"บิ๊กเต่า" สั่งหน่วยงานในสังกัด ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมเต็มที่ จัดยานพาหนะอุปกรณ์สนับสนุนพื้นที่ โดยเฉพาะเส้นทางถูกตัดขาด กำชับเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการ เฝ้าระวังและเตือนภัยล่วงหน้าน้ำหลาก-ดินถล่ม ตลอด 24 ชม.
เมื่อวันที่ 2 ส.ค. พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุเซินกา ที่เคลื่อนตัวเข้าปกคลุมทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของไทย ส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างหนักใน 19 จังหวัดขณะนี้ จึงได้สั่งการให้ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดของกระทรวง โดยเฉพาะผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ทั้งภาคเหนือและอีสาน ที่เป็นศูนย์ประสานงาน ทส.ในพื้นที่ ให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้อย่างเต็มที่
สำหรับกำลังพลที่จะเข้าไปช่วยเหลือราษฎรซึ่งประสบภัยนั้น ให้ประสานเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) และเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ (ปม.) ให้ความร่วมมือ และสำนักการบิน เตรียมยานพาหนะ สนับสนุนภารกิจตามความเหมาะสม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เส้นทางถูกตัดขาดเข้าถึงได้ยาก รวมถึงพื้นที่ที่ประสบปัญหาหนัก เช่น จ.สกลนคร จ.อำนาจเจริญ นอกจากนี้ยังกำชับให้ ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เกาะติดสถานการณ์ในพื้นที่และรายงานสถานการณ์ความคืบหน้าเป็นระยะ อีกทั้งหลังน้ำลดให้เร่งสำรวจความเสียหายพร้อมแจ้งหน่วยงานต้นสังกัดต่อไป
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้แต่ละหน่วยงานได้ลงพื้นที่ไปบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบอุทกภัยมาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูผายล รายงานผลการปฏิบัติงานตามนโยบายดังกล่าวระหว่างวันที่ 29-30 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ภูผายล เข้าช่วยเหลือราษฎรผู้ประสบภัยน้ำท่วม 2 จุด บริเวณสามแยกอำเภอเต่างอย จ.สกลนคร และบริเวณเส้นทางบ้านกกตูม ต.กกตูม-บ้านมะนาว ต.พังแดง อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร
...
ขณะเดียวกัน กรมทรัพยากรน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 3 จ.อุดรธานี ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ บริเวณที่เป็นจุดเสี่ยงน้ำท่วมขังและน้ำท่วมขังซ้ำซาก 5 แห่ง ในเขตเทศบาลนครอุดรฯ และเขตเทศบาลรอบนอก พร้อมกันนี้ได้สนับสนุนน้ำดื่ม 2,000 ขวดช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมจังหวัดสกลนครอีกด้วย
ในส่วนของสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 4 มอบหมายเจ้าหน้าที่ส่วนบริหารจัดการน้ำ นำเครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้ว 1 ชุดออกไปสูบน้ำช่วยเหลือราษฎรที่น้ำท่วมบ้านโนนตุ่น ต.ดอนหัน อ.เมือง จ.ขอนแก่น ขณะที่สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 5 ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยใกล้ชิด และติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้ว ในเทศบาล ต.หัวทะเล 2 ชุด และองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวศาลา บ้านจามจุรีจำนวน 1 ชุด เพื่อเตรียมการกรณีน้ำท่วมขังตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมามอบหมาย
อีกทั้งยังได้มีการกำชับเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและเตือนภัยล่วงหน้าน้ำหลาก-ดินถล่ม (Early Warning System) ให้ติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ทันท่วงที โดยประชาชนสามารถติดตามข้อมูลสถานการณ์อุทกภัยได้ทางเว็บไซต์ http://mekhala.dwr.go.th/
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ในสังกัด ทส. ทุกพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งให้การสนับสนุน ร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่อย่างเร่งด่วนเต็มกำลัง อาทิ นำกำลังพล ยานพาหนะเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และจัดกำลังเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำท่วม จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ร่วมบริจาคน้ำดื่ม พร้อมทั้งสิ่งของอุปโภค-บริโภค และมอบเงินสดให้กับผู้ประสบอุทกภัย ส่งรถผลิตน้ำบาดาลสะอาดและจัดหาภาชนะบรรจุน้ำแจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งสำรวจและพัฒนาบ่อน้ำบาดาลให้สามารถนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ได้ และจัดกำลังเจ้าหน้าที่อีกส่วนหนึ่งเข้าช่วยทำความสะอาดเก็บขยะและกวาดถนนในพื้นที่ที่น้ำลดลงแล้ว
พร้อมย้ำการแก้ปัญหาอุทกภัยขณะนี้ ได้มอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่ ทส.บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดูแลช่วยเหลือในระยะนี้เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าระยะสั้น โดยจะติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบเหตุอย่างทันท่วงที พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการดูแลความปลอดภัยและประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำ
“หลังสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ต้องวางแผนระยะยาว ป้องกันไม่เกิดเหตุซ้ำอีก ซึ่งจะเน้นย้ำเรื่องการทำความเข้าใจสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนให้ดูแลพื้นที่ป่า รักษ์สิ่งแวดล้อมต้นน้ำในชุมชนอย่างจริงจัง ที่สำคัญคือ การเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งการรักษ์ผืนป่า บริหารจัดการน้ำ ป้องกันน้ำท่วมน้ำแล้ง เพราะการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเท่ากับสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ เกิดความหวงแหน ช่วยกันรักษาเป็นหูเป็นตา ลดการทำลายป่า สิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน ผลที่ตามมาก็คือลดความสูญเสีย เสียหายจากภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำแล้ง น้ำท่วมได้อย่างเป็นรูปธรรมในที่สุด” รมว.ทส.กล่าว
...