‘ชี-มูล’เฝ้าระวังน้ำหนุน
“บิ๊กตู่” ลงพื้นที่เยี่ยมชาวสกลนคร เร่งหามาตรการป้องกันระยะยาว พร้อมร่วม “บิ๊กคลีนนิ่ง เดย์” และเตรียมจัดงานช่วยน้ำท่วม นครพนมประกาศเขตประสบอุทกภัย 5 อำเภอ พื้นที่ทางการเกษตรเสียหาย 5 แสนไร่ กาฬสินธุ์น้ำจ่อล้นเขื่อนลำปาวเร่งอพยพคน ร้อยเอ็ดเผยยอดตายรวม 4 ราย ส่วนชาวบ้านเริ่มป่วยเป็นโรคน้ำกัดเท้า ด้านกรมชลฯ เตือนลุ่มน้ำมูล-ชีเฝ้าระวังน้ำหนุน
เจ้าหน้าที่ระดมกำลังลงพื้นที่ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมทางภาคเหนือและภาคอีสานกันอย่างต่อเนื่อง จ.สกลนครน้ำยังทรงตัว มวลน้ำไหลเข้า จ.นครพนม จ.กาฬสินธุ์ และ จ.ร้อยเอ็ด ชาวบ้านทุกข์ระทมอยู่บ้านในสภาพติดเกาะ เร่งระดมอพยพกันอย่างทุลักทุเล ขณะเดียวกัน นาข้าวและพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ภาครัฐเร่งเยียวยาหาทางช่วยเหลือ
“บิ๊กตู่” เยี่ยมคนน้ำท่วม
เมื่อเวลา 07.30 น.วันที่ 2 ส.ค. ที่ท่าอากาศยาน 2 กองบิน 6 (บน.6) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายสุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย และ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. เดินทางไปยังค่ายกฤษณ์สีวะรา จ.สกลนคร เพื่อตรวจเยี่ยมประชาชนและติดตามสถานการณ์น้ำท่วม มีนายวิทยา จันทร์ฉลอง ผวจ.สกลนคร และนายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เป็นผู้บรรยายสรุปสถานการณ์ให้ทราบคาดว่า ในวันที่ 4 ส.ค.นี้จะเข้าสู่ภาวะปกติ จากนั้นนายกฯกล่าวว่า วันนี้ไม่ได้มาเพื่อตำหนิใคร แต่มาชื่นชมและขอบคุณทุกคนที่ช่วยกันทำงานอย่างหนัก พายุเซินกาส่งผลไทยได้รับผลกระทบกว่า 35 จังหวัด จ.สกลนครได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด น้ำที่มาจากเทือกเขาภูพานมหาศาล น้ำลงมา 500 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่อ่างห้วยทรายขมิ้นกักเก็บได้แค่ 240 ล้านลูกบาศก์เมตร รับไม่ไหวทำให้เอ่อล้น และต้องระบายน้ำออกมา ส่วนที่ทางราชการชี้แจงว่ารับไหวนั้น เพราะคิดว่าฝนจะตกไม่มากขนาดนี้ ดังนั้นความเข้าใจของประชาชนจึงสำคัญ
...
ทรงแนะปลูกหญ้าแฝกริมอ่าง
นายกฯกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งมาว่า ขอให้ช่วยกันทำให้สถานการณ์ดีขึ้นโดยเร็ว ให้รัฐบาลมองการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นให้ได้ รวมถึงทรงห่วงใยเรื่องการกักเก็บน้ำในทุกพื้นที่สำรวจความแข็งแรงของเขื่อนต่างๆให้เพิ่มขึ้น อีกประการที่พระองค์ท่านรับสั่งคือให้ช่วยกันหาหญ้าแฝกปลูกไว้ริมอ่าง เราเองต้องรับใส่เกล้าไว้ รวมถึงการขุดลอกทางระบายน้ำต่างๆ รับสั่งให้นำแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานไว้มาแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน พระองค์ท่านทรงติดตามรับทราบทุกอย่าง มีอะไรที่สถาบันพอจะช่วยได้จะพระราชทานความช่วยเหลือมาให้ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งศูนย์อาหารประชาชน ศูนย์อาหารสัตว์ และพระราชทานไว้กับเราเรื่องของโครงการจิตอาสา ทรงเข้าใจถึงปัญหาทั้งหมด และเราเป็นข้าราชการของพระองค์ต้องทำงานให้สมศักดิ์ศรี
สั่งปรับอ่างห้วยทรายขมิ้น
นายกฯกล่าวต่อว่า ต่อไปเมื่อมีน้ำท่วมก็มีปัญหาน้ำแล้งเพราะเราไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยรับสั่งไว้แล้วว่าไทยไม่ได้ขาดน้ำ แต่มีปัญหาเรื่องการกักเก็บน้ำต่างหาก อันนี้คงโทษใครไม่ได้ ต้องกำหนดให้ได้ว่าพื้นที่ไหนเป็นที่ลุ่ม ที่ดอน ที่น้ำท่วม ที่แล้งซ้ำซาก ทิศทางน้ำต้องทำใหม่ทั้งหมด อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นเมื่อซ่อมแซมแล้ว ต้องดูกันว่าจะสามารถทำให้กักเก็บได้เพิ่มหรือไม่ จะให้ทหารมาช่วยจะได้เสร็จเร็วขึ้น แต่ไม่ได้มาแย่งงาน ส่วนลําน้ำก่ำและลำน้ำอูนขอให้ไปดูด้วยว่าจะเพิ่มมาตรการกักเก็บน้ำได้อย่างไร สำหรับการฟื้นฟูช่วยเหลือระยะยาวมีหลายมาตรการ ต้องทำให้รวดเร็วและต้องเร่งสำรวจพื้นที่ อาจต้องใช้วิธีการประชาคมด้วย อาจจะเกิดปัญหาการใช้จ่ายงบประมาณ ขอร้องสื่อด้วยอะไรที่ไม่ถึงกับคอขาดบาดตายอย่าโต้แย้งกันเลย เรื่องเขื่อนแตกไม่แตกมันไร้สาระ น้ำเกินปริมาณที่เราจะรับได้
ย้ำจัดการน้ำเป็นระบบ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ข้าราชการทุกระดับต้องดูแลลูกน้องให้ อย่างคราวที่แล้วมาผู้ว่าฯหน้าขาว วันนี้หน้าดำก็เข้าใจอาจเหนื่อย ถ้าไม่ดำสบายมากล่ะมีเรื่อง คนทำงานจะหน้าขาวไม่ได้ เราต้องช่วยกันเหมือนนิ้วมือทั้งห้านิ้ว ฝากกำลังใจถึงพี่น้องชาวอีสานด้วย ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ทิ้งคนจน ตนจะดูแลคนจนทุกจังหวัดทั้งประเทศ แต่ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำได้ ขอให้เข้าใจ วันนี้ไม่ต้องชมชอบรัฐบาล แต่ขอให้ชมชอบประเทศของท่านก็พอ เพราะเราต้องเตรียมการรับมือให้ได้ เกิดปัญหาต้องไปแก้ไขถึงโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำการเกษตร อุปโภคบริโภคที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ หากเราแก้ไขแบบวัวหายล้อมคอกคงไม่ได้ แต่วันนี้จะสร้างเขื่อนยังลำบากติดปัญหาที่ประชาชนทั้งหมด แต่หากรัฐบาลบังคับใช้กฎหมายเต็มที่เดือดร้อนกันอีก จะปฏิรูปอะไรก็ติดที่ประชาชนทั้งหมด ดังนั้นเราต้องทำความเข้าใจประชาชนให้มากขึ้น
นายกฯร่วม “บิ๊กคลีนนิ่ง เดย์”
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์พร้อมคณะเดินทางไปยังครัวพระราชทานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเยี่ยมศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยที่บริเวณองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร เพื่อให้กำลังใจจิตอาสา เจ้าหน้าที่และมอบถุงยังชีพ พร้อมมอบเงินช่วยเหลือให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยรายละ 50,000 บาท พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า เราต้องอยู่ต่อไปให้ได้ น้ำท่วมถือเป็นภัยธรรมชาติ อยากให้ทุกคนให้กำลังใจต่อกัน โดยเฉพาะครอบครัวที่สูญเสียถึงแก่ชีวิต จากการเข้าช่วยเหลือชาวบ้านจนจมน้ำตายถือเป็นการทำกุศลอย่างยิ่ง แต่เรื่องแบบนี้ไม่มีใครอยากให้เกิด ถือเป็นบทเรียนที่ให้รู้ว่าเราจะต้องอยู่กับธรรมชาติอย่างไร อาจจะไม่เกิดครั้งนี้ครั้งเดียว ฉะนั้นเราต้องไม่มีความขัดแย้งในช่วงนี้เพื่อที่จะช่วยรัฐบาลฟื้นฟูแก้ปัญหาทั้งหมด จากนั้นนายกฯเดินทางไปร่วมกับเจ้าหน้าที่โครงการ “บิ๊ก คลีนนิ่ง เดย์ ย้อมบ้านล้างเมือง” ที่บริเวณด้านหน้าวัดพระธาตุเชิงชุม พร้อมลงมือฉีดน้ำและจับไม้กวาดทำความสะอาดพื้นถนนด้วยตัวเอง ก่อนเข้าไปกราบสักการะองค์พระธาตุเชิงชุม
...
ประกาศพื้นที่ประสบภัย 5 อำเภอ
จ.นครพนม เจ้าหน้าที่ประกาศพื้นที่ประสบอุทกภัย 5 อำเภอประกอบด้วย อ.นาแก อ.วังยาง อ.เรณูนคร อ.ศรีสงคราม และ อ.นาหว้า โดยเฉพาะพื้นที่ ต.พิมาน ต.หนองสังข์ อ.นาแก รวมถึง ต.ยอดชาด อ.วังยาง ที่ติดกับลำน้ำก่ำ รวมถึง ต.ท่าเรือ อ.นาหว้า และ อ.ศรีสงคราม ที่ติดกับลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ยังคงประสบปัญหาน้ำท่วมขังบ้านเรือนมานานกว่าสัปดาห์ เนื่องจากมวลน้ำจากหนองหาร จ.สกลนคร มีปริมาณมากเกินความจุ จากเดิมความจุประมาณ 220 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันมี ประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร ลำนํ้าสาขาที่ไหลระบายมวลน้ำลงสู่น้ำโขงมีปริมาณมากเกินความจุ ทำให้น้ำระบายลงน้ำโขงได้ช้า ตรวจสอบบ้านเรือนเสียหายกว่า 1,000 หลังคาเรือน พื้นที่การเกษตรน้ำท่วม 5 แสนไร่
ลำบากห้องส้วมใช้ไม่ได้
นายเฉลิมชัย จันทร์วงษา หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เปิดเผยว่า มวลน้ำจากพื้นที่ จ.สกลนคร ไหลมาถึงประตูระบายน้ำก่ำตอนล่างจุดสุดท้ายที่ระบายน้ำลงน้ำโขง ระดับน้ำโขงอยู่ที่ประมาณ 10 เมตร ถือว่ายังไม่น่าห่วงมาก เพราะยังสามารถรับน้ำได้อีกมาก นอกจากนี้ ทางชลประทานระดมเครื่องผลักดันน้ำ และเครื่องสูบน้ำเข้ามาช่วยผันน้ำระบายลงน้ำโขงให้มากที่สุด ขณะนี้ระบายน้ำเฉลี่ยวันละ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ระดับน้ำก่ำเริ่มทรงตัว ลดปัญหาเอ่อท่วมบางจุด เพราะน้ำเริ่มระบายลงน้ำโขงได้เร็ว คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาซ้ำอีกในพื้นที่ จะทำให้น้ำลดลงอย่างรวดเร็วและเข้าสู่ภาวะปกติ ด้านนายบุญเรือง นามวงศา อายุ 58 ปี ชาวบ้านหนองสังข์ ต.หนองสังข์ อ.นาแก จ.นครพนม เปิดเผยว่า น้ำไหลท่วมบ้านเร็วมาก ขณะนี้ลำบากห้องน้ำ ห้องส้วมใช้ไม่ได้ ไฟฟ้าถูกตัดขาด บางคนต้องไปอาศัยนอนที่วัด
...
เร่งอพยพคน–สัตว์เลี้ยงไปศูนย์ฯ
สถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ พบว่าเขื่อนลำปาวมีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ 1,681 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 85 ของความจุอ่างระบายน้ำออกวันละ 34 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้น้ำตามลำน้ำสายหลักเช่น ลำน้ำพาน ลำน้ำปาว และลำน้ำชีเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนส่งผลกระทบ 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมือง อ.ยางตลาด อ.กมลาไสย อ.ฆ้องชัย และ อ.ร่องคำ ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ที่บ้านเซียงสา ต.บัวบาน อ.ยางตลาด ติดลำน้ำพานเป็นจุดวิกฤติ ระดับน้ำเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนสูงกว่า 2 เมตร เจ้าหน้าที่เร่งช่วยอพยพคนและสัตว์เลี้ยงออกจากพื้นที่ไปอยู่ศูนย์พักพิงชั่วคราวอย่างต่อเนื่อง
ชาวกาฬสินธุ์รับถุงพระราชทาน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พล.ท.ฐิตะฐาน สุขศรี ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระราชูปถัมภ์ เชิญถุง พระราชทานและเครื่องอุปโภค บริโภคไปมอบแก่ ครอบครัวราษฎรที่ประสบอุทกภัยจากพายุโซนร้อนเซินกาในพื้นที่ อ.นามน และ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ รวม 1,379 ครอบครัว เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและบรรเทาความเดือดร้อนในการดำรงชีพและให้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไป ทำให้ราษฎรปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ สำหรับพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. รวมพื้นที่ความเสียหาย 15 อำเภอ 84 ตำบล 747 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับผลกระทบ 19,717 ครอบครัว
ปิดโรงเรียนน้ำหนุนท่วมขัง
จ.หนองคาย มวลน้ำจากแม่น้ำสงครามยังคงหนุนเข้าลำห้วยคำมิดทะลักท่วมถนน พื้นที่การเกษตร โรงเรียน และบ้านชาวบ้านใน 5 หมู่บ้านใน ต.นาดี อ.เฝ้าไร่ ระดับน้ำเพิ่มขึ้น ถนนสายหลักจาก อ.เฝ้าไร่ ไปยัง อ.โซ่พิสัย ระยะทางประมาณ 100 เมตร น้ำท่วมสูง 30-40 ซม. ที่โรงเรียนบ้านโนนยางดอนเม็ก ต.นาดี น้ำท่วมขังต้องปิดการเรียนการสอนไปจนถึงวันที่ 4 ส.ค. เพื่อความปลอดภัยของนักเรียน สำรวจความเสียหายเบื้องต้นใน ต.นาดี น้ำท่วมบ้านเสียหาย 10 หลังคาเรือน พื้นที่การเกษตรทั้งไร่นา สวนปาล์ม และสวนยางพาราเสียหายกว่า 3,000 ไร่
...
เป็ดไก่ตายกว่า 4,000 ตัว
จ.ศรีสะเกษ อ่างเก็บน้ำหลักที่อยู่ในความดูแลของโครงการชลประทานศรีสะเกษมีทั้งหมด 16 แห่ง รวม 104,469 ไร่ ความจุกักเก็บน้ำของทั้งหมดรวม 207.84 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 16 แห่ง 210.151 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 101.11 เปอร์เซ็นต์ น้ำเต็มและล้นสปิลเวย์ไหลลงสู่พื้นที่ราบลุ่มแล้ว 10 อ่าง ส่วนอ่างที่เหลือมีน้ำ 98 เปอร์เซ็นต์แล้ว หวั่นส่งผลกระทบต่อนาข้าวและถนน ด้านนายอำนวย ปองนาน นายอำเภอประทาย จ.นครราชสีมา ร่วมกับเจ้าหน้าที่ออกสำรวจพื้นที่น้ำเอ่อเข้าท่วมถนนเข้าหมู่บ้านถูกตัดขาด และไร่นาพืชสวนทางการเกษตรได้รับความเสียหายใน ต. ตลาดไทร อ.ประทาย ระดับน้ำสูง 1-2 เมตร บ้านเรือนเสียหาย 700 ครัวเรือน ท่วมนาข้าว 15,000 ไร่ บ่อปลา 20 บ่อ ชาวบ้านช่วยกันย้ายหมู 400 ตัว และควาย 3,000 ตัวไปเลี้ยงที่สูง เป็ดและไก่ตายกว่า 4,000 ตัว เจ้าหน้าที่เร่งให้ความช่วยเหลือ
ร้อยเอ็ดสรุปยอดตาย 4 ราย
นายชยันต์ ศิริมาศ รอง ผวจ.ร้อยเอ็ด ประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย จ.ร้อยเอ็ด สรุปสถานการณ์น้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. ถึงวันที่ 1 ส.ค. พร้อมเปิดเผยว่า ขณะนี้ยกระดับการจัดการสาธารณภัยอยู่ในระดับ 2 ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉินในพื้นที่ 9 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เชียงขวัญ อ.จตุรพักตรพิมาน อ.เกษตรวิสัย อ.ทุ่งเขาหลวง อ.โพธิ์ชัย อ.จังหาร อ.เสลภูมิ อ.เมยวดี และ อ.โพนทอง ราษฎรได้รับความเสียหายรวม 13,515 ครัวเรือน นาข้าว 211,192 ไร่ พืชไร่ 2,600 ไร่ บ่อปลา 40 บ่อ ต้องเฝ้าระวังมวลน้ำจากเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ คาดว่า 3-4 วันน้ำในลำน้ำชีจะมีระดับสูงขึ้น มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์น้ำท่วม 4 ราย ทราบชื่อนายจันทร์ ทิพโชติ อายุ 73 ปี อยู่บ้านเลขที่ 67 หมู่ 1 ต.เชียงใหม่ อ.โพธิ์ชัย หายไปตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค. พบศพในวันที่ 30 ก.ค. นายวิเชียร ดีสงคราม อายุ 62 ปี ชาวบ้านโนนแพง ต.ขวาว อ.เสลภูมิ พบศพวันที่ 31 ก.ค. นายสมจิตร สุทธิไชยา อายุ 36 ปี อยู่บ้านหนองแคน ต.หนองหลวง อ.เสลภูมิ และนายสนิท ไชยดา อายุ 61 ปี ชาวบ้านนาเจริญ ต.ภูเงิน อ.เสลภูมิ พบศพวันที่ 1 ส.ค.นี้
เฝ้าระวังมวลน้ำสมทบ
นายสัญญ์ธวัชช์ ริ้วเหลือง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีระดับสูงขึ้นจนเกือบถึงขั้นต้องเฝ้าระวังที่ระดับ 11.50 เมตร พบว่าระดับน้ำโขงเริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มลดระดับลง หลังจากฝนทางตอนบน และในพื้นที่หยุดตก ถึงแม้จะมีมวลน้ำจาก จ.หนองคาย และ จ.นครพนม ไหลมาสมทบ แต่เนื่องจากแม่น้ำโขงบริเวณจังหวัดมุกดาหารเป็นช่วงกว้างมาก ทำให้มวลน้ำแผ่ขยายออกไป ระดับน้ำโขงอยู่ที่ระดับ 10.34 เมตร มีอัตราการไหลของน้ำอยู่ที่ 23,742 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง
“คำชะโนด” อ่วมเศรษฐกิจทรุด
นายพงษ์ศักดิ์ ศรีชนะ กรรมบริหารคำชะโนด วังนาคินทร์ ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ ที่บ้านโนนเมือง ต.บ้านม่วง อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี กล่าวถึงสถานการณ์ น้ำท่วมว่า ขณะนี้น้ำท่วมขังสูงประมาณ 1 เมตร น้ำเริ่มลดลงแล้ว แต่ส่งผลกระทบกับพ่อค้าแม่ค้าที่ขายเครื่องไหว้ ต้องปิดเงียบเกือบทุกร้าน ทั้งร้านค้าตามริมถนนที่บ้านสันติสุข อ.บ้านดุง ประตูทางเข้าสู่คำชะโนด และร้านค้าภายในบริเวณวัดศิริสุทโธ รวมถึงร้านค้าชุมชนบ้านโนนเมือง ที่จำหน่ายดอกไม้ธูปเทียน สร้างความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลายแสนบาทต่อวัน
ผู้ว่าฯยโสธรวางแนวบิ๊กแบ็ก
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม ผวจ.ยโสธร พร้อมเจ้าหน้าที่ตรวจพื้นที่ถนนริมพนังบุ่งน้อย บุ่งใหญ่ เทศบาลเมืองยโสธร เพื่อประเมินสถานการณ์แม่น้ำชีและวางแนวถุงบิ๊กแบ็ก ตั้งแต่ท่าทรายจั่วเซ้งไปจนถึงลานบุ่งน้อย บุ่งใหญ่ ระยะทางกว่า 1.6 กิโลเมตร สูง 1 เมตร นายบุญธรรมกล่าวว่า น้ำจะอยู่บริเวณย่านเมืองเก่า แนวถนนนครประทุมลงไปจนถึงริมแม่น้ำชี ระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับน้ำมวลใหญ่จากเขื่อนลำปาวได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ จ.ร้อยเอ็ด คาดว่าจะมาถึงพื้นที่ อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด ในช่วงเย็นของวันที่ 2 ส.ค.และคาดว่าน้ำจะไหลมาถึง จ.ยโสธร ภายใน 1-2 วันนี้ นอกจากนี้กรมชลประทานยังสนับสนุนส่งเรือผลักดันน้ำ เพื่อเร่งการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำมูล 8 ลำ ไปอยู่ที่หลังเขื่อนยโสธร 5 ลำ และฝายธาตุน้อย 3 ลำ
โคราชระดับน้ำลดลง
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ภาพรวมยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่เกษตรกรรม ส่วนใหญ่เป็นนาข้าวจมน้ำเสียหาย 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.โนนแดง อ.ประทาย และ อ.เมืองยาง เจ้าหน้าที่เร่งระบายน้ำลงลำน้ำลำสะแทตและลำน้ำมูล ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนประชาชนมีหมู่บ้านเดียวที่อพยพจากบ้านไทยสามัคคี อ.เทพารักษ์ จำนวน 33 ครัวเรือน 100 คน ย้ายมาพักอยู่โรงเรียนบ้านสะพานหิน ทางมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก เลี้ยงอาหารดูแลเป็นอย่างดี คาดภายใน 3 วันน้ำลดชาวบ้านจะได้กลับไปอยู่ที่บ้านตามเดิม
กรมอุตุฯเตือนฝนตกหนัก
ที่ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายเรวัต โตกพุดซา นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการเวรพยากรณ์อากาศประจำวัน เปิดเผยว่า วันที่ 3-6 ส.ค.มีร่องมรสุมจะพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก เฉียงเหนือร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และวันที่ 7-8 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนและด้านตะวันออกของภาค ขอให้ประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำเฝ้าระวังน้ำอาจเอ่อล้นตลิ่ง
ชาวนารวมตัวโวยน้ำท่วม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเกิดเหตุชาวนารวมตัวกัน 200 คน 8 หมู่บ้าน ในพื้นที่ ต.พนมเศษ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ หลังเกิดข้อพิพาทเรื่องทางกั้นน้ำเข้านาข้าว พื้นที่นาข้าวหมู่ 3, 5, 6 และ 8 ทำคันกั้นน้ำป้องกันน้ำท่วมเข้านาข้าวหลายพันไร่ แต่พื้นที่หมู่ 4, 7, 10 และ 11 กลับมีน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตรขังนาข้าว รวมหลายพันไร่ทำให้เกิดความเสียหาย ต่อมาเจ้าหน้าที่หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นเรียกตัวแทนชาวนาของแต่ละหมู่บ้านมาทำข้อตกลงสรุปว่าให้มีการเปิดทางระบายน้ำทุกจุดอย่างเท่าเทียมกัน ให้นาข้าวพื้นที่ด้านล่างทั้งหมดได้รับผลกระทบและเสียหายด้วย มวลน้ำก้อนนี้จะหลากเข้าบึงบอระเพ็ดต่อไป
น้ำล้นฝายบึงบอระเพ็ด
จ.นครสวรรค์ ระดับน้ำในบึงบอระเพ็ดเกินความจุที่ 180 ล้านลูกบาศก์เมตรแล้ว และสูงกว่าสันฝายประมาณ 20 ซม. ทำให้มีมวลน้ำไหลออกเฉลี่ย 80-110 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มวลน้ำนี้จะไหลเข้าสู่คลองบางปรอง ต.ปากน้ำโพ อ.เมืองนครสวรรค์ ก่อนจะไหลลงสู่ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังคงมีมวลน้ำจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ ไหลผ่าน อ.ไพศาลี และ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ ไหลลงสู่บึงบอระเพ็ด ทำให้มีน้ำล้นฝายอย่างต่อเนื่อง อาจจะทำให้บ้านเรือนบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำหรือทางน้ำผ่านได้รับผลกระทบจากน้ำล้นฝายบึงบอระเพ็ดในครั้งนี้ด้วย ขณะที่ชาวบ้านบางเคียน หมู่ 1 ต.บางเคียน อ.ชุมแสง ต้องผลัดเปลี่ยนตระเวนดูแนวคันกั้นน้ำ หลังเสริมคันดินและใช้กระสอบกว่า 1,000 ใบ สร้างแนวกั้นน้ำยาวกว่า 1 กม. ตลอด 24 ชั่วโมง
พิจิตรอ่วม 7 อำเภอ
นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผวจ.พิจิตร ประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติใน 7 อำเภอ ที่ถูกน้ำป่าจาก อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และ อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ ไหลเข้าท่วมในพื้นที่ประกอบด้วย อ.วังทรายพูน 2 ตำบล 12 หมู่บ้าน อ.สากเหล็ก 5 ตำบล 39 หมู่บ้าน อ.ทับคล้อ 4 ตำบล 42 หมู่บ้าน อ.ตะพานหิน 5 ตำบล 27 หมู่บ้าน อ.ดงเจริญ 4 ตำบล 20 หมู่บ้าน และน้ำจากแม่น้ำยมไหลเอ่อท่วมประกอบด้วย อ.โพทะเล 5 ตำบล 10 หมู่บ้าน อ.โพธิ์ประทับช้าง 1 ตำบล 6 หมู่บ้าน ทั้งนี้ จัดสรรวงเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแก่อำเภอทั้ง 7 แห่ง อำเภอละ 500,000 บาท เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ สรุปภาพรวมความเสียหายทั้งจังหวัดได้รับผลกระทบ 11 อำเภอ 41 ตำบล 237 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 98,536 ไร่ บ่อปลา 9 บ่อ บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 1,707 ครัวเรือน
น้ำป่าทะลักท่วมโบสถ์
จ.พังงา หลังฝนตกติดต่อกัน 2-3 วัน ทำให้น้ำป่าที่ไหลมาจากที่ราบสูง อ.กะปง ลงสู่แม่น้ำตะกั่วป่าระบาย ลงสู่ทะเลอันดามันระดับน้ำสูง ทำให้เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่หมู่ 5 บ้านนาป่ากอ ต.โคกเคียน บ้านเรือนถูกน้ำท่วม 20 หลังคาเรือน และหมู่ 1 บ้านป่ากอ หมู่ 2 บ้านบางไทร ต.บางไทร อ.ตะกั่วป่า มีบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วม 10 หลังคาเรือน ชาวบ้านเก็บข้าวของเครื่องใช้ อุปกรณ์ไฟฟ้า และเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยง วัว ควายและไก่ไปอยู่บนที่สูง ส่วนวัดศรีนิคม (หรือหัวสะพาน) อ.ตะกั่วป่า ถูกน้ำท่วมรอบบริเวณโบสถ์และกุฏิ ระดับน้ำสูง 40-50 ซม.
เผยลุ่มน้ำชี–มูล เฝ้าระวัง
นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรม ชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคอีสาน ปัจจุบันปริมาณน้ำในลำน้ำสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำชี อ.เมืองยโสธร ล้นตลิ่งอยู่ 1 เมตร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ก่อนไหลเข้าสู่เขื่อนยโสธร จะมีผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรรวมถึงลำน้ำสาขาของแม่น้ำชี ได้แก่ ลำน้ำพอง ลำน้ำลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 344 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ลำน้ำสงคราม จ.อุดรธานี ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 1.39 เมตร ลำน้ำยัง ลำน้ำห้วยหลวง และลำน้ำ เลยมีระดับน้ำล้นตลิ่งบางแห่ง ทั้งนี้ กรมชลประทานจะเร่งระบายลงแม่น้ำมูลต่อไป
สำหรับลุ่มน้ำมูลมีน้ำล้นตลิ่งที่ลำเซบาย ลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูลก่อนถึงสถานีวัดน้ำ M.7 ที่ อ.เมืองอุบลราชธานี ปัจจุบันแม่น้ำมูลที่สถานีวัดน้ำมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,414 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับสูงกว่าตลิ่ง 0.19 เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นรวมถึงลำเซบก ลำโดมใหญ่ที่อยู่ท้ายสถานี M.7 มีระดับน้ำล้นตลิ่งบางแห่งกรมชลประทานติดตามเฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ทันเหตุการณ์
รัฐจัดงานช่วยน้ำท่วม
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงาน “ประชารัฐร่วมใจ ใต้ร่มพระบารมี” เพื่อรับบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายออมสินกล่าวว่า เป็นไปตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ประชาชน จัดงานในวันที่ 4 ส.ค. เวลา 18.00- 19.30น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยรูปแบบการจัดงาน นายกฯจะมารับบริจาคเงินด้วยตนเองและร่วมกับ ครม. รับบริจาคผ่านทางโทรศัพท์ หมายเลขโทรศัพท์พิเศษ 0-2356-0303 ระบบอัตโนมัติ 30 คู่สาย สำหรับประชาชนที่ต้องการร่วมบริจาคสามารถลงทะเบียนล่วงหน้า ติดต่อที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หมายเลข 0-2283-4193, 0-2283-4180 และ 0-2283-4931 และผู้บริจาคสามารถนำหลักฐานในการบริจาคไปใช้แสดงการขอลดหย่อนภาษีได้ รวมถึงสามารถบริจาคผ่านกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี หรือบริจาคเงินโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาทำเนียบรัฐบาล เลขที่บัญชี 067-0-06895-0