น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ปัญหาการติดเกมของเด็กและวัยรุ่นไทยน่าเป็นห่วงมาก โดยจากการวิเคราะห์สถานการณ์ของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น กทม.พบว่า ในปี 2560 มีเด็กป่วยเป็นโรคติดเกมรายใหม่เข้ารับการรักษา 129 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึง 6 เท่าตัว ปัจจุบันมีเด็กที่ป่วยและได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์ว่าเป็นโรคติดเกมรวม 429 ราย พบอายุน้อยสุด 5 ขวบ มากสุด 17 ปี เด็กที่ป่วยใช้เวลาเล่นเกม 34 เดือน เฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังได้รับรายงานผลการศึกษาของทีมจิตแพทย์เด็กฯที่ตรวจรักษาเด็กอายุระหว่าง 6-17 ปี ที่ป่วยเป็นโรคติดเกมว่าจะพบร่วมกับโรคทางจิตเวชประมาณ 8 โรค มากที่สุด คือ โรคสมาธิสั้น
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า การติดเกมจะขัดขวางพัฒนาการด้านจิตใจ อารมณ์ สังคม เกิดผลเสียกับอนาคตของเด็กทั้งบุคลิกภาพ ความคิด การเรียน การทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก ทั้งนี้ผลกระทบที่เกิดจากการเล่นเกมออนไลน์ พบว่าเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้ายตัวเอง ทำร้ายพ่อแม่ ทำลายข้าวของ ไม่ไปโรงเรียน พยายามฆ่าตัวตาย ฆ่าเพื่อน บางรายรุนแรงถึงขั้นหนีออกจากบ้านและออกจากการศึกษาภาคบังคับ โดยสาเหตุหลักเกิดจากการเลี้ยงดูเด็กที่ไม่เหมาะสมของครอบครัว เช่น ขาดวินัย ไม่มีข้อกำหนดการเล่นเกม สำหรับเด็กที่เป็นโรคติดเกมจะมีอาการสำคัญคือ เล่นเกมมาก หงุดหงิดถ้าไม่ได้เล่น การดูแลรักษาจะใช้หลายวิธีร่วมกัน ทั้งใช้ยา การบำบัดจิตใจและพฤติกรรม.