หลัง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ พร้อมมีประกาศให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่งมาจดแจ้งกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีผู้มาจดแจ้งทั้งหมด 87 ราย
นายณรงค์ เจียมใจบรรจง รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด 1 ใน 87 ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรพันธสัญญาที่ทำธุรกิจด้านนี้มาตั้งแต่ปี 2518 เผยว่า ปัจจุบันซีพีเอฟมีเกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญาอยู่ 5,960 คู่สัญญา ครอบคลุมการเลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ และสุกร โดยร้อยละ 60 ของจำนวนคู่สัญญา เป็นเกษตรกรที่อยู่กับบริษัทมายาวนานกว่า 10 ปี
“วันนี้สังคมคงรับรู้แล้วว่าระบบเกษตรพันธสัญญาไม่ได้มีเพียงซีพีเอฟรายเดียวที่ดำเนินการอยู่ แต่มีผู้ประกอบการถึง 87 ราย แม้ที่ผ่านมาสัญญาของบริษัทจะได้รับการประเมินจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่ามีความเป็นธรรมและเป็นสากล จนองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) นำไปเป็นตัวอย่างให้หลายประเทศที่ดำเนินโครงการคอนแทรกต์ ฟาร์มมิ่งได้ศึกษาก็ตาม แต่หลังจากมีพระราชบัญญัติในเรื่องนี้เป็นการเฉพาะออกมาบังคับ ใช้ครั้งแรก เราได้มีการปรับปรุงสัญญาใหม่ เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์แก่เกษตรกรมากกว่าที่กฎหมายกำหนด ซีพีเอฟถือเป็นผู้ประกอบการรายแรกที่ให้ความสำคัญเรื่องการบริหารความเสี่ยงแทนเกษตรกรรายย่อยในประเภทประกันรายได้ หรือแบบฝากเลี้ยง โดยบริษัทจะมีการทำประกันภัยให้กับเกษตรกรคู่สัญญาทั้งที่กฎหมายไม่ได้บังคับ แต่เราทำให้ โดยเกษตรกรไม่ต้องควักจ่ายแต่อย่างใด”
...
นายณรงค์ เผยอีกว่า ปกติการทำเกษตรพันธสัญญาในรูปแบบฝากเลี้ยงของเกษตรกรรายใหม่ จะมีการกู้เงินจากสถาบันการเงิน และสถาบันการเงินจะมีเงื่อนไขบังคับให้เกษตรกรต้องทำประกันภัยโรงเรือนและอุปกรณ์ แต่หลังจากชำระหนี้เงินกู้ครบถ้วน เกษตรกรส่วนใหญ่มักจะไม่ทำประกันต่อ ซีพีเอฟจึงมีแนวคิดที่จะช่วยรองรับความเสี่ยงตรงนี้แทนเกษตรกรเพื่อสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรกลุ่มนี้ เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุ ไฟไหม้ พายุพัดถล่มโรงเรือนและอุปกรณ์เสียหาย เกษตรกรยังได้โรงเรือนใหม่จากเงินประกันภัยไว้ทำกินได้ต่อไป.