“มหาวิทยาลัยไทยต้องยอมรับ ความจริงว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าเราไม่ยอมเปลี่ยนตาม เราก็จะตาย เพราะว่าตัวป้อนมีน้อย และเด็กทุกคนก็ไม่ได้คิดแบบสมัยก่อน อะไรที่น่าสนใจพวกเขาก็อยากเรียน”

ดร.พรสรรค์ โรจนพานิช รักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยผู้ประกอบการสร้างสรรค์นานาชาติรัตนโกสินทร์ (Rattanakosin International College of Creative Entrepreneurship : RICE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เกริ่นนำ

แวดวงการศึกษาในมหาวิทยาลัย หลักสูตรที่เกิดขึ้นในอดีตตัวป้อนลดน้อยลง ตัวอย่าง หลักสูตรบริหารธุรกิจ บัญชี การตลาด สังเกตได้ว่าเด็กที่จบจะตกงานเป็นส่วนใหญ่ บางหลักสูตรก็ทยอยปิดตัว ดังนั้นจึงต้องหาอะไรที่ตอบรับสิ่งใหม่ๆ ด้วยเราเป็นวิทยาลัยสร้างสรรค์ผู้ประกอบการ จึงได้เปิดหลักสูตรวิชาชีพเชฟขึ้น

ปัจจุบันวิชาชีพเชฟถูกยกระดับ รังสรรค์การประกอบอาหาร ออกแบบอาหาร คิดค้นสูตรอาหาร เป็นหลักสูตรที่ได้รับการยอมรับ มีค่าตอบแทนสูง ตกงานน้อย

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ดูแลเรื่องอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เรื่องการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ สร้างผู้ประกอบการ จึงคิดว่าหลักสูตรวิชาชีพเชฟจะตรงกับสิ่งที่มหาวิทยาลัยกำลังทำอยู่ ก็คือการสร้างผู้ประกอบการสร้างสรรค์ และตอบโจทย์รัฐบาลเรื่องไทยแลนด์ 4.0

ดร.พรสรรค์บอกว่า จากการสำรวจตลาดของกลุ่มศิลปะการประกอบอาหารที่มีอยู่ในปัจจุบัน การเปิดหลักสูตรนี้ เราต้องสร้างจุดแข็ง ปัจจุบันหลักสูตรทั้งหมดที่มีอยู่จะได้รับปริญญาโดยของมหาวิทยาลัยนั้นๆ หรือทำความร่วมมือกับสถานประกอบการในบางส่วน

แต่เราเลือกสถาบันการครัวดิซิพ เอสโคฟิเอร์ (Institut Culinaire Disciples Escoffier : ICDE) เพราะได้ชื่อว่าเป็นบิดาของการครัวฝรั่งเศสและเป็นการครัวแบบสมัยใหม่ของฝรั่งเศส และดิซิพ เอสโคฟิเอร์ มีชื่อเสียงที่ยาวนาน มีเชฟมิชลินสตาร์มากที่สุดในสมาคม

...

“สถาบันการครัวดิซิพได้บินมาดูตึกที่ใช้เป็นห้องเรียน” ดร.พรสรรค์ว่า “เอาหลักสูตรมาเปรียบเทียบกัน จากนั้นก็ดูแบบแปลนของการทำครัวว่าวางสเตชั่นเตาอย่างไร แล้วทำข้อตกลงร่วมกัน”

สถาบันการครัวดิซิพ เอสโคฟิเอร์ จะให้ใบ Certificate (ใบรับรอง) 1 ใบ และส่งเชฟระดับมิชลินสตาร์ในสมาคมมาสอนนักศึกษา และให้นักศึกษาไปฝึกงานที่ฝรั่งเศส และยังเป็นพันธมิตรในการหาสถานที่ประกอบการสำหรับเป็นสถานที่ฝึกงานในฝรั่งเศส

ดร.พรสรรค์บอกว่า การเป็นเชฟ นอกจากจะเรียนด้านการประกอบอาหาร คิดค้นสูตรอาหารแล้ว เชฟที่ดีจะต้องรู้จักกลไกทางด้านเศรษฐกิจและทางธุรกิจด้วย จึงไปตกลงกับยูโรเปียน คอมมูนิเคชั่น สกูล (European Communication School : ECS) ทำความร่วมมือกันและจะออกปริญญาให้อีก 1 ใบ

“หลักสูตรนี้ค่อนข้างครบมาก หนึ่ง ไม่ได้เรียนทำอาหารอย่างเดียว ยังเรียนการออกแบบอาหาร การคิดค้นสูตรอาหาร การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ของอาหาร สอง คือการเป็นเจ้าของธุรกิจอาหาร คือเรียนทั้งต้นทุน บัญชี รายรับ รายจ่าย การทำสื่อออนไลน์โปรโมตอาหาร คือทุกอย่างครบหมด”

หลักสูตรนี้มีความเข้มแข็งที่จะได้ใบ Certificate (ใบรับรอง) จากกระทรวงแรงงานของฝรั่งเศสเพิ่มอีก 1 ใบ สามารถนำไปใช้ทำงานในยุโรปได้อีก

“เท่ากับว่าจะได้ 2 ปริญญาตรี คือ 1 เป็นของ มทร.รัตนโกสินทร์และ 2 คือของยูโรเปียน คอมมูนิเคชั่น สกูล และได้อีก 2 Certificate คือ 1 เป็นของสถาบันการครัวดิซิพ เอสโคฟิเอร์ และ 2 เป็นของกระทรวงแรงงานของฝรั่งเศส รวมทั้งหมดเป็น 4 ใบ” ดร.พรสรรค์ว่า

ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญและเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เป็นการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนในสาขาวิชาชีพเชฟ สู่การเป็นผู้ประกอบการเชฟรุ่นใหม่ที่ได้มาตรฐานในระดับสากล

รวมทั้งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอาชีพเชฟสู่สากล และขยายธุรกิจในต่างประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

“เด็กของเราจบไปแล้ว หลังจากนี้จะ 10 ปี 20 ปี เขายืนอยู่ได้อย่างภาคภูมิ เขายังมีชื่อเสียง และเด็กที่จบมา ไม่จำเป็นว่าจะต้องถือใบจบของเราไปสมัครงานอย่างเดียว เขาสามารถคิดค้นและเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ได้เหมือนกัน เพราะได้ผ่านการเรียนมาหมดแล้ว เพราะเราสอนหมดทุกอย่าง”

หลักสูตรนี้ใช้เวลา 4 ปี เหมือนหลักสูตรปกติทั่วไป 3 ปี เรียนที่ มทร.รัตนโกสินทร์ ส่วนอีก 1 ปี คือช่วงปี 4 จะต้องไปเทกคอร์สของยูโรเปียน คอมมูนิเคชั่น สกูล 4 เดือน

หลังจากนั้นอีก 6 เดือน ทางสถาบันการครัวดิซิพ เอสโคฟิเอร์ จะส่งไปฝึกงานในสถานประกอบการทั่วฝรั่งเศส ให้เด็กได้ลงมือทำในร้านอาหารจริง ในสถานประกอบการจริง

ดร.พรสรรค์บอกว่า คุณสมบัติของนักเรียนที่จะเข้ามาเรียนต้องจบมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้ทั้งเด็กไทยและต่างชาติ แต่มีเงื่อนไขว่า เด็กจะต้องมีผลสอบภาษาอังกฤษในระดับที่ต้องการ เพราะว่าหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรนานาชาติคือ สอนเป็นภาษาอังกฤษ

แต่เราไม่ได้เน้นภาษาอังกฤษเหมือนแบบหลักสูตรที่เป็นวิศวะ สถาปัตย์ หรือบริหารต่างๆ เราเอา IELTS ประมาณ 4.5 คือกลางๆ ต้องการแค่สื่อสารกับอาจารย์ได้ แต่ก็ต้องมีทักษะตรงนี้

แต่สมมติเด็กที่เข้ามาไม่พร้อมทางด้านภาษาอังกฤษ เราจะให้ไปเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มประมาณ 4-5 เดือน กับสถาบันการศึกษาที่ติดต่อไว้

ดร.พรสรรค์บอกว่า จำนวนนักเรียนที่รับ 25-30 คน ซึ่งไม่เกินนี้แน่นอน เพราะถ้ารับเยอะ การดูแลของอาจารย์จะไม่ทั่วถึง คือเราอยากให้อาจารย์เข้าถึงเด็กได้มากที่สุด และสอนได้เต็มที่

ความต้องการของตลาดในประเทศไทยสำหรับการจ้างงานนักศึกษา เราลองสำรวจดูหลายๆที่ ตอนนี้อาชีพเชฟเป็นอาชีพที่ต้องการมาก และเชื่อว่าเด็กที่จบจากเราส่วนน้อยที่จะทำงานในประเทศไทย คือน่าจะไปทำงานต่างประเทศแน่นอน

...

“ผมมองว่าเขาอาจจะได้โอกาสการจ้างงานจากสถานประกอบการที่ฝรั่งเศสและทำงานต่อ ผมคิดว่าน่าจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานออกไปในอาเซียน หรือออกไปนอกประเทศมากกว่า สำหรับเด็กที่อยู่เมืองไทยน่าจะมีน้อย เพราะด้วยค่าตอบแทน ซึ่งในต่างประเทศจะให้เยอะกว่า”

ตัวอย่างเชฟในฝรั่งเศสที่เก่งๆ บางคนเขาเหมือนเป็นทูตวัฒนธรรม ไปเผยแพร่อาหารฝรั่งเศสให้กับทั่วโลก เป็นอาชีพที่มีเกียรติในเมืองนอก อย่างที่สหรัฐอเมริกา อาชีพเชฟเทียบเท่ากับหมอ มีค่าตอบแทน มีเกียรติระดับเดียวกัน

ที่ออสเตรเลียมีความต้องการเชฟมาก สามารถที่จะอาศัยอยู่ที่ออสเตรเลียและทำงานได้ค่าตอบแทนอาทิตย์หนึ่งราว 1,000 เหรียญ สำหรับเชฟที่ยังไม่มีประสบการณ์ แต่ถ้าเชฟเก่งๆมีประสบการณ์ค่าตอบแทนจะสูงมากขึ้นไปอีก

“เด็กปัจจุบันไม่ใช่เจน Y เจน Z แต่เป็นเจน Me คือทุกคนจะเซลฟี่ตัวเอง นำเสนอตัวเอง เมื่อกลับมาดูที่อาหาร คนชอบทานอาหารสวยๆ เพื่อจะถ่ายรูปลงโซเชียล สำหรับเด็กที่จบไป เขาจะต้องรู้วิธีตกแต่งยังไงให้เป็นจุดขาย โอกาสที่เขาจะเป็นเจ้าของธุรกิจได้ไม่ยาก”

รุ่นแรกจะเริ่มเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2561 เปิดรับจำนวน 25 คน ผู้สมัครจะต้องสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากสถาบันที่ได้รับการรับรองโดยรัฐ และจะต้องมีระดับสัมฤทธิผลทางภาษาอังกฤษ : IELTS 4.5 ขึ้นไป/Paper-based TOEFL ไม่น้อยกว่า 475/Internet-based TOEFL ไม่น้อยกว่า 49
โดยจะเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไป สำหรับผู้สนใจสามารถคลิกดูข้อมูลได้ที่ www.rmutr.ac.th