(ภาพ TWITTER/@RIFARH_SHAAROOK)
นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์วัย 18 ปี ชาวอินเดีย สร้างความฮือฮาด้วยการประดิษฐ์ดาวเทียมที่มีน้ำหนักเบาที่สุดในโลกขึ้นมา ซึ่งมันได้รับเลือกจากนาซา ให้ถูกยิงขึ้นไปปฏิบัติภารกิจบนวงโคจรโลกในเดือนหน้า...
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ริฟัต ชารูค วัยรุ่นวัย 18 ปี ชาวอินเดีย แสดงศักยภาพทางวิทยาศาสตร์เหนือชั้นเกินวัย ด้วยการสร้างดาวเทียมที่เชื่อว่ามีน้ำหนักเบาที่สุดในโลก เพียง 64 กรัมขึ้นมา ด้วยเครื่องถ่ายเส้นใยคาร์บอนไฟเบอร์ 3 มิติ โดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐฯ วางแผนจะส่งดาวเทียมดวงนี้ไปปฏิบัติภารกิจบนวงโคจรโลกในเดือน มิ.ย.
ดาวเทียมดวงนี้มีชื่อว่า ‘คาลามแซท’ ตามชื่อของอดีตประธานาธิบดี อับดุล คาลาม แห่งอินเดีย ผู้ริเร่ิมความทะเยอทะยานด้านวิทยาศาสตร์อวกาศของอินเดีย ได้รับเลือกให้ชนะการประกวด ‘คิวบ์ อิน สเปซ’ ที่จัดโดยนาซาและบริษัท ‘ไอดูเดิล’
ริฟัตบอกกับผู้สื่อข่าวว่า สิ่งประดิษฐ์ของเขาจะถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจนาน 4 ชั่วโมงในการบินใต้วงโคจรโลก (sub-orbital flight) และอยู่ในสภาวะเกือบไร้น้ำหนัก (micro-gravity environment) นานประมาณ 12 นาที “เราสร้างมันขึ้นมาจากศูนย์ มันมีออนบอร์ดคอมพิวเตอร์แบบใหม่ กับเซ็นเซอร์ภายใน 8 ตัว เพื่อวัดความเร่ง, การหมุนรอบ และสนามแม่เหล็กโลก”
ทั้งนี้ คาลาแซท ไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์เดียวของริฟัต โดยเขาเคยสร้างบอลลูนฮีเลียมส่งเข้าประกวดการแข่งขันนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ระดับชาติมาแล้ว และตอนนี้ ริฟัต ผู้มาจากเมืองเล็กๆ ในรัฐทมิฬนาฑู กำลังทำหน้าที่หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์กร ‘สเปซ คิดซ์’ ในเมืองเจนไน ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนการศึกษาและวิทยาศาสตร์หรือเด็กๆ และวัยรุ่นในอินเดีย
...