ให้ดูต่างหน้า ผลงานอัปยศ
“ป่าแหว่ง”...ชอบใจจริงๆครับ ชื่อเพราะดูจากภาพแล้วเป็นอย่างนั้นจริงๆ คือเป็นรอยแหว่งในพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ซึ่งมีการก่อสร้างอาคารสำนักงาน และบ้านพักศาลอุทธรณ์ภาค 5 เชียงใหม่
เมื่อคนพื้นที่คัดค้านไม่เห็นด้วยเรียกร้องให้มีการรื้อทิ้ง เพื่อปล่อยให้เป็นป่าธรรมชาติอย่างเดิม มีความสวยงามอย่างที่อยู่และเคยเป็น
วันนี้ก็เลยมีปัญหาว่าจะทำอย่างไรกับพื้นที่ตรงนี้ดี
เรื่องนี้มีความเกี่ยวพันกันไปหลายหน่วยงานที่จะต้องหันหน้ามาตกลงกันว่าจะหาทางออกอย่างไรเพื่อให้ดีที่สุด
ชาวบ้านเห็นว่า “ควรรื้อทิ้ง” สถานเดียว
ทางศาลแรกๆ เลขาธิการศาลระบุว่า รื้อทิ้งไม่ได้ ผิดกฎหมายและจะต้องถูกฟ้องร้อง เพราะผู้รับเหมาก่อสร้างได้ดำเนินการไปจวนจะเสร็จแล้ว หากไม่ให้สร้างต่อก็ต้องจ่ายเงินให้เขาด้วยตัวเลขพันกว่าล้านบาท
ล่าสุดคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ได้มีมติให้สำนักงานศาลยุติธรรมรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ชอบธรรม และด้วยสันติวิธี โดยตระหนักถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และรักษาสิ่งแวดล้อม
ให้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีถึงข้อเท็จจริงทั้งหมด หากรัฐบาลเห็นสมควรประการใด เช่น ชะลอการใช้บ้านพักเฉพาะส่วนที่มีการคัดค้านไว้ชั่วคราว หรือดำเนินการอื่นในระหว่างฟื้นฟูสภาพแวดล้อม
สำนักงานศาลยุติธรรม...ก็ไม่ขัดข้อง
นั่นถึงแม้ว่าจะโยนให้นายกฯตัดสินใจ แต่ก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นศาลยอมรับฟังด้วยเหตุด้วยผลซึ่งเป็นคำตอบที่ดีมากเพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขด้วยเหตุด้วยผล
อันที่จริงชาวเชียงใหม่ที่คัดค้านนั้นแม้เบื้องต้นจะคัดค้านในลักษณะหัวชนฝา แต่เมื่อมีการตอบรับจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็พร้อมจะรับฟังว่าจะมีหนทางอย่างไร
...
อันที่จริงเรื่องนี้หากย้อนรอยกลับไปว่าทำไมจึงเกิด “ป่าแหว่ง” ขึ้นก็เพราะเดิมที่ดินผืนดังกล่าวเป็นราชพัสดุ แต่ทางกองทัพบกโดยกองทัพภาคที่ 3 ขอใช้พื้นที่แต่กลับไม่ได้ใช้ประโยชน์แต่อย่างใด
เมื่อปี 2540 ทางศาลขอใช้พื้นที่ แต่แรกๆทหารไม่ยอมให้ จนกระทั่งมาถึงปี 2547 จึงยินยอมและเริ่มก่อสร้างในปี 2547
มณฑลทหารบกที่ 33 แจ้งว่าไม่ขัดข้องที่จะให้ศาลยุติธรรมใช้ที่ดินรวม 147-3-41 ไร่ เพื่อก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 และบ้านพักฝ่ายตุลาการ
ถามว่าทำไมจึงอนุญาตให้ใช้พื้นที่จนเป็นปัญหาตามมาอย่างนี้
ดูจากวันเวลาก็ได้ข้อเท็จจริงว่าในสมัยรัฐบาล “ทักษิณ” ไล่เรียงต่อมาก็ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร เป็น ผบ.ทบ.
ถัดมาอีกชั้นนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นรัฐมนตรียุติธรรม
ต่อเนื่องมาถึงนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ และผู้รับเหมาก่อสร้างก็เป็นของนักการเมืองท้องถิ่นเครือข่ายเดียวกัน
นี่คือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้เกิด “ป่าแหว่ง” จนสร้างความไม่พอใจแก่ชาวเชียงใหม่เป็นอย่างมากและเป็นเรื่องที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะต้องแก้ไขให้ดีที่สุด
นี่เป็นอีกบทเรียนหนึ่งสำหรับประชาชนโดยเฉพาะชาวเชียงใหม่ที่จะต้องดูแลรักษาทรัพยากรในท้องถิ่นเอาไว้ให้ดี
ที่สำคัญก็คือการเลือกตัวแทนเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองจะต้องพิจารณาบุคคลให้ถ่องแท้ว่าพวกเขามีประวัติ ความเป็นมาอย่างไร และรักษาประโยชน์ของชาติและประชาชนแค่ไหน
มิใช่หลงกระแสด้วยความเชื่อแล้วมานั่งเจ็บใจอย่างนี้.
“สายล่อฟ้า”