เปิดข้อสงสัยทำไมคนไทยชอบเขียนผิด ด้านอาจารย์ภาษาไทย ชี้ เทคโนโลยี-สื่อมวลชน มีผลอย่างมาก แนะเช็กคำก่อนเขียน จะได้ไม่หน้าแตก

เคยหงุดเหงิดไหมเวลาที่เห็นคนใช้คำว่า “คะ” กับ “ค่ะ” สลับกัน เชื่อเลยว่าปัญหาดังกล่าวยังคงเป็นปัญหาที่พบเจออย่างมากในคนไทย และที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ ยังคงมีคำอีกหลายคำที่ใช้กันบ่อยในชีวิตประจำวันแต่คนส่วนมากก็ยังเขียนผิด และเกิดข้อถกเถียงว่า เขียนแบบใดจึงจะถูกต้องกันแน่ ยกตัวอย่างคำใกล้ตัวที่หลายคนพบเจออย่างมากเวลาอ่านข่าวและฟังข่าว เช่นคำว่า ผัดฟ้อง กับ ผลัดฟ้อง และคำว่า อลาสก้า และ อะแลสกา หากจะเขียนให้ถูกต้องเขียนแบบไหนกันแน่ 


อาจารย์กันต์รพี สมจิตร์ ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าสิ่งใดที่มีการใช้ย่อมมีการปลี่ยนแปลงควบคู่ไปด้วยซึ่งมีทั้งดีและไม่ดี ภาษาก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีการใช้ก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออกเสียง การใช้คำผิดไวยากรณ์ การใช้คำที่มีความหมายกำกวม รวมไปถึงการเขียนคำผิด และในปัจจุบันก็มีคำไม่น้อยเลยที่คนมักจะเขียนผิดทั้งที่เป็นคำที่ใช้บ่อยหรือเป็นคนที่คุ้นเคยกันดี 

...

“คำที่คนใช้ผิดกันอย่างคำว่า ผัดฟ้อง กับ ผลัดฟ้อง ซึ่งเป็นคำทางด้านกฎหมาย โดยคำที่ถูกต้องเขียนว่า ผัดฟ้อง หมายถึงคดีที่กฎหมายกำหนดให้ฟ้องผู้ต้องหาภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่ทันก็ขอเลื่อนการฟ้องไปก่อน และยังมีคำว่า ผัด ที่คนเขียนผิดกันบ่อยก็คือ คำว่า ผัดวันประกันพรุ่ง ซึ่งเขียนเหมือนกับคำว่า ผัดฟ้อง จำง่ายๆ ก็คือ ‘ผัด’ ใช้กับการ ‘เลื่อน’ ออกไปก่อน ส่วนคำว่า ‘ผลัด’ ใช้กับการ ‘เปลี่ยน’ เช่นคำว่า ผลัดผ้า หรือ เปลี่ยนเสื้อผ้า”

สำหรับสาเหตุที่ทำให้คนเขียนคำผิดนั้น อาจารย์กันต์รพี ให้ความเห็นว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความคุ้นเคยจากการที่เห็นคนอื่นเขียนผิดมา โดยเฉพาะเห็นจากสื่อโฆษณาต่างๆ เมื่อคนเห็นจึงมีการใช้ตาม หรือในบางกรณีคือเขียนผิดเพราะไม่รู้จริงๆ ว่าคำที่ถูกต้องเขียนอย่างไร 

“ปัจจุบันเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันอย่างมาก โดยเฉพาะโปรแกรมแชตต่างๆ ที่ต้องอาศัยการสื่อสารที่รวดเร็วก็อาจทำให้เผลอไปกดแป้นพิมพ์ผิด หรือคำบางคำที่เขียนยาวไปก็อาจจะตัดให้เหลือสั้นลง เข้าใจง่ายขึ้นเพื่อความสะดวกรวดเร็ว”

หากถามว่าการเขียนตัดคำผิดมากไหม ตนอยากจะให้ทำความเข้าใจก่อนว่าหากตัดสินตามหลักวิชาการก็คือสิ่งที่ผิด แต่ถ้าเป็นการคุยกันอย่างไม่เป็นทางการก็สามารถใช้ได้ หากจะบอกว่าผิดก็พูดได้ไม่เต็มที่ แต่เหนือสิ่งอื่นใดเราต้องรู้ด้วยว่าคำที่เขียนถูกต้องจริงๆ เขียนอย่างไรและควรใช้ให้ถูกกาลเทศะ แต่ในบางครั้งการที่ใช้ภาษาแชตบ่อยๆ ก็ทำให้เกิดความคุ้นเคยและนำไปใช้ผิดๆ อยู่เหมือนกัน อย่างเช่น นิสิตบางคนมีการใช้คำว่า เทอร์ (เธอ) ใช้เขียนในข้อสอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องแล้ว หรือคำว่า นู๋ (หนู) และคำว่า ป่าว (เปล่า) 

“ในบางครั้งเมื่อพบคนสะกดผิดหรือเขียนผิดเราอาจจะไปเตือนเขาตรงๆไม่ได้ทุกครั้ง ยกตัวย่างเช่น การที่พบนิสิตเขียนผิดในห้องเรียน ครูอาจจะแนะนำคำที่ถูกต้องให้ได้ แต่หากเป็นการโพสต์สาธารณะเราอาจเข้าไปเตือนไม่ได้ ต้องเป็นเรื่องที่เขาควรรู้ด้วยตนเอง เช่นเดียวกับเวลาที่เราไปตามร้านอาหารแล้วเมนูของร้านมีการเขียนผิดก็อาจเข้าไม่เตือนเขาตรงๆไม่ได้

คำถือเป็นหน่วยทางภาษาที่เล็กที่สุด หากเราใช้คำผิดจะทำให้หน่วยใหญ่เช่นการใช้ประโยค การใช้วลี ผิดพลาดไปด้วย การเขียนเป็นการถ่ายทอดความรู้ ความคิด ประสบการณ์ อารมณ์ต่างๆ ให้อีกฝ่ายเข้าใจ แต่อีกฝ่ายจะเข้าใจได้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของผู้ใช้ ดังนั้นเราควรเขียนให้ถูกและถูกกาลเทศะ เพราะมันเป็นเสน่ห์ของผู้เขียนและยังแสดงให้เห็นว่าผู้เขียนหรือผู้ใช้ภาษาเป็นผู้มีประสิทธิภาพ”

...

อาจารย์กันต์รพี กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเทคโนทันสมัยมาก คนส่วนใหญ่มีสมาร์ทโฟนก็สามารถเข้าไปพิมพ์คำที่ต้องการรู้ ในอินเทอร์เน็ต หรือสามารถโหลดแอปพลิเคชันราชบัณฑิตยสภา มาใช้ได้ เช่นค้นหาคำว่า อะแลสกา ซึ่งคนส่วนมากใช้ว่า อะลาสก้า แต่หากใครไม่สะดวกใช้เทคโนโลยีก็สามารถหาหนังสือมาใช้ได้เช่นเดียวกัน เช่น หนังสือคำง่ายชอบใช้ผิด, หนังสือเขียนให้ถูก ใช้ให้เป็น, หนังสือคำทับศัพท์มาตรวจสอบคำที่ถูกต้องได้ ซึ่งสามารถใช้ได้หลายช่องทาง และสิ่งที่สำคัญอย่างมากก็สื่อมวลชนที่ต้องให้ความรู้และใช้คำที่ถูกต้องนั่นเอง.