ผู้อ่านจำนวนมาก อยากทราบว่า “ราชพฤกษ์” เป็นต้นเดียวกันกับต้น “คูน” หรือไม่ ซึ่งก็ขอยืนยันว่าเป็นต้นเดียวกัน มีชื่อวิทยาศาสตร์เฉพาะคือ CASSIA FISTULA LINN. ชื่อสามัญ PUDDING PINE TREE, INDIAN LABURNUM, GOLDEN SHOWER วงศ์ LEGUMINOSAE เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง 8-15 เมตร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ มีใบย่อย 3-8 คู่ เป็นรูปไข่ ปลายแหลม โคนมน ดอก ออกเป็นช่อห้อยลงตามซอกใบหรือตามกิ่งก้าน กลีบเลี้ยงรูปรีแกมรูปไข่กลับ กลีบดอกมี 5 กลีบ รูปไข่หรือรูปไข่กลับ เมื่อดอกบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-8 ซม. กลีบดอกเป็นสีเหลืองสดใส มีเกสรตัวผู้ 10 อัน ขนาดไม่เท่ากัน “ผล” เป็นรูปทรงกระบอกยาว 20-60 ซม. ฝักเมื่อแก่จะเป็นสีดำ ภายในมีเมล็ดหลายเมล็ด ถิ่นกำเนิดเอเชียเขตร้อนทั่วไป ขึ้นตามป่าเบญจพรรณแล้งมากมาย เวลามีดอกจะทิ้งใบก่อนออกดอกทำให้ดูเหลืองอร่ามงดงามมาก ดอกออกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

มีชื่อเรียกในประเทศไทยอีกคือ กุเพยะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) คูน (ภาคกลาง-ภาคเหนือ) ปือยูปูโย เปอโซ แมะหล่าหยู่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) และ ลมแล้ง (ภาคเหนือ-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ส่วนใหญ่จะรู้จักกันในชื่อ “คูน”

ประโยชน์ทางสมุนไพร รากสดฝนกับนํ้าทาแก้กลาก ดื่มเป็นยาระบาย รากและแก่นสดเป็นยาขับพยาธิ เปลือกและเนื้อไม้ใช้ฟอกหนัง เปลือกและใบสดหรือแห้งบดรวมกันใช้ทาฝี เม็ดผื่นคันตามร่างกาย เนื้อไม้สีแดงแกมเหลือง แข็งและทนทานใช้ทำเสา ล้อเกวียน คันไถ เครื่องเรือนต่างๆ ใบสดต้มนํ้าจนเดือดดื่มเป็นยาระบาย ฆ่าพยาธิ ดอกสดหรือแห้งต้มนํ้าจนเดือดดื่มแก้ไข้ ระบาย แก้แผลเรื้อรัง ฝัก เนื้อ รสหวานต้มนํ้าดื่มเป็นยาระบายช่วยบรรเทาอาการแน่นหน้าอก ฟอกหรือชำระนํ้าดี แก้ลมเข้าข้อและขัดข้อดีมาก มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ–พฤหัสฯ ทั่วไปมีทั้งต้นเล็กต้นใหญ่ ราคาสอบถามกันเองครับ.

...

“นายเกษตร”