สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสะเทือนใจกับผู้ที่รักสุนัขเป็นอย่างมาก และผมเองก็ไม่สามารถที่จะปล่อยผ่านไปได้ เนื่องจากเหตุการณ์อย่างนี้ อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ประกอบอาชีพสุจริต จนเป็นเหตุให้สูญเสียเงิน โดยไม่จำเป็นก็เป็นไปได้ 

จากแหล่งข่าวหลายสำนักให้ข้อมูลว่ามีผู้วางยาสุนัขของตัวเอง เพื่อให้เสียชีวิต และได้ทำเรื่องเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทขนส่ง รวมไปถึงบริษัทประกันภัยการขนส่ง โดยมีหลักฐานแสดงมูลค่าของสุนัข หรือราคาซื้อขายสุนัข เช่น หลักฐานการโอนเงินให้แก่ผู้ที่ขายสุนัข ซึ่งหลักฐานดังกล่าวก็มีเงื่อนงำแอบแฝงอยู่ เนื่องจากผู้ที่ขายสุนัขให้ข้อมูลว่ามีการโอนเงินค่าสุนัขเกินกว่าจำนวนเงินที่ซื้อขายกันจริงถึง 30,000 บาทเศษ ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้น จะเป็นการจงใจหรือเป็นเพียงแค่เหตุบังเอิญ ต้องรอผลสรุปจากการสอบสวนของพนักงานสอบสวนอีกครั้งครับ

เรื่องนี้น่าจะจบลงด้วยการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย แต่เรื่องกลับแดงขึ้น เนื่องจากผลการผ่าชันสูตรซากสุนัข ปรากฏว่าพบยาเม็ดเป็นจำนวนมากในกระเพาะของสุนัข และคงเป็นไปได้ยากที่สุนัขจะกินยาดังกล่าวเข้าไปเอง จนทำให้เสียชีวิต จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า มีใครเป็นผู้วางยาสุนัขให้เสียชีวิต เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทขนส่งและบริษัทประกันภัยการขนส่งหรือไม่ ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน และเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาตามกฎหมายต่อไป

...

การประกันวินาศภัย คือ การที่ผู้รับประกันภัยทำสัญญายินยอมที่จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือชดใช้เงินจำนวนหนึ่งในกรณีที่เกิดความเสียหายเกี่ยวกับที่เอาประกันภัย โดยที่ผู้เอาประกันภัยตกลงจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้รับประกันภัย

ประเภทของการประกันวินาศภัย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

- ประกันอัคคีภัย
- ประกันภัยรถยนต์
- ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง
- ประกันภัยเบ็ดเตล็ด

การกระทำดังกล่าวนี้ สมมติว่า มีการวางแผนฆ่าสุนัข เพื่อเรียกร้องเงินค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกัน ผู้กระทำความผิดจะได้รับโทษตามกฎหมายอย่างไรบ้าง

กรณีฆ่าสัตว์ โดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการทารุณกรรมสัตว์ ตามพระราชบัญญัติ ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557

มาตรา 20 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทําการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้ที่ฆ่าสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 มาตรา 31

นอกจากนี้การหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงอันควรบอกให้แจ้งและการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สาม ยังเป็นความผิดข้อหาฉ้อโกง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 

ผู้กระทำความผิดอาจจะต้องรับโทษหนักขึ้น หากการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จนั้น เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 347 ผู้ใดเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการประกันวินาศภัย แกล้งทำให้เกิดเสียหายแก่ทรัพย์สินอันเป็นวัตถุที่เอาประกันภัย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เห็นว่า การกระทำความผิด หรือกระทำการอันไม่สุจริต แม้จะมีการตระเตรียมการวางแผนเป็นอย่างดี มีการสร้างหลักฐานเพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องมูลค่าทรัพย์สินที่เสียหายก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถที่จะหนีความจริงไปได้พ้น "ความจริง" ย่อมมีเหตุและมีผลที่สอดคล้องกันเป็นอย่างดี ให้พูดกี่ครั้งก็จะตรงกันทุกครั้ง ต่างจาก "ความเท็จ" ที่มักจะไม่มีเหตุผลสอดคล้องกัน ให้พูด 10 ครั้ง ก็จะต่างกันทั้ง 10 ครั้ง ฝากไว้เป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพสุจริตด้วยครับ คนเราคิดเรื่องแปลกๆ ได้ทุกวัน อย่าประมาทนะครับ

สำหรับใครที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ