สวัสดีแฟนเพจทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับแม่ใช้เชือกมัดคอลูกของตัวเอง และบันทึกภาพเคลื่อนไหว แล้วส่งต่อไปให้สามี เพื่อประชดสามี โดยอ้างว่าสามีไม่ให้ความสนใจ ประกอบกับมีความเครียด เหตุการณ์ลุกลามใหญ่โตในโลกโซเชียล เนื่องจากสามีส่งคลิปภาพเคลื่อนไหวดังกล่าวไปให้กับมารดาของสามี และมีการโพสต์ลงในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อขอความช่วยเหลือบุคคลที่อยู่ใกล้บ้านของแม่และเด็กดังกล่าว โดยมีการส่งต่อภาพเคลื่อนไหว และวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โชคดีที่เด็กไม่ได้รับอันตรายครับ

กรณีนี้ แม้ว่าแม่เด็กไม่ได้มีเจตนาจะการทำร้ายร่างกายของบุตรโดยตรงก็ตาม แต่สามารถเล็งเห็นผลได้ว่าการใช้เชือกรัดคอเด็กดังกล่าวนั้น อาจจะทำอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ หรือชีวิตของบุตรได้ เนื่องจากเด็กอายุไม่ถึง 2 ขวบ กระดูกและร่างกายย่อมอ่อนแอกว่าเด็กโต

เบื้องต้น เมื่อเด็กได้รับบัตรเจ็บไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ พนักงานสอบสวนจะเปรียบเทียบปรับ ตาม ปอ. มาตรา 391 ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่กรณีนี้เป็นการกระทำความผิดกับบุคคล ซึ่งอยู่ในครอบครัว ถือเป็นคดีเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 มาปรับใช้ด้วยครับ ซึ่งจะมีโทษหนักกว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ข้างต้น

มาตรา 4 ผู้ใดกระทำการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัว ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ให้ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ แต่ไม่ลบล้างความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น หากการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ด้วย ให้ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดอันยอมความได้

...

นอกจากนี้ เด็กยังได้รับความคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ใด กระทำการดังต่อไปนี้

(1) กระทำหรือละเว้นการกระทำอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก

(2) จงใจหรือละเลยไม่ให้สิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต หรือการรักษาพยาบาลของเด็กที่อยู่ในความดูแลของตน จนน่าเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก

(3) บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร หรือน่าจะทำให้เด็กมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการกระทำผิด

(4) โฆษณาทางสื่อมวลชน หรือเผยแพร่ด้วยประการใดเพื่อรับเด็กหรือยกเด็กให้แก่บุคคลอื่นที่มิใช่ญาติของเด็ก เว้นแต่เป็นการกระทำของทางราชการหรือได้รับอนุญาติจากทางราชการแล้ว

(5) บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม ยินยอม หรือกระทำด้วยประการใดให้เด็กไปเป็นขอทาน เด็กเร่ร่อนหรือใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการขอทานหรือการกระทำผิด หรือกระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก

(6) ใช้ จ้าง หรือวานให้เด็กทำงาน หรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อการพัฒนาการของเด็ก

(7) บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬาหรือให้กระทำการใดเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้า อันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็ก หรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก

(8) ใช้หรือยินยอมให้เด็กเล่นการพนันไม่ว่าชนิดใด หรือเข้าไปในสถานที่เล่นการพนัน สถานค้าประเวณี หรือสถานที่ห้ามมิให้เด็กเข้า

(9) บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กแสดงหรือกระทำการอันมีลักษณะลามกอนาจาร ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนหรือเพื่อการใด

(10) จำหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้สุราหรือบุหรี่แก่เด็ก เว้นแต่การปฏิบัติทางการแพทย์

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งมีโทษตามกฎหมายอื่นที่หนักกว่า ก็ให้ลงโทษตามกฎหมายนั้น

มาตรา 78 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 26 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ตามมาตรา 29 กฎหมายได้กำหนดให้ผู้ที่พบเห็นเด็กตกอยู่ในสภาพจำต้องได้รับการสงเคราะห์ หรือคุ้มครองสวัสดิภาพ จะต้องให้การช่วยเหลือเบื้องต้น และแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือผู้ที่มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก โดยไม่ชักช้า

นอกจากนี้ ตามมาตรา 29 วรรคสอง ยังได้กำหนดหน้าที่ให้แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ครูอาจารย์ หรือนายจ้าง ที่พบเห็นเด็กตกอยู่ในสภาพจะต้องได้รับการสงเคราะห์ จะต้องรายงานให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ที่มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก หรือฝ่ายปกครอง หรือตำรวจทราบโดยไม่ชักช้าเช่นกัน

บทสรุปของเรื่องนี้ ค่อนข้างละเอียดอ่อนนะครับ หากตำรวจจะดำเนินการกับแม่ของเด็กอย่างเข้มงวดเกินไป อาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเด็ก หรือทำให้เด็กไม่มีผู้ดูแล แต่หากไม่ดำเนินการอย่างใดๆ เลย อาจจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับครอบครัวอื่นนะครับ ฝากไว้เป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ที่พบเห็นการกระทำที่รุนแรงกับเด็ก สามารถแจ้งให้กับเจ้าหน้าที่ที่กล่าวมาข้างต้นได้นะครับ เพื่อช่วยให้สังคมนี้น่าอยู่มากขึ้น

...

สำหรับใครที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย และต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ