คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ)
ประชุมนัดสุดท้ายเพื่อสรุปข้อเสนอการ ปฏิรูปตำรวจ ส่งต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตามเงื่อนไขที่กำหนดเส้นตายไปเรียบร้อยแล้ว
ส่วนจะแก้ไขตามความต้องการของคณะกรรมการและตำรวจส่วนใหญ่แค่ไหนต้องดูกันต่อไป
แต่ที่น่าจะ “ถูกใจ” ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์คงเป็นมุมมองของ นายธานิศ เกศวพิทักษ์ อดีตรองประธานศาลฎีกา ปัจจุบันเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาที่เข้าไปในฐานะประธานคณะกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมายและระบบการสอบสวนคดีอาญา
เจ้าตัวเชื่อว่า พนักงานสอบสวนน่าจะพอใจในหลักประกันการทำงาน มีอิสระ มีความภูมิใจในการทำหน้าที่ ไม่อยู่ใต้อาณัติของใคร ไม่มีอำนาจเบื้องหลังมาเบี่ยงเบนจนทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่อย่างเป็นธรรม
ถึงกระนั้นก็ตาม นายธานิศยอมรับว่า เมื่อเข้ามาเป็นคณะกรรมการนี้ถึงรู้ว่า ตำรวจเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐใกล้ชิดประชาชนมาก สามารถบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชน แต่ความจำเป็นที่ต้องทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
กฎหมายจึงให้อำนาจกับตำรวจอย่างมาก
อำนาจรัฐส่วนนี้จึงไปกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เมื่อประชาชนได้รับผลกระทบที่ไม่สมปรารถนาก็จะตำหนิติเตียนตำรวจ
ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาบอกด้วยว่า เพิ่งได้ทราบ ทุกวันนี้เมื่อมีคดีความเกิดขึ้น ทางราชการสนับสนุนงบประมาณในการทำหน้าที่ของตำรวจที่ฟังแล้วหดหู่จริง
“ขออนุญาตฟ้องต่อประชาชน เราคาดหวังอะไรจากตำรวจมากมาย แต่เราให้เขาหรือเปล่า ให้เพียงพอหรือเปล่า ให้เหมือนตำรวจสากล ตำรวจในต่างประเทศได้รับหรือเปล่า”
ขออนุญาตเอาความในใจที่สะสมไว้ตลอดเวลา
“มาอยู่ตรงนี้นั่งฟังอดีตตำรวจที่เป็นกรรมการ ไม่น่าเชื่อว่า ทำไมตำรวจต้องเติมน้ำมันเอง ต้องซื้อปืนเองด้วยเงินส่วนตัว” อดีตรองประธานศาลฎีกาสะท้อนความจริง
...
เป็นสิ่งที่เจ็บปวดสำหรับตำรวจเมืองไทยมานาน.
"สหบาท"