จบลงไปแล้วสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เมื่อวันอังคารที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยผลปรากฏว่า นายมูน แจ-อิน ตัวแทนจากพรรคฝ่ายค้านเป็นผู้กำชัยชนะเหนือคู่แข่งคนอื่นๆ อย่างขาดลอย
วันนี้ ไทยรัฐออนไลน์ จะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับประธานาธิบดีคนใหม่แห่งเกาหลีใต้คนนี้ให้มากขึ้น รู้หรือไม่ว่า นายมูน เป็นบุตรชายของผู้ลี้ภัยจากเกาหลีเหนือ, เคยถูกขังคุกจากการประท้วงต่อต้านผู้นำเผด็จการ บิดาของ นางปาร์ก กึน-เฮ ประธานาธิบดีคนก่อน ซึ่งขณะนี้กลับกลายเป็นฝ่ายที่กำลังถูกคุมขังฐานมีส่วนพัวพันกับคดีทุจริตคอร์รัปชัน และเขามีความฝันอย่างหนึ่งที่อยากทำให้สำเร็จให้ได้

มูน แจ-อิน บุตรชายของผู้ลี้ภัยเกาหลีเหนือ
พ่อแม่ของนายมูนหลบหนีออกจากเกาหลีเหนือระหว่างที่เกิดสงครามเกาหลี และไปตั้งรกรากบนเกาะเกียวเช ทางตอนใต้ ก่อนที่นายมูนจะลืมตาดูโลกในปี ค.ศ. 1953 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่ฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้เซ็นสัญญาพักรบระหว่างกัน โดยตามข้อมูลในอัตชีวประวัติของนายมูน ยอง-ฮยอง บิดาของเขาทำงานอยู่ที่ค่ายกักกันนักโทษสงคราม ส่วน คัง ฮัน-อ๊ก มารดาของเขาขายไข่อยู่ที่เมืองปูซาน
...
ต่อมาในปี ค.ศ. 1972 นายมูนได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยคยองฮี ในสาขากฎหมาย แต่ก็อยู่ที่นั่นได้ไม่นาน เมื่อเขาถูกจับกุมตัวฐานเป็นแกนนำนักศึกษาต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการของประธานาธิบดี ปาร์ก ชอง-ฮี ทำให้เขาถูกไล่ออก และถูกคุมขังเป็นระยะเวลาหนึ่ง
จากนั้นในปี ค.ศ. 1976 นายมูนถูกเกณฑ์เข้ารับราชการทหาร และถูกส่งไปสังกัดปฏิบัติการพิเศษ ซึ่งดูแลคดีที่ชาวเกาหลีเหนือใช้ขวานฆาตกรรมเจ้าหน้าที่อเมริกัน 2 คน ซึ่งรับหน้าที่ตัดต้นไม้ในพื้นที่ความมั่นคงร่วม ภายในเขตปลอดอาวุธระหว่างเกาหลีเหนือและใต้ โดยคนร้ายอ้างว่าต้นไม้ที่เจ้าหน้าที่ตัด ปลูกโดย คิม อิล-ซุง ประธานาธิบดีตลอดการของเกาหลีเหนือ และปู่ของคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดคนปัจจุบัน

ก้าวเข้าสู้เส้นทางกฎหมาย
หลังจากปลดประจำการ นายมูนผ่านการสอบเนติบัณฑิต และได้เข้าศึกษาที่สถาบันศึกษาและฝึกฝนฝ่ายตุลาการ ก่อนจะเรียนจบด้วยคะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในชั้นปี แต่เขาไม่ได้รับเข้าทำงานเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการรัฐ เนื่องจากมีประวัติเคยเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการ เขาจึงเลือกที่จะเป็นทนายความแทน
ในปี 1982 นายมูนกับเพื่อนคือ นายโน มู-ฮยอน ผู้ที่จะได้เป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในอนาคต ร่วมมือกันเปิดสำนักงานกฎหมายขึ้นมาในเมืองปูซาน โดยมุ่งเน้นการว่าความคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเรือนเป็นหลัก นอกจากนี้ ในปี 1988 เขายังเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ ‘ฮันเกียวเรห์’ ซึ่งได้รับการโหวตโดยนักข่าวเกาหลีใต้ว่า เป็นสื่อที่น่าเชื่อถือที่สุดเป็นปีที่ 9 ติดต่อกันในปี 2016 ด้วย

การเริ่มต้นใหม่ภายใต้รัฐบาลโน
นายมู และนายโน กลายเป็นแกนนำสำคัญของกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งแพร่กระจายไปทั่วประเทศ นำไปสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตยครั้งแรกในปี 1987 แต่ในขณะที่ นายโน ตัดสินใจก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมือง นายมูนเลือกที่จะอยู่ในปูซาน และต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยผ่านชั้นศาลต่อไป กระทั่งนายโนชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีในปี 2003 นายมูนจึงยอมมาเป็นที่ปรึกษาระดับสูง และได้รับฉายาว่า ‘เงาของโน’
...
การดำรงตำแหน่งในรัฐบาลโนของนายมูน ใช่ว่าจะปราศจากข้อครหา ในปี 2007 เกิดข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลประธานาธิบดีโน แอบไปเจรจากับเกาหลีเหนือ ก่อนที่เกาหลีใต้จะตัดสินใจไม่เข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติเพื่อโหวตลงมติด้านสิทธิมนุษยชนต่อต้านเกาหลีเหนือ แต่นายมูนปฏิเสธข้อกล่าวหานี้
นอกจากนี้ นายมูน มักถูกล้อเลียนบ่อยๆ ว่า เป็นคนงุ่มง่ามและขี้อายมากๆ ซึ่งดูเหมือนเจ้าตัวจะยอมรับในเรื่องนี้ด้วย “ผมมักรู้สึกอึดอัดอยู่เสมอ ผมรู้สึกว่างานนี้ไม่เหมาะกับผม เหมือนกับผมสวมเสื้อผ้าที่ไม่พอดีตัว ผมคิดเสมอว่าผมจะกลับไปยังที่ของผม ไปเป็นนักกฎหมาย” แต่สุดท้ายเขาก็ไม่ได้ทำเช่นนั้น

สืบทอดเจตนารมณ์ โน มู-ฮยอน
ชีวิตของนายมูนผกผันอีกครั้งในปี 2009 เมื่อนายโน มู-ฮยอน กระโดดหน้าผาฆ่าตัวตาย หลังจากหมดวาระดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ไม่นาน เพราะอับอายที่ตัวเองถูกสอบสวนคดีรับสินบน ซึ่งตรงข้ามกับภาพลักษณ์นักการเมืองมือสะอาดของเขา ในช่วงก่อนจะได้รับเลือกเป็นผู้นำคนที่ 9 ของประเทศมาก
...
นายมูนได้รับผลกระทบอย่างมากจากการเสียชีวิตนายโน โดยเขาเปิดเผยเรื่องนี้ในหนังสือ 'มูน แจ-อิน: พรหมลิขิต' ของเขาว่า “ในตอนที่ผมดื่มสุราเล็กน้อย บางครั้งผมก็หวนนึกถึงวันเก่าๆ ตอนนั้นผมถามตัวเองว่า โน มู-ฮยอน มีความหมายอย่างไรในชีวิตของผม?” “เขาเป็นผู้กำหนดชีวิตของผมจริงๆ ชีวิตของผมคงเปลี่ยนไปจากนี้มากมายหากไม่ได้พบกับเขา ดังนั้นเขาคือพรหมลิขิตของผม”
ด้วยความคิดเช่นนี้ ทำให้นายมูนตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในปี 2012 ตามรอยเท้าของเพื่อนผู้ล่วงลับ ถึงแม้ว่าเขาจะแพ้การเลือกตั้งให้แก่ ปาร์ก กึน-เฮ ลูกสาวของอดีตประธานาธิบดี ปาร์ก ชอง-ฮี ที่เขาเคยร่วมต่อต้านไปอย่างเฉียดฉิว แต่เขาก็ยังได้ตำแหน่ง ส.ส.เมืองปูซาน
แต่ในวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา กว่า 2 ทศวรรษหลังจากเขาเป็นหนึ่งในแกนนำผู้ผลักดันจนเกิดการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตยครั้งแรกในเกาหลีใต้ เขาก็ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี

ความฝันอยากกลับบ้านเกิด
ไม่ว่าจะเป็นเพราะเขาเป็นลูกของผู้อพยพจากเกาหลีเหนือหรือไม่ก็ตาม นายมูนมีนโยบายประนีประนอมกับเกาหลีเหนือมากขึ้น โดยไม่ตัดความสัมพันธ์กันทั้งหมดเหมือนรัฐบาลก่อนๆ แต่จะใช้การเจรจากอปรกับการสร้างแรงกดดัน ซึ่งเขาจะหารือแนวทางปฏิบัติกับผู้นำจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งมีบทบาทสำคัญในปัญหาเกาหลีเหนือในเร็วๆ นี้
...
นายมูน ยังมีความฝันอย่างหนึ่งที่อยากทำให้สำเร็จ คือการกลับไปบ้านเกิดในเกาหลีเหนือ โดยเขาเปิดเผยเรื่องดังกล่าวในหนังสือของเขา ซึ่งเพิ่งเผยแพร่ในปี 2017 ว่า “ผมคิดว่าผมต้องการจบชีวิตของผมที่เมืองฮังนัม ขณะทำงานบริการสังคม” “เมื่อการรวมตัวกันอย่างสันติ (ระหว่างเกาหลีเหนือ-ใต้) มาถึง สิ่งแรกที่ผมอยากทำคือการพาแม่วัย 90 ปี ของผมกลับไปบ้านของเธอ”