คำสั่งฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ที่ห้ามผู้คนจาก 6 ชาติมุสลิม ประกอบด้วย อิหร่าน ลิเบีย ซีเรีย โซมาเลีย ซูดาน และเยเมน เข้าสหรัฐฯนาน 90 วัน และห้ามผู้อพยพทั้งหมดเข้าสหรัฐฯ 120 วัน มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อเวลา 20.00 น.วันที่ 29 มิ.ย. หรือตรงกับราว 07.00น. วันที่ 30 มิ.ย.ตามเวลาในไทย ทั้งนี้หลังศาลฎีกาของสหรัฐฯตัดสินให้ดำเนินการได้ แต่ยกเว้นให้ผู้มีเครือญาติใกล้ชิดกับคนในสหรัฐฯ หรือผู้มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือการศึกษาในสหรัฐฯ แต่คำว่าเครือญาติใกล้ชิดยังมีความหมายคลุมเครือ เช่น สามีภรรยา พ่อแม่ ลูกหรือพี่น้องร่วมสายเลือดและอื่นๆ แต่ไม่รวมปู่ย่า ตายาย หลาน ป้าลุง และอื่นๆ
อย่างไรก็ดี รัฐบาลสหรัฐฯได้แก้ไขคำสั่งบริหารในนาทีสุดท้าย โดยเติมคำว่าคู่หมั้น (fiance) เพิ่มใน “ครอบครัวใกล้ชิด” (close family) แต่ไม่รวมปู่ย่า ตายาย ป้าลุง หลานชาย และหลานสาว ขณะที่สำนักงานศุลกากรและป้องกันพรมแดนที่อยู่ภายใต้กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ดูแลด้านการค้าระหว่างประเทศและอื่นๆ รวมทั้งจัดการเรื่องผู้อพยพ คาดการณ์ว่าไม่น่าเกิดปัญหายุ่งยากในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เพราะผู้ถือวีซ่าถูกต้องและมีเอกสารเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรถูกต้อง ไม่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งนี้อยู่แล้ว
แม้ยังไม่พบปัญหาชัดเจนหลังคำสั่งฝ่ายบริหารดังกล่าวเริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการ แต่อัยการสูงสุดรัฐฮาวาย ได้ยื่นคำร้องต่อผู้พิพากษาศาลส่วนกลาง เพื่อให้ทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง เพราะเห็นว่าคำจำกัดความคำว่าครอบครัวใกล้ชิดถูกตีความแบบแคบเกินไปหรือไม่และอาจขัดขวางไม่ให้ผู้คนเข้าสหรัฐฯโดยไม่เหมาะสม
สำหรับคำสั่งฝ่ายบริหารข้างต้น นายทรัมป์ยืนยันจำเป็นต้องมีเพื่อความมั่นคงของชาติและป้องกันเหตุโจมตีก่อการร้ายอย่างที่เกิดในกรุงปารีส (ฝรั่งเศส) กรุงลอนดอน (อังกฤษ) กรุงบรัสเซลส์ (เบลเยียม) กรุงเบอร์ลิน (เยอรมนี) แต่หลายฝ่ายวิจารณ์ว่าเป็นนโยบายที่ไม่ใช่อเมริกันและเกรงกลัวอิสลาม ใช้แก้ปัญหาไม่ได้
...
คำสั่งบริหารฉบับแรกออกเมื่อ 27 ม.ค. ซึ่งรวมเอาอิรักเข้าด้วย เป็นคำสั่งห้ามชาวมุสลิม 7 ประเทศเข้าสหรัฐฯชั่วคราวก่อให้เกิดการประท้วงตามสนามบินทั่วสหรัฐฯ และออกฉบับแก้ไขโดยตัดอิรักออก เมื่อ 6 มี.ค. แต่คำสั่งฝ่ายบริหารถูกยับยั้งโดยกระบวนการชั้นศาลทั้ง 2 ฉบับ กระทั่งศาลสูงอนุมัติดำเนินการได้บางส่วนและคาดว่าจะมีคำตัดสินขั้นสุดท้ายในเดือน ต.ค.