สวัสดีผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มาคุยกันในเรื่องของการกระทบกระทั่งกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีประเด็นข้อตกเถียงกันมากครับ ในเรื่องอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจขอตรวจสอบใบอนุญาตขับขี่หรือไม่ มีอำนาจเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ ยึดรถ ยึดกุญแจรถ หรือยึดเล่มทะเบียนรถหรือไม่
ประเด็นที่มีข้อถกเถียงกันมาก และเป็นปัญหาที่มีประชาชนร้องเรียนมากที่สุด คือ การตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ หรือจุดสกัด โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา ซึ่งเรียกกันจนติดปากว่า "ด่านลอย"
ในประเด็นเรื่องด่านลอยนี้ มีประชาชนร้องเรียนในเรื่องของการสุ่มจับ หรือเรียกรถหยุดอย่างกะทันหัน เรียกหรือรับผลประโยชน์จากผู้ใช้รถใช้ถนน ตั้งจุดตรวจโดยไม่มีนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรเป็นหัวหน้าควบคุม เป็นต้น ทำให้พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีต ผบ.ตร. มีบันทึกข้อความของส่วนราชการ ตร. ที่ 0007.34/5578 วันที่ 13 ธันวาคม 2556 เรื่อง กำชับมาตรการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด
ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจจุดตรวจและจุดสกัดเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีมาตรฐานอย่างเป็นระบบ สามารถสร้างความเชื่อมั่น และภาพลักษณ์ที่ดีในการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนโดยทั่วไป และผู้ใช้รถใช้ถนน
ในการพิจารณาด่านตรวจ จุดตรวจ หรือจุดสกัดว่ามีมาตรการอย่างไรบ้าง และชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น สามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดได้ตามลิงก์นี้ http://www.police6.go.th/police6/pdf/checkpoin_2_5578_13122556.pdf ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ หรือไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่มีคำสั่งหรือระเบียบกำหนดไว้ ก็อาจจะมีความผิดทางวินัย และรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญาได้เช่นกันครับ
...
ในประเด็นเรื่องเจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจขอตรวจสอบใบอนุญาตขับขี่ หรือไม่มีอำนาจเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่นั้น หากเจ้าหน้าที่ตำรวจพบการกระทำความผิด อันเป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าหน้าที่ตำรวจย่อมมีอำนาจในการขอตรวจสอบใบอนุญาตขับขี่ รวมไปถึงมีอำนาจออกใบสั่งและเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 140 วรรคสาม ในการออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานจราจร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ไว้เป็นการชั่วคราวก็ได้ แต่ต้องออกใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่ให้แก่ผู้ขับขี่ไว้ และเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องรีบนำใบอนุญาตขับขี่ที่เรียกเก็บไว้ ไปส่งมอบพนักงานสอบสวนภายในแปดชั่วโมง นับแต่เวลาที่ออกใบสั่ง
ใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่ที่ออกให้ตามวรรคสาม ให้ใช้แทนใบอนุญาตขับขี่ได้เป็นการชั่วคราวไม่เกินเจ็ดวัน เมื่อเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานสอบสวนได้ว่ากล่าวตักเตือนหรือทำการเปรียบเทียบปรับ และผู้ขับขี่ได้ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบแล้ว ให้คืนใบอนุญาตขับขี่ทันที
หากล่วงเกินเจ็ดวันไปแล้ว ท่านไม่ไปชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบปรับ เมื่อท่านขับรถไปตามถนนหลวง ท่านก็จะมีความผิดในข้อหาขับรถ โดยไม่พกพาใบอนุญาตขับขี่ได้นะครับ
แต่ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีอำนาจในการยึดรถ ยึดกุญแจรถ หรือยึดเล่มทะเบียนรถนะครับ เนื่องจากตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกไม่ได้ให้อำนาจไว้ ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะอ้างอำนาจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ยึดไว้เพื่อตรวจสอบ หรือเป็นของกลาง ซึ่งส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวครับ
ส่วนในกรณีที่ผู้ขับขี่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่แสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่อนุญาตให้ขับรถออกไป ซึ่งกรณีนี้ไม่ใช่การยึดรถนะครับ เนื่องจากตามกฎหมายพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 42 ผู้ขับรถต้องได้รับใบอนุญาตขับรถ และต้องมีใบอนุญาตขับรถและสำเนาภาพถ่ายใบคู่มือจดทะเบียนรถในขณะขับ หรือควบคุมผู้ฝึกหัดขับรถ เพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานได้ทันที เว้นแต่ผู้ฝึกหัดขับรถยนต์ตามมาตรา 57 ดังนั้น ในกรณีนี้จะต้องให้ผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่มาขับรถออกไปครับ
อีกประเด็นหนึ่งที่มีปัญหากันมาก คือ ผู้ขับขี่ไม่ยอมยื่นใบอนุญาตขับขี่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบ โดยออกมาแสดงในลักษณะโชว์ แต่ไม่ยอมยื่นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ถึงที่ตำรวจไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใบอนุญาตขับขี่ดังกล่าวนั้นเป็นของจริงหรือไม่ กรมการขนส่งทางบกออกให้เมื่อไหร่ และหมดอายุแล้วหรือยัง มีการนำภาพปิดทับภาพของผู้ที่ได้รับอนุญาตขับขี่หรือไม่
ในกรณีนี้ผู้ขับขี่อาจจะถูกแจ้งข้อกล่าวหา ในความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ผู้ใดทราบคำสั่งของเจ้าพนักงาน ซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2558]
อย่างไรก็ตาม หากท่านตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ควรจะไปโต้เถียงนะครับ เนื่องจากท่านอาจจะไม่มีความรู้ทางด้านกฎหมายจราจรมากเพียงพอ และอาจจะพลาดใช้ถ้อยคำในลักษณะดูถูกเหยียดหยามเจ้าพนักงานจนท่านอาจจะต้องถูกแจ้งข้อกล่าวหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานเพิ่มเติมอีก ทางแก้คือ ท่านสามารถร้องเรียนไปที่ผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ตำรวจท่านนั้นโดยตรง สังเกตป้ายหยุดตรวจของทุกด่านตรวจ จุดตรวจ หรือจุดสกัด จะมีเบอร์โทรของผู้กำกับสถานีติดอยู่ หรือรับใบสั่งมาก่อน แล้วค่อยไปร้องเรียน เพื่อโต้แย้งในภายหลังครับ
...
สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย และต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ
Facebook: ทนายเจมส์ LK