่ในด้านนี้ จึงเกรงว่าอาจจะมีปัญหา ผู้ประกันตนใช้สิทธิได้ไม่ครบทุกคน บุคลากรยังไม่มีความพร้อม และจำนวนหน่วยเลือกตั้งมีจำนวนมาก คาดว่าจะกำหนดหน่วยเลือกตั้งครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยจะหารือในรายละเอียดให้ชัดเจน รอบคอบอีกครั้ง และจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯอีกครั้งภายในเร็วๆนี้ หากได้รับความเห็นชอบ ขั้นต่อไปก็จะเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดประกันสังคมชุดที่ 13 จากนั้นจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบและประกาศให้มีการเลือกตั้ง โดยจะพยายามให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2561

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมา กองทุนประกันสังคมถูกบอร์ดที่มาจากการแต่งตั้งแทรกแซงจากนักการเมือง ผู้มีอำนาจ เพราะมีเม็ดเงินในกองทุนจำนวนมหาศาล ปัจจุบันมีเงินสะสมในกองทุนกว่า 1.8 ล้านล้านบาท ซึ่งตามกฎหมายประกันสังคม อนุญาตให้บอร์ดอนุมัติวงเงินไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท มาใช้จ่ายเพื่อการบริหารจัดการในภารกิจงานประกันสังคมได้ โดยล่าสุดบอร์ดได้อนุมัติวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท นำไปลงทุน เพื่อสังคมด้วยการปล่อยกู้ให้นายจ้าง นอกจากนี้ในปี 2561 บอร์ด สปส.ยังได้นำเงินจากกองทุน ไปลงทุนในต่างประเทศทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกากว่าแสนล้านบาท เป็นที่มาของข้อเรียกร้องจาก
ผู้ใช้แรงงานที่ต้องการให้ปฏิรูปประกันสังคม ให้บอร์ดต้องมาจากการเลือกตั้ง เพื่อป้องกันปัญหาการถูกแทรกแซงจากผู้ที่มีอำนาจในกระทรวงแรงงาน