อธิบดี พส.สั่งพัก 5 ข้าราชการพัวพันโกงเงินคนจน มี ผอ.ศูนย์ขอนแก่นและเชียงใหม่รวมอยู่ด้วย พร้อมตั้งกรรมการ สอบวินัยร้ายแรงเพิ่มอีก 9 แห่ง จ่อย้าย ผอ.ศูนย์ฯ 4 จังหวัด ออกนอกพื้นที่ ป.ป.ท. ลุยสอบต่อ พบพื้นที่เชียงใหม่นำชื่อคนตายไปเบิกเงินหลวง ส่วนคดีโกงเงินกองทุนเสมาพบทุจริตเพิ่มปี 48 “รจนา” โอนเงิน เข้าบัญชีตัวเอง นายตำรวจยศ ร.ต.ต. วัด และบัญชี คนอื่นซึ่งผิดวัตถุประสงค์กองทุน ส่งหนังสือถึง ปปง.สอบเส้นทางการเงิน “ธีระเกียรติ” จ่อตั้งกรรมการเอาผิดทางละเมิด ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจ่ายเงินชดใช้ สั่งใช้มาตรการ คสช.ปราบโกงย้ายข้าราชการเกี่ยวข้องพ้นตำแหน่ง
ป.ป.ท.ยังเดินหน้าสอบสวนผู้เกี่ยวข้องเพื่อเอาผิดกับขบวนการโกงเงินคนจน โดยเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 2 เม.ย. เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ได้ประสานนายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล นายอำเภอสันกำแพง จ.เชียงใหม่ จัดสถานที่สอบปากคำชาวบ้านผู้มีรายชื่อรับเงินสงเคราะห์จากศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.เชียงใหม่ โดยมีประชาชนที่มีรายชื่อได้รับเงินเข้าให้ปากคำจำนวนมาก แยกเป็นชาวบ้าน ต.แม่ปูคา 100 คน ต.ออนใต้ 1 คน ต.ร้องวัวแดง 5 คน และ ต.ต้นเปา 10 คน ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และจากการสอบปากคำบางคนไม่ได้รับเงิน แต่กลับมีชื่อในเอกสารรับเงิน เช่นรายของนางบัวผัน ยี่ฝัน อายุ 78 ปี ชาวบ้าน ต.แม่ปูคา ไม่ได้รับเงินแม้แต่บาทเดียว แต่กลับมีชื่อรับเงิน นายอำนวย ไชยแดง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 ต.แม่ปูคา กล่าวว่า ลูกบ้านตนชื่อนางอุ่นเรือน วรรณก้อน อายุ 73 ปี เสียชีวิตไปตั้งแต่เดือน ส.ค.60 แต่กลับมีรายชื่อรับเงิน 2 ครั้ง ครั้งละ 3,000 บาท รวม 6,000 บาท แต่ความเป็นจริงไม่ได้รับเงิน สอบถามญาติก็ไม่รู้เรื่อง นอกจากนี้ ลูกบ้านบางส่วนได้รับเงิน แต่ไม่เต็มจำนวน ซึ่งมีเยอะมาก
...
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ถนนแจ้งวัฒนะ จ.นนทบุรี พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการ ป.ป.ท. และ พ.ต.อ.ประพนธ์ สหพัฒนา รองอธิการบดีฝ่ายบริหารสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือส่งเสริมระบบธรรมาภิบาล ป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เพื่อมุ่งส่งเสริมความร่วมมือในการป้องกันการทุจริต และร่วมมือตรวจสอบการคอร์รัปชันในหน่วยงานภาครัฐ โดย พ.ต.อ.ประพนธ์เผยว่า นิด้าจะแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ ป.ป.ท เพื่อร่วมศึกษาวิจัย การส่งเสริมธรรมาภิบาล ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้เกิดผลในทางปฏิบัติการแลกเปลี่ยนบุคลากรและองค์ความรู้ทางวิชาการเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัย
พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการ ป.ป.ท. เผยว่า วันที่ 3 เม.ย.นี้ จะสามารถทราบถึงตัวตน บุคคลที่อยู่เบื้องหลังการทุจริตเงินศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ในระดับที่สูงกว่า ผอ.ศูนย์ฯ โดยการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ ป.ป.ท. ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ที่ร่วมตรวจสอบข้อมูลกับสำนักงาน ป.ป.ง. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จนได้ข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนถึงเส้นทางการทุจริต แม้จะมีการจ่ายเงินในรูปแบบของเงินสดก็ตาม
“ขั้นตอนหลังพบหลักฐานที่โยงถึงตัวผู้ทุจริตในระดับสูงกว่าผู้อำนวยการศูนย์ จะเอาผิดทางอาญาโดยการส่งสำนวนการตรวจสอบให้กับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เพื่อไต่สวนต่อ เนื่องจากเกินอำนาจของ ป.ป.ท. รวมถึงการเสนอเรื่องให้ต้นสังกัด พิจารณาความผิดทางวินัย ควบคู่ด้วย วันที่ 3 เม.ย.นี้ จะมีการรายงานผลการ ตรวจสอบการทุจริตศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 37 แห่ง เป็นการตรวจสอบเร่งด่วนของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณเกิน 1 ล้านบาท ยืนยันว่าการตรวจสอบทุจริตศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งฯ ศูนย์พัฒนาราษฎรที่ราบสูง นิคมสร้างตนเอง ศูนย์ประสานงานสหกรณ์ ภายใต้สังกัดของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 พ.ค.นี้” พ.ท.กรทิพย์กล่าว
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการตรวจสอบการทุจริตเงินสงเคราะห์คนยากไร้ว่า พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้รายงานความคืบหน้าการตรวจสอบการทุจริตเงินสงเคราะห์เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ทราบว่าได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงปลัด และรองปลัด พม.แล้วตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา เบื้องต้นทราบว่ามีการตรวจสอบไปแล้ว 59 แห่ง ส่วนกรณีที่นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ประธานคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงปลัดและรองปลัด พม. ระบุถึงระยะเวลา 30 วัน ในการสอบไม่เพียงพอนั้น ต้องให้ รมว.พม. พูดคุยกับประธานอีกครั้ง แต่นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่าอยากให้การสอบสวนวินัย
ผู้เกี่ยวข้องจบภายใน 30 วัน ส่วนเรื่องเส้นทางการเงินจะทราบความชัดเจนหรือไม่นั้น เป็นเรื่องความผิดทางอาญา หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. จะต้องดำเนินการสอบสวนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน
นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ตนได้ลงนามสั่งพักราชการข้าราชการในสังกัดไปแล้วทั้งสิ้น 5 คน โดยให้ขาดจากเงินเดือนและสวัสดิการ ประกอบด้วย ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น และหัวหน้าฝ่ายสวัสดิการของศูนย์ฯ ขอนแก่น รวม 2 คน, ผอ.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.เชียงใหม่ 1 คน และศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง จ.เชียงใหม่ 2 คน มีผลตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. เป็นต้นไป นอกจากนี้ ยังได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงเพิ่มอีก 9 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์ประสานงานโครงการหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพงตามพระราชดำริ จ.เชียงใหม่, ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.พัทลุง, ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.สุราษฎร์ธานี, ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ตราด, นิคมสร้างตนเองสุคิริน จ.นราธิวาส, นิคมสร้างตนเองรัตภูมิ จ.สงขลา, นิคมสร้างตนเองควนขนุน จ.พัทลุง, นิคมสร้างตนเองตากฟ้า จ.นครสวรรค์ และศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง จ.เชียงใหม่
...
นางนภากล่าวถึงกรณีที่ ป.ป.ท. เสนอให้ย้าย ผอ.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 4 จังหวัด ได้แก่ ตรัง นครพนม ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ ออกจากพื้นที่เพื่อเปิดทางในการสอบ เนื่องจากเข้าไปยุ่งเกี่ยวพยานหลักฐาน ทำให้ยากต่อการตรวจสอบว่า ที่ผ่านมาตนได้หารือกับเลขาฯ ป.ป.ท.ในการจัดส่งข้อมูลเอกสารการตรวจสอบของ ป.ป.ท. รวมถึงที่ได้มีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนไปแล้ว เพื่อจะได้ประสานข้อมูลให้เกิดความรวดเร็ว หากข้อมูลระบุความผิดชัดเจน พส.จะได้ดำเนินการสั่งย้ายผู้เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ได้ทันที เข้าใจว่า ป.ป.ท.อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลในส่วนที่เปิดเผยได้เพื่อจัดส่งให้กับกระทรวง แต่ขณะนี้ พส.ยังไม่ได้รับข้อมูลดังกล่าว รวมถึงศูนย์ฯ ทั้ง 4 แห่ง ที่ได้กล่าวมา เป็นเพียงได้รับทราบผ่านสื่อ อย่างไรก็ตาม กรณีของศูนย์ฯ 4 แห่งดังกล่าว หากพบความผิดชัดเจน ก็อาจจะสั่งย้ายออกจากพื้นที่ทันทีก่อนที่จะได้รับหนังสือจาก ป.ป.ท. ทั้งนี้ กฎหมายมีขั้นมีตอน จะพยายามทำให้เร็วที่สุด
ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ แถลงข่าวการปราบปรามทุจริตของ ศธ. ว่า ที่ผ่านมามีการปล่อยข่าวว่ารัฐบาลชุดนี้โกงเยอะ แต่ความจริงแล้วมีการโกงกันมานาน แต่มีการจับกันอย่างจริงจังในรัฐบาลชุดนี้ โดยความคืบหน้าการสอบทุจริตยักยอกเงินของกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการ ศธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริง จะสรุปผลการสืบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นก่อนสงกรานต์นี้ เพื่อนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยให้เสร็จสิ้นภายในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งหลักฐานที่ได้นอกจากนางรจนา สินที ข้าราชการระดับ 8 ที่ถูกไล่ออกจากราชการแล้ว ยังไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงถึงใคร แต่ตนยังไม่ปักใจเชื่อจึงยังไม่เลิกละความพยายามที่จะให้สอบต่อไป ภายในสัปดาห์นี้ถ้ามีพยานหลักฐานว่ามีมูลความผิด เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องที่เหลือจะถูกย้ายออกจากตำแหน่งก่อน ตามมาตรการของ คสช. ขณะที่ผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการโกงแต่มีส่วนรับผิดชอบทางการเงิน การคลัง และปล่อยให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นถือว่ามีส่วนบกพร่องทางวินัย ส่วนจะร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรงขึ้นอยู่กับผลการสืบ
...
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า ในเร็วๆนี้จะลงนามตั้งคณะกรรมการเอาผิดทางละเมิด เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบเรื่องนี้ได้มีส่วนในการชดใช้เงินตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปรามข้าราชการด้วย ส่วนที่มองว่ามาตรการของ คสช. มีระยะเวลาการสืบข้อเท็จจริงและสอบสวนเร็วกว่าปกติ อาจส่งผลถึงความเป็นธรรมนั้น รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า อย่ากังวลไม่ใช่เสร็จภายใน 30 วันแล้วต้องเป๊ะ แต่ขอให้ทำตามจิตวิญญาณที่รัฐบาลอยากให้เร่งดำเนินการโดยไม่มีการเตะถ่วง บางกรณีถ้าช้าเพราะต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบ อย่างกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตที่ต้องสอบเส้นทางการเงินก็สามารถขยายเวลาได้ แต่บางกรณีความผิดชัดเจนมีหลักฐานก็ต้องจบเร็ว ที่ผ่านมาการสอบล่าช้าเพราะมีทั้งการสืบและสอบ บางกรณีใช้เวลานานมากยังสอบไม่เสร็จ อยากให้ความมั่นใจว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการ แต่ต้องเร่งตรวจสอบเพื่อให้ ศธ. สะอาดขึ้น เพราะกระทรวงครูบาอาจารย์ต้องเป็นตัวแทนความโปร่งใส ตนกล้ายืนยันว่า ศธ.ยุคนี้ไม่มีโกง มีแต่จับโกง
นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการ ศธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริง กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เชิญข้าราชการที่เกี่ยวข้องซึ่งยังรับราชการอยู่มาให้ปากคำ และในวันที่ 5 เม.ย.นี้ จะเชิญนางรจนาซึ่งออกจากราชการไปแล้วมาให้ปากคำ ส่วนผู้บริหารระดับสูงให้ชี้แจงมาเป็นลาย ลักษณ์อักษรภายในวันที่ 4 เม.ย.นี้ ขณะนี้มีบางรายชี้แจงมาแล้ว ตนพบประเด็นเพิ่มใหม่คือ จากการตรวจสอบตั้งแต่ตั้งกองทุน พบว่า ปี 2547 พบผิดปกติ 1 รายการ แต่ปี 2548 ความผิดปกติเริ่มชัดและ ค่อนข้างเยอะ เพราะมีการโอนเงินเข้าบัญชีของนางรจนาเอง นอกจากนี้ ยังมีการโอนให้นายตำรวจยศ ร.ต.ต. โอนให้วัดและบุคคลที่มีคำนำหน้าว่านาย ซึ่งเป็นไปไม่ได้เพราะผิดวัตถุประสงค์ของกองทุน เฉพาะในปี 48 ทุจริตกว่า 2.9 ล้านบาท ส่วนยอดรวมอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่ปี 2547-2561 เป็นเงิน 110,343,227 บาท มีผู้เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นทั้งคนชงเรื่อง ผ่านเรื่อง อนุมัติ และสุดท้ายคือขั้นตอนการจ่าย นอกจากนางรจนาแล้วก็มี ผอ.สำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา ฝ่ายการเงินการคลัง รองปลัด ศธ. และปลัด ศธ. แต่ต้องดูว่าเกี่ยวข้องในฐานะใด จะพิจารณามูลความผิดตามฐานที่กฎหมายกำหนดว่าใครทุจริต ใครประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ขณะนี้ยังไม่สรุปว่าใครผิดใครถูกจนกว่าข้อมูลจะนิ่ง
...
นายอรรถพลกล่าวอีกว่า คณะกรรมการสืบฯกำลังตรวจสอบพยานวัตถุ ได้ขนทรัพย์สินของนางรจนาจากห้องทำงานมาตรวจสอบว่ามีอะไรเชื่อมโยงถึงใครบ้าง มีข้อมูลระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ขอเปิดเผยเพราะเกรงว่าจะเสียรูปคดี ทั้งยังต้องอาศัยข้อมูลจาก ปปง. ตนจะทำหนังสือถึง ปปง.ให้ช่วยตรวจสอบเส้นทางการเงินและตอบกลับมา เพื่อคณะกรรมการสืบฯจะได้มาวินิจฉัย ส่วนหลักฐานเอกสารการเงินที่ขอจากทางธนาคารนั้นยังได้รับไม่ครบถ้วน ต้องรอการอนุมัติจากสำนักงานใหญ่ ในส่วนของบัญชีที่ปิดบัญชีไปแล้ว เพราะระบบ gyro สาขาจะเก็บข้อมูลไว้ไม่เกิน 3 ปี ระบบดังกล่าวทางธนาคารรับฝากโอนไม่มีชื่อบัญชี เป็นเรื่องปกติ แต่ในส่วนของราชการจะต้องมีหลักฐานการจ่ายเป็นใบสำคัญคู่จ่าย กระทรวงการคลังมีระเบียบชัดเจนเพื่อแสดงว่ามีการชำระหนี้ให้แก่ผู้มีสิทธิ์ครบถ้วน การที่มีเฉพาะเลขบัญชีก็ไม่ใช่ผู้มีสิทธิ์ ทั้งนี้ คงไม่เชิญเจ้าหน้าที่ธนาคารมาให้ปากคำเพราะได้สอบถามเป็นลายลักษณ์ อักษรไปแล้ว และในเร็วๆนี้คณะกรรมการสืบฯจะแบ่งสายลงพื้นที่สืบข้อเท็จจริงทางภาคใต้ และภาคเหนือในบางจุด เนื่องจากพบว่ามีสถานศึกษาหลายแห่งรับเงินเกินแต่ยังเงียบไม่ยอมโอนคืนกลับมา ดังนั้น จะรีบสรุปเพื่อเอาเงินที่โอนเกินคืนกลับมา เพราะมีหลายแห่งรอเงินนี้อยู่