รองปลัด มท. เผยมีกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงเกษตรกรปลูกอินทผลัมจริงทางภาคเหนือ และอีสาน เก็บค่าสมาชิก โดยอ้างสามารถกู้ธนาคารโลก อีกทั้งยูเอ็นสนับสนุน ...

นายประยูร รัตนเสนีย์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงกรณีที่มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท. 0214/ว 2588 ลงวันที่ 15 พ.ค. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ตรวจสอบพฤติการณ์หลอกลวงให้ราษฎรปลูกอินทผลัมว่า พฤติการณ์ดังกล่าวมีจริงในจังหวัดทางภาคเหนือและภาคอีสานบางจังหวัด มีการหลอกลวงให้เกษตรการสมัครเป็นสมาชิกเสียเงินค่าสมัครและบอกว่าจะสามารถกู้เงินจากธนาคารโลกและอ้างยูเอ็นให้การสนับสนุน ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ไม่เป็นเรื่องจริง

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวไทยรัฐประจำจังหวัดอุทัยธานี ได้รับการเปิดเผยจาก นายสมบัติ ศรีดาพันธ์ ท้องถิ่นอำเภอสว่างอารมณ์ จ.อุทันธานี ว่า ในส่วนของจังหวัดอุทัยธานี ได้มีการนำหนังสือเตือนจากกระทรวงมหาดไทยลงไลน์ในกลุ่มผู้บริหาร ผู้นำท้องถิ่น ซึ่งเรื่องนี้ ผวจ.อุทัยธานี ได้กำชับให้นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทำการตรวจสอบ พร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านได้ระมัดระวังกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์หลอกลวงชาวบ้าน ลักษณะชักชวนให้ปลูกอินทผลัม โดยการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ให้ปลูก แล้วโน้มน้าวว่า จะรับซื้อผลผลิตกลับคืนในราคาที่สูง ถึงกิโลกรัมละ 300 บาท

ด้านนายไพรัช วัฒนเขตการณ์ อายุ 57 ปี เจ้าของสวนวัฒนโชติ กล่าวว่า ตนเองและภรรยาเป็นข้าราชการครู ได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องการปลูกต้นอินทผลัมมาพอสมควร และได้ตัดสินใจปลูกมาแล้ว 3 ปี ซึ่งจากการศึกษาพบว่า อินทผลัมปลูกได้ 2 วิธีคือ 1. การเพาะเมล็ดพันธุ์ปลูก และ 2.การเพาะเนื้อเยื่อ ซึ่ง 2 วิธีจะมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน

กล่าวคือ ข้อดีของการเพาะเมล็ดคือราคาถูก ลำต้นแข็งแรง แต่มีข้อเสีย คือไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นต้นเพศผู้หรือเมีย และกลายพันธุ์ ต้องเสียเวลาดูแล 3-5 ปี จึงจะรู้ ส่วนการปลูกด้วยการเพาะเนื้อเยื่อ ข้อเสียราคาแพง เพราะต้องสั่งนำเข้าจากแล็บต่างประเทศ ข้อดีคือสามารถระบุเพศของต้นพันธุ์ได้ รสชาติคงที่ และให้ผลผลิตที่คุ้มค่ากว่า

...

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีกลุ่มมิจฉาชีพ นำเมล็ดมาเพาะแล้วบรรจุใส่แคปซูลหลอกว่าเป็นต้นกล้าเพาะเนื้อเยื่อ ที่นำเข้าจากต่างประเทศ กว่าเกษตรกรจะรู้ก็ต้องเสียเวลารอถึง 4-5 ปี จึงรู้ว่าถูกหลอก

ที่ จ.พิจิตร นายเกษม ไตรพิจารณ์ เกษตรจังหวัดชัยนาท ร่วมหารือกับ เกษตรอำเภอ ทั้ง 8 อำเภอของชัยนาท ถึงกรณีดังกล่าว และว่ามิจฉาชีพ จะอ้างด้วยว่า จะให้เงินทุนแก่เกษตรกร รายละ 1 ล้าน 5 แสนบาท ซึ่งจะโอนเงินเป็น 2 งวด งวดแรก 300,000 บาท และงวดที่ 2 อีก 1 ล้านบาท ส่วนเงินอีก 2 แสนบาท จะถูกหักเป็นค่าต้นกล้าพันธุ์ ค่าปุ๋ย-ค่ายา และส่วนกลาง ทั้งยังมีเงื่อนไขว่า เกษตรกรต้องเสียค่าสมาชิกแรกเข้า และรายปี ครั้งละ 200-500 บาท ด้วย

สำหรับ อินทผลัม เป็นพืชที่ยากต่อการปลูก ไม่เหมือนกล้วย มะม่วง หรือพืชอื่นๆ ที่ปลูกแล้วจะมีผลผลิตทันที เพราะต้นอินทผลัม ส่วนใหญ่จะเป็นเพศผู้ จะไม่ออกดอก-ออกผล ก่อนปลูกต้องทำการตรวจสอบก่อน ซึ่งค่าตรวจสอบ ก็มีราคาค่อนข้างสูง ต้นละ 300-350 บาท จึงทำให้ยากต่อการจะปลูกและลงทุน.