เทศกาลบุญยิ่งใหญ่ของคนเชื้อสายแขมร์ ที่ทุกคนไม่อาจขาดได้เลยก็คือ งานบุญ “ภจุมบิณฑ์” ถ้าเทียบกับของคนไทยก็คือ ทำบุญสารท ในเดือน 10

เทศกาลภจุมบิณฑ์ หรือสารทเขมร เริ่มตั้งแต่แรม 1 ค่ำ จนถึงแรม 15 ค่ำ เดือน 10 จุดประสงค์ของการทำบุญก็เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับ ไม่ว่าจะเป็นมารดา บิดา ปู่ ย่า ตา ยาย ญาติมิตร รวมไปถึงเจ้ากรรมนายเวรซึ่งเป็นผู้มีอุปการคุณที่ล่วงลับไปแล้ว

การทำบุญ “ภจุมบิณฑ์” ในมุมของนักวิชาการไทย ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร บอกว่า ในประเทศกัมพูชา การทำบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นกิจอย่างหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนทำอยู่เสมอ

ส่วนการทำบุญที่เป็นเทศกาลใหญ่ ก็จะมีอยู่ทุกภูมิภาคที่นับถือพุทธศาสนา แบบเถรวาท ซึ่งมีความเชื่อว่าวิญญาณที่ตกทุกข์ได้ยาก จะถูกปลดปล่อยมาในช่วงเดือนเก้าเดือนสิบ โดยอิงจากเรื่องในพุทธประวัติเป็นส่วนใหญ่ จึงได้จัดงานเทศกาลคล้ายๆกันทั้งภูมิภาค เช่น ภาคกลางของไทยมีงานบุญวันสารท ภาคใต้ก็มีงานวันสารทเดือนสิบ หรือที่เรารู้กันในชื่อเทศกาลชิงเปรต ภาคเหนือก็มีประเพณีตานก๋วยสลากถึงแม้คำอธิบายจะแตกต่างจากภาคอื่น แต่วัตถุประสงค์ส่วนใหญ่ก็จะคล้ายคลึงกัน

สำหรับภาคอีสานมีงานบุญข้าวประดับดิน ซึ่งรวมไปถึงชาวลาวด้วย ภาคอีสานตอนใต้มีประเพณีแซนโฎนตา ซึ่งก็เป็นความเชื่อเดียวกับประเพณีภจุมบิณฑ์ของชาวกัมพูชา ความเชื่อเช่นนี้มีรวมไปถึงชาวพม่าด้วย ข้อที่น่าสังเกตก็คือ เทศกาลนี้จัดอยู่ในช่วงเข้าพรรษา ซึ่งพระภิกษุสามเณรอยู่ประจำที่ ไม่ได้เดินทางไปไหน ในสังคมเกษตรกรรม ชาวนาก็เสร็จสรรพจากการปลูกข้าว อยู่ในช่วงที่ข้าวกำลังเจริญเติบโตแตกหน่อออกรวง เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว ผู้คนก็มักไม่ไปไหน อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา จึงเป็นช่วงที่เหมาะแก่การรวมกลุ่มจัดงานเพื่อรำลึกถึงบรรพบุรุษชาวแขมร์ในประเทศกัมพูชา ใครอยู่ใกล้วัดไหนก็ไปวัดนั้น แต่ชาวกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เหมือนมีนัดกันที่วัดศรีสุดาราม แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

...

สาม กิมเตง อายุ 45 ปี ชาวบันเตียเมียนเจย มาเป็นคนงานก่อสร้างที่ไทรน้อย จ.นนทบุรี บอกว่า เธอต้องทำบุญให้กับผู้ล่วงลับทุกปี เพิ่งมาวัดศรีสุดารามเป็นปีแรก แม้จะมาอยู่ประเทศไทย 18 ปีแล้วก็ตาม

“ไม่ทำบุญไม่ได้ เผื่อญาติที่ตายไปรออยู่ และอาหารที่ขาดไม่ได้สำหรับเทศกาลบุญนี้คือ ส็อมลอร์มีซัว (หมี่เส้นเล็กๆต้ม) เผื่อญาติหรือเจ้ากรรมนายเวรของเราเกิดเป็นเปรต จะได้กินอาหารที่เราทำบุญไปได้”

เธอยังบอกว่า “ปกติจะทำบุญวัดใกล้บ้าน ยิ่งทำได้หลายวัดเท่าไรก็ยิ่งดี” สำหรับการสืบประเพณีบุญ “ก็บอกลูกๆหลานๆทุกคนให้ทำบุญ ถ้าเราเอามาวัดได้เราก็จะชวนมา”

มิเพียงแต่แรงงาน นักศึกษาชาวกัมพูชาที่เข้ามาศึกษามหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ บางเขน ก็พากันเข้ามาร่วมงานบุญที่วัดศรีสุดารามด้วย รมย์เนีย เล็ง ชาวกำปงธม ประเทศกัมพูชา นักศึกษาปี 1 บอกว่า อาหารที่ชาวกัมพูชานำไปทำบุญ นอกจากเส้นหมี่อย่างที่ สาม กิมเตง บอกแล้ว มีของหลักคือ 1.ขนมข้าวต้ม ขนมข้าวต้มของกัมพูชาที่ใช้ในพิธีมีไส้อยู่สองชนิดคือ ไส้กล้วย และไส้ถั่วกับหมู 2.ขนมบัวลอย ขนมบัวลอยมีทั้งลูกเล็กและลูกใหญ่ มีเรื่องเล่าจากชาวกัมพูชาว่า บัวลอยลูกใหญ่บางถิ่นเรียกว่าขนมฆ่าผัว เหตุเพราะภรรยาทำขนมร้อนๆให้ผัวกิน ผัวมูมมามเกินไป ไม่รู้ว่าขนมยังร้อนอยู่ รีบกินเข้าไปทำให้ติดคอตายกลายเป็นโศกนาฏกรรมก้นครัว และเล่าขานสืบต่อกันมา

สรุปว่า ขนมหวานชนิดสำคัญในพิธี คือ 1.ข้าวต้ม และ 2.บัวลอย

อาหารคาวมี 1.ส็อมลอมจูเกรือง คล้ายๆแกงส้มของไทย แต่รสชาติไม่เข้มข้นเหมือน และ 2.ส็อมลอกอโก กลิ่นคล้ายๆแกงเลียงของไทย แต่น้ำแกงข้นกว่ามาก เนื่องจากใส่ข้าวคั่วลงไปด้วย และ 3.ผักดอง มีแตงกวา ถั่วงอก พริกสด และดอกโสน เป็นต้น

ชาวกัมพูชานำอาหารหวานคาวไปทำบุญที่วัด แล้วก็อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับ อาจจะตายแล้วเป็นเปรตหรือไม่ก็ตาม ความเชื่อเรื่องเปรต สำหรับชาวกัมพูชารุ่นใหม่อย่าง รมย์เนีย เธอบอกว่า “ไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ เมื่อก่อนอาจจะมีก็ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเทศกาลบุญภจุมบิณฑ์ ก็ไปทำบุญที่วัดกับญาติๆทุกปี”

ภายในวัดศรีสุดาราม ชาวกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย พากันหลั่งไหลเข้ามาทำบุญจากทั่วสารทิศ ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล การหลั่งไหลเข้ามาเกิดจากการประสานงานของทางวัดศรีสุดาราม

พระภิกษุชาวกัมพูชา กิม พิเชษฐ์ อตุโล จำพรรษาอยู่ที่วัดศรีสุดารามมาแล้วรวม 6 พรรษา เข้ามาอยู่เมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ.2546 พูดภาษาไทยได้ชัดเจนกว่าคนไทยบางคน หนึ่งในผู้ประสานงานชาวกัมพูชา ให้เข้ามาทำบุญบอกว่า งานภจุมบิณฑ์หรือสารทเขมรมีความสำคัญกับชาวเขมรมาก

“คนไทยบางคนอาจไม่รู้จักวันสารทด้วยซ้ำ แต่ชาวกัมพูชาถือเป็นประเพณีหนึ่งที่สำคัญที่สุดใน 12 เดือนเลยทีเดียว และความแตกต่างของวันสารทกัมพูชากับไทยคือ สารทกัมพูชาจัดตั้งแต่แรม 1 ค่ำ ถึงแรม 15 ค่ำเดือน 10”

วัดศรีสุดารามจัดงานภจุมบิณฑ์มา 7-8 ปีแล้ว แต่ละปีเลือกจัดระหว่างแรม 1 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ และเลือกเอาวันใดวันหนึ่งที่ตรงกับวันเสาร์ หรือวันอาทิตย์ เพราะชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ใช้แรงงานตามโรงงานอุตสาหกรรม และห้างร้านต่างๆ มีวันหยุดวันเสาร์ อาทิตย์

พระอาจารย์กิมบอกว่า สาเหตุที่วัดศรีสุดารามจัดงานบุญเพราะว่า “1.เพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษ อาจจะเชื่อว่าญาติพี่น้องที่ตายไปอาจจะไปเป็นเปรตหรือไม่ก็ตาม หนึ่งปีอย่างน้อยเราอาจจะหาเวลาสักหนึ่งวันใน 15 วัน เพื่อไปทำบุญอุทิศให้กับญาติที่ล่วงลับ 2.เพื่อเป็นการรวมญาติพี่น้อง ถ้าปกติใน 1 ปี บางคนอาจจะไม่ได้นึกถึงคนที่ตายไปเลย แต่วันนี้ทำให้คนนึกถึงญาติที่ตายไปแล้ว แล้วมาร่วมกันทำบุญส่งไปให้ญาติพร้อมๆกัน”

กิจกรรมสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ชาวกัมพูชาทำในเทศกาลสารท คือ “เบาะบาย”

คำว่า เบาะ หมายถึง ทิ้ง, ขว้าง, วาง, ปล่อยลงไป ส่วนคำว่า บาย หมายถึง ข้าว รวมความแล้วก็คือ ทิ้งข้าว หรือวางข้าวไว้ เรื่องนี้พระอาจารย์กิมอธิบายว่า ชาวกัมพูชามีกิจกรรมนี้อยู่ ถือเป็นการทำบุญให้กับคนที่ล่วงลับไปแล้ว วิธีการคือ นำข้าวสวยไปวางไว้ให้ผู้ล่วงลับ

...

การวางข้าวนั้นทำในช่วงเทศกาลสารทเขมร “ภาคอีสานใส่ภาชนะเรียกว่ากันโตง จริงๆอาจจะเป็นจานก็ได้ ถ้วยก็ได้ หรือใบไม้ก็ได้ เราเอาข้าว กับข้าวเหล่านั้นไปวางไว้ตามต้นไม้ หรือที่ไหนก็ได้ กิจกรรมนี้ชาวบ้านมักพากันไปเวียนเทียนที่วัด วนรอบพระอุโบสถก่อน แล้วก็วางข้าวที่เตรียมไว้ 4 มุมของโบสถ์ ทำแบบนี้ 15 วันเลย”

สำหรับการอุทิศให้กับผู้ล่วงลับนั้น “ในความตั้งใจชาวบ้าน ไม่ได้อุทิศให้กับเปรตอย่างเดียว แต่อุทิศให้ผู้ล่วงลับทั้งหมด บางคนอาจจะมีญาติเป็นเปรตอยู่ หรือไม่มีก็ได้ ความตั้งใจของอาตมาก็คือ เราจะทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง”

หลังทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับแล้ว ชาวกัมพูชาได้ฟังเทศน์ รับการอบรมเรื่องบัตรต่างด้าว กฎหมายแรงงานที่ควรรู้ ทางวัดได้เชิญวิทยากรจากสถานทูตมาให้ความรู้อย่างเป็นกันเอง

สำหรับชาวกัมพูชาอย่าง สาม กิมเตง เธอยืนยันว่าแม้โลกจะเป็นไปอย่างไร แต่การทำบุญวันภจุมบิณฑ์จะสืบสานประเพณีต่อไป.