หากินทุจริตในท้องถิ่น! ปปป.ลุยต่อฮั้วรถขนขยะ
ตำรวจ ปปป.เดินหน้าปราบฮั้วประมูลรถดูดโคลนและรถขยะ อปท. ล่าสุด ผวจ.ชลบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และระยองส่งตัวแทนขอข้อมูล หลังมี อปท.ในพื้นที่จากทั้งหมด 12 อปท. 10 จังหวัดเอี่ยวทุจริต แฉแต่ละแห่งมีพฤติการณ์คล้ายกัน ตั้งราคากลางเองสูงเกินจริง คันละ 17-18 ล้านบาท ทำให้รัฐเสียหายกว่า 70 ล้านบาท แถมมีแค่ 2 บริษัทที่ผลิตรถได้และคู่แข่งประมูลเป็นเครือญาติกันและส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ไม่มีมาตรฐานอุตสาหกรรม ด้านเลขาฯ ป.ป.ท.ชงตั้งอนุกรรมการไต่สวนโกงเงินคนจนเพิ่มอีก 24 จังหวัด
กรณีตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าสางคดีฮั้วประมูลรถดูดโคลนและรถขยะ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ลอตแรกพบ 21 อปท. ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปแล้ว 20 อปท. และลอตสองพบอีก 12 อปท.ใน 10 จังหวัด ประกอบด้วยเชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรสาคร พิษณุโลก ระยอง ศรีสะเกษ เพชรบูรณ์ สิงห์บุรี สมุทรปราการ และนนทบุรี
ต่อมาเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 3 เม.ย.ที่ห้อง ประชุม บก.ปปป. ชั้น 4 ศูนย์ราชการอาคารบี ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายไพศาล ขจรเวชกุล นิติกรท้องถิ่น อ.เมืองสมุทรสาคร ร.ต.บุรินทร์ อินทร-เสนีย์ ผอ.กลุ่มงานกฎหมาย สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จ.ชลบุรี นายจีรศักดิ์ ศรีสุมล สำนักงาน ส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จ.ระยอง และนายเอกชัย สรรพอาสา สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จ.สมุทรปราการ เข้าพบ พ.ต.อ.จักร เพ็งสาธร รอง ผบก.ปปป. เพื่อหารือเรื่องดังกล่าวใช้เวลา 1 ชั่วโมง
พ.ต.อ.จักรเปิดเผยว่า หลังจากทำหนังสือให้ ผวจ.ทั้ง 10 จังหวัดที่มีการตรวจสอบการฮั้วประมูลรถดูดโคลน วันนี้ตัวแทน ผวจ. 4 จังหวัดคือสมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี และสมุทรปราการมาขอทราบรายละเอียด เพื่อนำไปให้นายอำเภอแต่ละท้องถิ่นตรวจสอบและเดินทางมาร้องทุกข์อีกครั้งที่ ปปป. จากการตรวจสอบพบทั้ง 12 อปท.มีพฤติการณ์กระทำผิดคล้ายกันหมด เริ่มแรกมีบริษัทผู้ผลิตรถดูดสิ่งโสโครกนำเสนอรายละเอียดที่จะขายให้กับ อปท. จากนั้น อปท.จะตั้งงบเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อเพื่อกำหนดระเบียบสเปกราคากลาง แต่ละท้องถิ่นไม่ได้กำหนดราคากลางที่ชัดเจน เพราะรถดังกล่าวไม่มีการวางขายตามท้องตลาด ทั่วไปต้องสั่งประกอบ ทำให้แต่ละท้องที่ต้องเสนอราคากลางเองสูงเป็นเท่าตัวจากราคาขายประมาณ 6-7 ล้านบาทต่อคัน เมื่อบวกราคากำไรและภาษีจะต้องซื้ออยู่ที่ 11 ล้านบาท แต่กลับมีการตั้งราคาไว้ที่ 17-18 ล้านบาทต่อคัน ทำให้รัฐเสียหายกว่า 70 ล้านบาท
...
“ตรวจสอบพบว่ามีเพียง 2 บริษัทที่สามารถจะผลิตรถได้ และเป็นเครือข่ายเดียวกัน ในการประมูลมีบริษัทคู่เทียบที่มาร่วมแข่งขันอีก 5 บริษัทก็เป็นเครือญาติเชื่อมโยงกัน เอื้อต่อการทุจริต บริษัทส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ที่มาประมูลไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรมเลย จากนี้หากมีการร้องทุกข์แล้วจะสอบสวนลงพื้นที่และส่งสำนวนไป ป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบ การส่งสำนวนจะส่งทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและบริษัทเอกชนในข่ายความผิดมาตรา 157 พ.ร.บ.ฮั้วประมูล ข้อหาว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ” พ.ต.อ.จักรกล่าว
ด้านนายไพศาล ขจรเวชกุล นิติกรท้องถิ่น อ.เมืองสมุทรสาคร กล่าวว่า บก.ปปป.ทำหนังสือไปถึงนายอำเภอเมืองสมุทรสาครและรับมอบหมายให้มาพบ พ.ต.อ.จักร เพื่อสอบถามข้อมูลการทุจริตฮั้วประมูลนำเสนอนายอำเภอ ก่อนสรุปข้อมูลส่งให้ ผวจ.สมุทรสาคร ตามขั้นตอนกรณี อบต.ท่าทราย อ.เมืองสมุทรสาคร ที่ถูกระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฮั้วประมูลรถดูดโคลนเบื้องต้นพบว่าก่อนหน้านี้มีการร้องเรียนมาบ้าง แต่เป็นการร้องปากเปล่า ลักษณะคู่แข่งการประมูลมาพูดร้องว่าบริษัทคู่แข่งทุจริตแบบนั้นแบบนี้ แต่ไม่ได้มีเอกสารหรือร้องอย่างเป็นทางการ และมี 7 บริษัทเกี่ยวข้องในการประมูลงานที่ อบต.ท่าทราย
นายไพศาลกล่าวอีกว่า จ.สมุทรสาคร มี 3 อำเภอ คือ อ.เมืองสมุทรสาคร อ.บ้านแพ้ว และ อ. กระทุ่มแบน ทั้ง 3 อำเภอคุม 38 อปท. หลังพบมีชื่อ ฮั้วประมูล ผวจ.สมุทรสาคร สั่งการให้ทั้ง 3 อำเภอ ตรวจสอบภายในทั้งหมด โดยปกติแต่ละ อปท.เมื่อใช้ งบประมาณไม่หมดจะเก็บเป็นเงินสะสม หรือกองทุนสะสม หากมีเหตุจำเป็นหรือเกิดเหตุภัยพิบัติฉุกเฉิน แต่ละ อปท.สามารถนำเงินสะสมออกมาใช้ได้เลย ไม่จำเป็นต้องทำเรื่องเบิกตามขั้นตอน ทั่วประเทศมีกว่า 7 พัน อปท.คาดว่ามีเงินสะสมกว่า 10,000 ล้านบาท
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีตำรวจ บก.ปปป. ตรวจพบการฮั้วประมูลรถขยะและรถดูดโคลนที่ขายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 33 แห่ง ว่า ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ยืนยันไม่ละเว้น หากตรวจเจอทุจริตมากและลงโทษได้ เราน่าจะดีใจที่สามารถจัดการคอร์รัปชันได้ เพราะเขาต้องรับโทษรุนแรง ทั้งทางอาญา แพ่งและวินัย ถ้าไม่เจอเป็นเรื่องที่น่ากลุ้มใจมากกว่า อยากให้รู้ว่าบ้านเมืองมีขื่อมีแป ใครทำต้องรับผิดชอบ ต่อไปขอให้เป็นบรรทัดฐาน ไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง ถ้าทุจริตวันหนึ่งจะต้องตรวจเจอจนได้ และมีผลต่อตัวเองและครอบครัว
“ผมขอพูดอะไรหน่อยได้ไหม ท้องถิ่นนั้นใครเป็นผู้เลือก ต้องไปถามประชาชน แล้วท่านเลือกมาได้อย่างไร เขาถึงเข้ามาโกง ท่านก็อย่าเลือกอย่างนั้น อีกก็แล้วกัน ถ้าจะสร้างประเทศให้เข้มแข็งจริงๆ ถ้าจะเลือกนักการเมือง อย่าไปเลือกให้เขาเข้ามาโกงก็แล้วกัน” พล.อ.อนุพงษ์กล่าว
ส่วนความคืบหน้าการทุจริตโกงเงินคนจน สายวันเดียวกัน ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) อาคารซอฟต์แวร์ปาร์ค ถนนแจ้งวัฒนะ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการ ป.ป.ท. แถลงความคืบหน้าว่า จากการตรวจสอบจังหวัดเป้าหมายเร่งด่วน 37 จังหวัดที่มีงบประมาณเกิน 1 ล้านบาทขึ้นไป ได้รับจัดสรรเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย 503,966,500 บาท พบความผิดใน 34 จังหวัด ส่วนการตรวจสอบในภาพรวม 76 จังหวัด พบพฤติการณ์การทุจริตแล้ว 56 จังหวัด เสนอบอร์ดตั้งอนุกรรมการไต่สวนแล้ว 19 จังหวัด ส่วนอีก 20 จังหวัด กำลังตรวจสอบ มีผู้ถูกกล่าวหา 96 ราย ป.ป.ท.จะส่งรายชื่อเจ้าหน้าที่ทั้งหมดให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ดำเนินการ ทางวินัย มีโทษตั้งแต่สั่งย้าย ไล่ออก ปลดออก ทั้งนี้วันที่ 5 เม.ย. จะเสนอบอร์ดตั้งอนุกรรมการไต่สวนเพิ่มอีก 24 จังหวัด
...
เลขาฯ ป.ป.ท. กล่าวต่อว่า ส่วนผลการตรวจสอบ พบบุคคลเชื่อมโยงกับการทุจริตงบศูนย์ฯ พบเกี่ยวข้อง 5 คน เป็นผู้บริหารระดับสูงของ พส. 3 คน ระดับซี 10 จำนวน 1 คน ระดับล่าง 1 คน และอดีตข้าราชการพส.ที่เกษียณอายุไปแล้วอีก 1 คน พฤติการณ์คือ มีการอนุมัติงบประมาณและมีเส้นทางการเงินไหลกลับเข้าบัญชีตัวเอง ส่วนจะเป็นเงินทอนกลับหรือไม่ยังไม่ยืนยัน ขณะนี้กำลังตรวจสอบในเชิงลึก รวมทั้ง ส่งรายชื่อให้ ปปง. ตรวจสอบเส้นทางการเงินต่อไปอีก หากพบความผิดปกติสามารถอายัดทรัพย์ได้ทันที นอกจากนี้ ป.ป.ท.ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมนิคมสร้างตนเอง 5 แห่ง แบ่งเป็นบอร์ด ป.ป.ท. ตั้งอนุกรรมการไต่สวน 1 คือ นิคมสร้างตนเองเชียงพิณ จ.อุดรธานี อีก 3 แห่ง ส่ง ป.ป.ช.แล้ว คือ นิคมสร้าง ตนเองเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น นิคมสร้างตนเองบ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ และนิคมสร้างตนเองห้วยหลวง จ.อุดรธานี และมีอีก 1 แห่ง อยู่ระหว่างการตรวจสอบ คือ นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จ.สตูล