ครั้ง สมเด็จพระนารายณ์ ทรงส่งคณะทูต ซึ่งนำโดย พระวิสูตรสุนทร (ปาน) ราชทูต ไปเจริญสัมพันธไมตรีที่ฝรั่งเศส นอกจากจะมีคณะทูตแล้ว สมเด็จพระนารายณ์ ยังส่งคณะคนไทยกลุ่มหนึ่งไปศึกษาวิชาการด้วย ซึ่งนับได้ว่าเป็น "นักเรียนนอก" ชุดแรกแห่งสยาม เพื่อจะได้นำวิชาการทั้งหลาย กลับมาสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย

ทั้งนี้ สมเด็จพระนารายณ์ ทรงคัดเลือกลูกของข้าราชการไทยจำนวน 12 คน ให้ติดตามคณะราชทูตไปยังประเทศฝรั่งเศส พร้อมทั้งทรงมอบหมายให้คณะบาทหลวง ที่ติดตามราชทูต ช่วยเหลือจัดการด้านที่อยู่อาศัย และผู้อุปการะเด็กๆ เหล่านี้ด้วย โดยนักเรียนกลุ่มนี้เดินทางถึงฝรั่งเศสราว พ.ศ. 2230

โดยจดหมายเหตุบาทหลวงชาวฝรั่งเศส บันทึกรายชื่อเด็กนักเรียนนอกรุ่นแรกของสยามประเทศไว้ ซึ่งนอกจากชื่อไทยแล้ว ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาอังกฤษด้วย อย่างไรก็ตาม มีเด็กอีก 2 คนที่ในบันทึกระบุว่า กำลังป่วยมาก และถ้าหายป่วยแล้วจะได้มาดามเดอลากิสส์ เป็นผู้อุปถัมป์ และอีกคน ไม่ได้ระบุเสียเฉยๆ คาดว่าน่าจะเสียชีวิตในระหว่างเดินทาง

ซึ่งเด็กทั้ง 10 คน ได้ทำพิธีเข้ารีตรับศีลจุ่ม ณ มหาวิหารแซงต์ ซุลปิซ (Saint Sulpice) กรุงปารีส แล้วก็เข้ารับการศึกษาที่ “โรงเรียนหลุยส์เลอกรัง” (Lycée Louis le Grand : โรงเรียนเดียวกับที่วอลแตร์เคยเรียน) ซึ่งในบันทึกระบุว่าเป็นการเรียนศาสนา, วิชาทำน้ำพุ, วิชาก่อสร้าง และวิชาช่างเงินช่างทอง

เมื่อเรียนได้ราว 7 ปี ก็มีข่าวจากเมืองสยามว่า สมเด็จพระนารายณ์สวรรคต เกิดการปฏิวัติขับไล่ชาวฝรั่งเศสครั้งใหญ่ เมื่อสิ้นบุญสมเด็จพระนารายณ์ก็ไม่มีผู้อุปการะคุณเด็กเหล่านี้อีกต่อไป พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จึงส่งเด็กนักเรียนนอกรุ่นแรกนี้ทั้งหมดกลับสู่กรุงศรีอยุธยา

...

หลังจากนั้น เรื่องราวของเด็กนักเรียนฝรั่งเศสรุ่นแรกก็หายไป ไม่ปรากฏในบันทึกฉบับไหนอีก.

(อ้างอิง : ประชุมพงศาวดารเล่ม ๒๐ จดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศส และ แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ น.พ.วิบูล วิจิตรวาทการ, ภาพ : คณะราชทูต นำโดยโกษาปาน และโรงเรียนหลุยส์เลอกรัง (Lycée louis le grand) กรุงปารีส โรงเรียนของนักเรียนฝรั่งเศสรุ่นแรกแห่งสยาม, ที่มา : เพจ กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา)