ในปัจจุบันพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของประเทศไทย ซึ่งมีอยู่ราว 73.6 ล้านไร่ จากเนื้อที่ของประเทศไทย 323.5 ล้านไร่ คิดเป็น 22.7% ของพื้นที่ประเทศ

“ป่าไม้”...มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม...เป็นถิ่นที่อยู่ของสรรพสิ่งทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ที่ส่งผลต่อมนุษย์ทั้งทางตรง...ทางอ้อมที่สำคัญเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร แหล่งอาหาร ยารักษาโรค ควบคุมสภาพภูมิอากาศ บรรเทาความรุนแรงของอุทกภัย วาตภัย

ด้านสังคมเป็นแหล่งท่องเที่ยว นันทนาการ ศึกษาหาความรู้ในแขนงต่างๆ...ด้านเศรษฐกิจก็สามารถใช้เป็นฐานในการส่งเสริม พัฒนาการท่องเที่ยว

แต่ในปัจจุบัน ระบบนิเวศป่าไม้บางแห่งเสื่อมโทรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากสาเหตุหลายประการ ดังนั้น การประกาศพื้นที่ป่าเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติก็เพื่อช่วยคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญไว้ เพราะเป็นมาตรการหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีกฎหมายที่เข้มงวด

เราจะเห็นได้ว่าอุทยานแห่งชาติเป็นแหล่งที่มีคุณค่าทางด้านนันทนาการที่ประชาชนสามารถใช้พักผ่อนหย่อนใจ ทำให้ร่างกายและจิตใจดีขึ้น เป็นที่มาของสติปัญญาของมนุษย์ ทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนาสังคมไปในทางที่ดี

นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติจัดตั้งขึ้นเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมให้อยู่ในสภาพธรรมชาติดั้งเดิมให้มากที่สุด อุทยานแห่งชาติจึงเป็นพื้นที่ที่ช่วยรักษาสมดุลทางสิ่งแวดล้อม เกิดความมั่นคงแก่กระบวนการทางอุทกวิทยา ป้องกันการพังทลายของดิน ช่วยควบคุมสภาพภูมิอากาศช่วยรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม...

ช่วยคุ้มครองรักษาประสิทธิภาพทางระบบนิเวศให้ได้ผลผลิตยั่งยืนตลอดไป สามารถกล่าวได้ว่า “อุทยานแห่งชาติ” คือ “มรดกที่ล้ำค่าของแผ่นดิน”

...

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2561 โดยมีวาระการประชุมที่สำคัญ ได้แก่ การประกาศอุทยานแห่งชาติใหม่ จำนวน 7 แห่ง ประกอบด้วย...

1) อุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต จ.ลำปาง 2) อุทยานแห่งชาติน้ำตกบัวตอง-น้ำพุเจ็ดสี จ.เชียงใหม่ 3) อุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ จ.ตาก 4) อุทยานแห่งชาติแควน้อย จ.พิษณุโลก 5) อุทยานแห่งชาติสันกาลาคีรี จ.สงขลา 6) อุทยานแห่งชาติน้ำตกชีโป จ.นราธิวาส และ 7) อุทยานแห่งชาตินายูง-น้ำโสม จ.อุดรธานี

หลังจากที่คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบให้ประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติดังกล่าวแล้ว กรมอุทยานแห่งชาติฯก็จะได้ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป

ตอกย้ำวัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์อยู่ 3 ประการด้วยกัน หนึ่ง...เพื่อคุ้มครองพื้นที่ธรรมชาติที่มีทรัพยากรที่ดีเด่น และหาได้ยากในพื้นที่นั้น ซึ่งได้แก่ พืช สัตว์ ปรากฏการณ์ธรรมชาติทิวทัศน์ที่สวยงาม สิ่งที่น่าสนใจทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม มิให้เสื่อมสภาพลงไป

โดยจะต้องได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายโดยเฉพาะ และมีเจ้าหน้าที่บริหารงานอย่างเพียงพอ

ถัดมา...เพื่อให้เป็นสถานที่สำหรับการศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ซึ่งสามารถศึกษาค้นคว้า วิจัยได้โดยไม่สิ้นสุด ดังนั้น อุทยานแห่งชาติจะต้องมีบริการในด้านการศึกษา เช่น การบรรยาย ฉายภาพยนตร์ เอกสารเผยแพร่ห้องสมุด

นอกจากนี้จะต้องให้ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เพื่อไปศึกษาค้นคว้าวิชาการต่างๆ

สาม...เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน โดยที่อุทยานแห่งชาติทั่วไปมีทิวทัศน์และธรรมชาติที่สวยงาม ซึ่งอาจจะเป็นทิวเขา ทะเลสาบ ทุ่งหญ้า ถ้ำ หุบเหว หน้าผา น้ำตก ฯลฯ

การพักผ่อนหย่อนใจในอุทยานแห่งชาติกระทำได้โดยวิธีต่างๆ เช่น การตั้งแคมป์พักแรม ดูสัตว์ ถ่ายรูป เดินป่า ชมวิว ดังนั้น...อุทยานแห่งชาติจะต้องจัดการให้มีกิจกรรมทางนันทนาการ จัดให้มีความสะดวกในการคมนาคม สถานที่พักแรม ร้านอาหาร สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆอย่างเพียงพอ

จากวัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ จะเห็นได้ว่า อุทยานแห่งชาติถูกจัดตั้งขึ้น เพื่อคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติที่ปรากฏในพื้นที่ เพื่อการศึกษาวิจัย และเพื่อการประกอบกิจกรรมนันทนาการ

คุณค่าของอุทยานแห่งชาติเริ่มจาก...ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ปัจจุบันสถานการณ์ป่าไม้ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาถูกทำลายอย่างมาก เนื่องจากความต้องการที่ดินเพื่อการเกษตร การประกาศจัดตั้งพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติก็เพื่อช่วยคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ

นับเป็นมาตรการหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีกฎหมายที่เข้มงวด มีบทลงโทษที่รุนแรง มีการบริหาร มีอัตรากำลัง และงบประมาณที่จะดูแลได้อย่างใกล้ชิด

ส่วนด้านเศรษฐกิจนั้น วัตถุประสงค์หลักอย่างหนึ่งคือ เพื่อการท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจ ทำให้เกิดธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ

ซึ่งเป็นที่มาของรายได้ของราษฎรในท้องถิ่น ทำให้มีการกระจายรายได้

นอกจากนี้ พื้นที่อุทยานแห่งชาติยังเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุกรรมดั้งเดิม ที่สามารถนำไปใช้ในการผสมพันธุ์พืช...สัตว์ เพื่อให้ได้พันธุ์แท้ที่ทนทานต่อโรค แมลง ให้ผลผลิตสูง ช่วยรักษาสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเกษตร บางแห่งเป็นต้นน้ำที่สำคัญที่ระบายน้ำลงสู่ลำธารตอนล่าง

อีกทั้งในด้านการศึกษา ค้นคว้า วิจัย อุทยานแห่งชาติเป็นพื้นที่ที่ไม่ถูกรบกวน จึงเป็นที่ที่นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านนิเวศวิทยา ศึกษาวิจัยทางธรรมชาติ

...

และในด้านสังคม...วัฒนธรรม อุทยานแห่งชาติเป็นแหล่งที่มีคุณค่าทางด้านนันทนาการ

ดังจะพบว่านักประพันธ์ นักกวี นักแต่งเพลง หรือแม้แต่พระพุทธเจ้าได้ใช้ป่าเป็นแหล่งผลิตผลงานอันอมตะ

นอกจากนี้แล้ว ในด้านสิ่งแวดล้อม “อุทยานแห่งชาติ” ยังเป็นพื้นที่ที่ช่วยรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม...ตั้งแต่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้ามาบริหารประเทศ สามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติมีเงินรายได้เพิ่มขึ้น

ตั้งแต่ปี 2557 จำนวน 696.3 ล้านบาท ปี 2558 จำนวน 896.8 ล้านบาท ปี 2559 จำนวน 1,982.1 ล้านบาท ปี 2560 จำนวน 2,413.6 ล้านบาท และในปี 2561 เฉพาะครึ่งปีแรก (ต.ค.60–มี.ค.61) สามารถเก็บเงินรายได้อุทยานได้แล้วถึง 1,751.6 ล้านบาท

คาดว่า...ภายในสิ้นปีงบประมาณนี้ อาจจะเก็บเงินรายได้อุทยานได้ถึง 3,000 ล้านบาท

น่าสนใจว่าเงินรายได้อุทยานที่จัดเก็บได้นี้ จะเป็นเม็ดเงินที่ใช้คุ้มครองดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน... พัฒนาสาธารณูปโภคตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆไปสู่มาตรฐานสากล เป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ.