เบสท์ ณัฐสิทธิ์ โพสต์เดือด ความภูมิใจแบบผิดๆ หลังมีหนุ่มลงคลิปหนังสยามสแควร์ทั้งเรื่องคนชมนับล้านวิว อวดความภูมิใจ ด้าน นักกฎหมาย ระบุ ละเมิดลิขสิทธิ์มีโทษหนักทั้งจำทั้งปรับ เจ้าของหนังต้องเป็นผู้ดำเนินคดี...
เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าภาคภูมิใจเท่าไร เมื่อหนุ่มคนหนึ่งได้โพสต์คลิปวิดีโอภาพยนตร์ไทยชื่อดัง ‘สยามสแควร์’ ลงบนเฟซบุ๊กเรียกยอดไลค์ยอดแชร์ถึงขนาดที่ว่า โพสต์อวดถึงความภูมิใจที่มีคนเข้าชมนับล้านวิว ร้อนถึงหนุ่มเบสท์ ณัฐสิทธิ์ โกฏิมนัสวนิชย์ นักแสดงในภาพยนตร์ดังกล่าว ออกโรงโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ Nathasit Kotimanuswanich ระบุว่า “นี่คือตัวอย่างของความภาคภูมิใจแบบผิดๆ นะครับ น่าเศร้าใจนัก” หลังจากนั้น อีกไม่ถึงหนึ่งวันเฟซบุ๊กได้ลบคลิปวิดีโอดังกล่าวออกจากระบบ
ขณะที่ในส่วนของเรื่องทางกฎหมายนั้น แหล่งข่าวนักกฎหมายในด้านทรัพย์สินทางปัญญา ได้ให้ข้อมูลกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ถึงกรณีดังกล่าวนี้ ว่า เข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 28 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึกเสียงอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5) ทั้งนี้ ไม่ว่าในส่วนที่เป็นเสียงและหรือภาพ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้ (1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง หรือ (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
...
และเข้าข่ายมาตรา 29 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานแพร่เสียงแพร่ภาพอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 15 (5) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้ (1) จัดทำโสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน (2) แพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน (3) จัดให้ประชาชนฟังและหรือชมงานแพร่เสียงแพร่ภาพ โดยเรียกเก็บเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นในทางการค้า
แม้จะไม่ได้เรียกรับผลประโยชน์โดยตรงจากการได้เงินเมื่อเข้ามารับชมงานภาพยนต์ตาม (3) แต่อาจจะได้ผลประโยชน์ในทางอ้อม เช่น มีคนมากดไลค์เพิ่มมากขึ้น มีผู้ติดตามเพิ่มมากขึ้นด้วย
สำหรับบทลงโทษ ตามมาตรา 69 ผู้ใดกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงตามมาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 30 หรือมาตรา 52 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท แต่หากทำเพื่อการค้ามีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะที่ ทางเฟซบุ๊กซึ่งเป็นผู้ให้บริการได้ทำการลบคลิปวิดีโอภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวแล้ว ทำให้ในทางกฎหมายเฟซบุ๊กไม่ถือว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิด และไม่ต้องรับผิดเกี่ยวกับการกระทำที่อ้างว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม กรณีการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ผู้ที่จะดำเนินการทางกฎหมายได้ จะต้องเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เท่านั้น หากเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ดำเนินการก็ทำอะไรกับผู้ละเมิดมิได้.