งานพระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญประจำปี 2561 ประกอบด้วย 2 พระราชพิธี...วันที่ 13 พฤษภาคม พิธีสงฆ์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นการทำขวัญเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ เพื่อให้ปลอดจากโรค...เจริญงอกงามสมบูรณ์

ในวันที่ 14 พฤษภาคม พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์ เริ่มต้นด้วยการไถหว่านเมล็ดข้าว ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เป็นการส่งสัญญาณการเข้าสู่ฤดูกาลทำนา เพาะปลูกประจำปี

เมื่อครั้งวันวานปริมาณข้าวส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลกอยู่กับประเทศไทยมาโดยตลอดต่อเนื่อง มีตัวเลขแสดงให้เห็นถึงผลผลิตข้าวไว้เช่น...ในปี 2530 มีพื้นที่เพาะปลูก 58 ล้านไร่ ได้ผลผลิต 18 ล้านตัน...

ปี 2535 มีพื้นที่ปลูก 60 ล้านไร่ ได้ผลผลิต 20 ล้านตัน...ปี 2539 มีพื้นที่ปลูก 63 ไร่ ผลผลิต 22 ล้านตัน

“ข้าว” ที่ผลิตได้สัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งส่งออก...กล่าวได้ว่า ตำแหน่งที่หนึ่งของการส่งข้าวออกขายไม่ใช่เพราะเราได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น แต่เพราะเรามีพื้นที่การผลิตเพิ่มขึ้น

ในขณะที่ผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างคงที่และมีแนวโน้มลดลงด้วยซ้ำ ...ปี 2530 ข้อมูลผลผลิตข้าวต่อไร่ อยู่ที่ไร่ละ 322 กิโลกรัม...ปี 2533 อยู่ที่ 313 กิโลกรัม...ปี 2535 อยู่ที่ไร่ละ 361 กิโลกรัม

ข้อมูลข้างต้นนี้ตัดตอนมาจาก “โรงเรียนชาวนา” ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และประธานคณะกรรมการมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ บอกอีกว่า เหตุเกิดเพราะเราล้ำหน้าไปมาก คือก้าวเข้าไปสู่ระบบทุนนิยม...วิ่งตามพวกรับประทานข้าวที่ต้องแปรรูปโดยไม่รู้ตัว

“มุ่งผลผลิตสูงสุด เร่งใส่สารเคมี ใส่สารกำจัดศัตรูพืชอย่างที่ตัวเองมีความรู้ไม่เพียงพอ ทำตามอย่างพ่อค้าสารเคมี และบางครั้งอาศัยความรู้สึกของตนเองในการใช้ โดยไม่เคยมีใครบอกว่าสิ่งที่ตามมาคือการที่สารเคมีเหล่านั้นส่งผลเสียรุนแรงต่อพื้นที่เพาะปลูก ต่อสภาพแวดล้อมและตัวของเกษตรกรเอง...”

...

ไม่เว้นแม้แต่ “ผู้บริโภค” ซึ่งก็หนีไม่พ้นต้องบริโภคเอาสิ่งเป็นพิษที่มีผลเสียต่อร่างกายเข้าไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่า “คนไทย” หมดฝีมือในการผลิตข้าว เพราะจากอดีตคนรุ่นแรกๆของไทยหรือแม้แต่ชาติใดก็ตามเมื่อปลูกข้าวก็ไม่เคยอาศัยปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง สารเคมี ยากำจัดศัตรูพืช เพียงแต่อาศัยประสบการณ์เรียนรู้ต่อๆกันมา อาศัยธรรมชาติสู้ธรรมชาติ ผลิตข้าวส่งออกให้ติดอันดับ 1 ของโลกมาแล้ว

แต่...เหตุเกิดมาจากการที่เราเข้าไปใช้วิธีการเพิ่มผลผลิตโดยใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์เคมีเข้าช่วย โดยเอาความรู้ซึ่งเราไม่ได้เรียนมาอย่างแท้จริงมาใช้ในการทำนา ผลก็คือ...การลองผิดลองถูกอย่างซ้ำซากจนปัจจุบันเป็นผลเสียต่อพื้นที่และเกษตรกร “...การไม่รู้จริงนี่เองเป็นเหตุให้เกิดการสั่งนำเข้าปุ๋ย สารเคมี ยาฆ่าแมลงจำนวนมากสู่ประเทศไทย จนประเทศผู้ผลิตอย่างอเมริกา...ยุโรป ยังสงสัยว่าประเทศไทยสั่งปุ๋ยและสารเคมีไปใส่อะไรตั้งมากมาย เพราะที่สั่งมานั้นใช้ฉีดพ่นและเทได้พื้นที่เท่ากับโลกทั้งใบ”

ปี 2542 เรานำเข้าสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช 33,918 ตัน คิดเป็นมูลค่า 11,045 ล้านบาท

ประเด็นสำคัญมีว่า “กฎหมายกีดกันทางการค้า” ที่เกิดโดยประเทศผู้ผลิตปุ๋ย โดยเฉพาะเรื่องสารพิษตกค้างในผลผลิตทางการเกษตรก็ส่งผลตามมา ทำให้การส่งออกเรามีปัญหาอย่างรุนแรง ฝืดเคืองลงเป็นลำดับ

ทว่า...ชาวนาไทยก็ยังไม่ลด ละ เลิก...มุ่งเพิ่มผลผลิตเพื่อให้ได้เงินมามากที่สุด แต่ยิ่งใส่ปุ๋ยใส่สารเคมีมาก ต้นทุนกลับยิ่งแพงขึ้น ขณะที่ผลผลิตยังอยู่เท่าเดิม โรคข้าวยังแพร่ระบาด ไม่มีทีท่าว่าจะหายขาดไปได้

“ชาวนาไทย”...ตกอยู่ในสภาวะยิ่งทำเท่าไหร่ก็ยิ่งจน ยิ่งมีหนี้สินพอกพูนโงหัวไม่ขึ้น

ลองมาดูนโยบายยุคปัจจุบัน แผน “การผลิต”...“การตลาด” ข้าวครบวงจร ส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2560/61 เกษตรกรเข้าร่วม 30,900 ราย กำหนดพื้นที่ปลูกข้าวรอบที่ 2 ปี 2560/61 เพื่อสร้างสมดุลของอุปสงค์และอุปทาน พร้อมส่งเสริมปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวรอบ 2 ไปปลูกพืชอื่น

อาทิ พืชปุ๋ยสดบำรุงดิน พริก ฟักทอง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว ถั่วลิสง มันเทศ รวม 550,297 ไร่

ภาพรวม “เกษตรไทย” ปี 2561 กฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้านโยบาย 3 ต. เริ่มจาก ต.แรก “ต่อ” สานต่อนโยบายเดิมที่ดีอยู่แล้ว ให้มีการขยายผลต่อเนื่อง...ถัดมา “เติม” เพิ่มรายละเอียดโครงการเดิมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น การเพิ่มจำนวนคน เพิ่มงบประมาณ และ ต.สุดท้าย “แต่ง” ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงในโครงการเดิมที่ไปต่อไม่ได้ หรือปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความเหมาะสมมากขึ้น

สนองนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นการปฏิรูปภาคการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ ลดหนี้สินครัวเรือน...ให้ความสำคัญในการรวมกลุ่มเป็น “สถาบันเกษตรกร” ที่เข้มแข็ง เป็นมืออาชีพ

เปิดรายงาน “ปฏิรูปภาคเกษตร” กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใช้แนวทาง “การตลาดนำการผลิต” ไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง เพื่อให้ “เกษตรกรไทย” ยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้รู้ไว้เตรียมรับมืออย่างเท่าทัน

อาทิ ระบบส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ ทั้งหมด 3.72 ล้านไร่ รวม 3,029 แปลง แบ่งเป็น พืช 2,786 แปลง...ปศุสัตว์ 164 แปลง...ประมง 52 แปลง...แมลงเศรษฐกิจ 26 แปลง และอื่นๆ (นาเกลือ) 1 แปลง

เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 277,127 ราย ผลิตสินค้า 74 ชนิด สามารถสร้างมูลค่าผลผลิตรวม 6,075 ล้านบาท โดยมีการวางแผนการผลิตและการตลาดครบวงจรร่วมกับจังหวัด แบบกลไกประชารัฐ

...

ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ที่มีอยู่ 882 ศูนย์ บวกกับศูนย์เครือข่าย 10,523 แห่ง เกษตรกรสามารถนำความรู้ไปใช้ลดต้นทุนการผลิตได้ครัวเรือนละ 10,716 บาทต่อปี

พัฒนาเกษตรกรสู่ “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” เกษตรกรรุ่นใหม่ต้องให้ความสำคัญกับการใช้องค์ความรู้บวกกับข้อมูลประกอบการตัดสินใจ สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้...บริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม หรือ “โซนนิ่ง” ปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ให้เหมาะสม มีความหลากหลาย เป็นทางเลือกใหม่

ทำให้เกษตรกรมีผลตอบแทนสุทธิเพิ่มขึ้น เช่น การผลิตแบบเกษตรผสมผสานมีรายได้เพิ่มขึ้น 595 บาทต่อไร่ ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น 1,367 บาทต่อไร่ และเลี้ยงปลาเพิ่มขึ้น 5,810 บาทต่อบ่อ

พัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานสินค้าเกษตร/GAP เพื่อให้มีสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ปลอดภัยสำหรับบริโภค ยกระดับการผลิตในพื้นที่แปลงใหญ่ให้ได้มาตรฐาน...รับรองแบบกลุ่ม

แล้วก็มาถึง “เกษตรอินทรีย์” อีกหนึ่งพระเอกตัวจริง สนับสนุนเกษตรกรปลูกข้าวอินทรีย์ในพื้นที่ 120,000 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 36,149 ราย พื้นที่ 126,870 ไร่ ต้นทุนลดลง 169 บาทต่อไร่ ขายข้าวอินทรีย์ได้ราคาสูงกว่าข้าวทั่วไปตันละ 2,000-8,000 บาท เชื่อมโยง “เกษตรทฤษฎีใหม่” น้อมนำมาใช้ในการเกษตรเพิ่มขึ้น

“เกษตรกร” ที่มีความสมัครใจทั่วประเทศ หากสนใจและมีความพร้อมในการลงทุนเพิ่มเติมรีบตัดสินใจด่วน จะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงปฏิบัติและสนับสนุนปัจจัยการผลิต ผ่านการบูรณาการร่วมกันของ เกษตรกร ภาครัฐ ปราชญ์ชาวบ้าน...เกษตรกรต้นแบบ...ศพก. ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา

ติดอาวุธ...ปรับเพื่อก้าว ปรับเพื่อความอยู่รอด...ย่อมดีกว่าย่ำอยู่กับที่รอวันตาย

...

ประเทศไทย...ได้ชื่อว่าเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ” แม้ว่าโลกจะพัฒนาขึ้น เปลี่ยนไปอย่างไร การทำนาเกษตรกรรมจะยังคงเป็นอาชีพหลักที่สำคัญของคนไทยที่สืบทอดจากรุ่นต่อรุ่นกันมาช้านาน...เป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจประเทศในทุกยุคสมัย “เงินทองของมายา...ข้าวปลาสิของจริง”.