การที่ประเทศสหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการลดโลกร้อนและควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อาจจะส่งผลต่อประเทศหมู่เกาะบางแห่งไม่สามารถอยู่รอดได้ภายในอีก 100 ปีข้างหน้า ซึ่งบรรดาผู้นำของประเทศหมู่เกาะต่างๆ หวังว่ามาตรการการควบคุมมลพิษที่รุนแรงของประเทศจีน รวมทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ กำลังได้รับการปรับปรุง โดยคาดหวังว่าชาติในยุโรปน่าจะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของสาธารณรัฐปาเลา ซึ่งเป็นประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งอยู่ทางตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ราว 500 กิโลเมตร เผยว่า ตอนนี้เกาะบางส่วนหายไปแล้ว และเกาะขนาดเล็กอาจหายไปได้ในหลายๆกรณีหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ขณะกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้เพิกเฉยกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกำลังพิจารณาความร่วมมือกับประเทศอื่นๆในการป้องกันภาวะโลกร้อน ด้วยการมุ่งมั่นลดอุณหภูมิโลก 2 องศาเซลเซียส

ด้านประธานคณะกรรมการควบคุมสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ นายจิม สเคีย เผยว่า หมู่เกาะขนาดเล็กเป็นพื้นที่ที่เปราะบางที่สุดในโลก หากอุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ก็จะเป็นภัยคุกคามบรรดาหมู่เกาะอย่างเฉียบพลัน นอกจากจะเป็นอันตรายต่อแนวปะการังยังส่งผลถึงเศรษฐกิจความเป็นอยู่ของประชากรในประเทศและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สนามบิน ท่าเรือต่างๆ เนื่องจากประเทศหมู่เกาะเล็กๆต้องพึ่งพาการทำประมงและการท่องเที่ยว แม้จะมีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ออกโครงการที่เรียกว่า “1.5 to stay alive” เพื่อการต่อสู้กับอุณหภูมิที่สูงขึ้น 1.5 องศาฯ แต่พวกเขาก็ยอมรับว่าอาจยังไม่ได้ผลเต็มที่นัก.