ศาลสูงสุดอินเดียพิพากษายืนตามศาลชั้นก่อน ให้ประหารชีวิต 4 ผู้ต้องหาก่อเหตุรุมโทรมข่มขืนนักศึกษาหญิง และทำร้ายเธอจนถึงแก่ความตาย เมื่อปี 2012 ซึ่งทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจไปทั่วโลก...
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ในวันศุกร์ที่ 5 พ.ค. ศาลสูงสุดของประเทศอินเดียมีคำพิพากษาในคดีรุมโทรมข่มขืนนักศึกษาสาวจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต เมื่อปี 2012 โดยตัดสินยืนตามศาลชั้นก่อนหน้านี้ให้ประหารชีวิตชาย 4 คนผู้ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ ท่ามกลางเสียงปรบมือจากญาติของผู้ตายที่เข้ารับฟังการพิจารณาคดีด้วย
“เรามีความยินดีมากที่ศาลสูงสุดรับฟังเสียงของพวกเขา และพวกเขาเข้าใจความเจ็บปวดของ ‘เนียร์บายา’ ในเรื่องนี้ และเธอรวมทั้งประเทศอินเดียก็ได้รับความเป็นธรรมแล้ว” บาดรินาธ สิงห์ บิดาของนักศึกษาหญิงผู้เสียชีวิตบอกกับสื่อที่หน้าศาลสูงสุด โดยใช้ชื่อ เนียร์บายา นามแฝงที่ชาวอินเดียตั้งให้ลูกสาวของเขา มีความหมายว่า ผู้กล้าหาญ
ขณะที่ นางอาชา สิงห์ มารดาของ เนียร์บายา กล่าวว่า “พวกเราต้องร่วมมือกันเพื่อไม่ให้อาชญากรรมแบบที่เกิดขึ้นกับเนียร์บายาเกิดขึ้นซ้ำอีก”
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ปี 2012 หลังจากนักศึกษาหญิงภาควิชากายภาพบำบัดในกรุงนิวเดลี วัย 23 ปี กลับจากชมภาพยนตร์กับเพื่อนชาย โดยทั้งคู่โดยสารรถบัสส่วนบุคคลคันหนึ่งเพื่อเดินทางกลับบ้าน แต่คนขับรถและชายอีก 5 คนบนรถ ซึ่งอยู่ในอาการเมามาย กลับก่อเหตุรุมโทรมหญิงเคราะห์ร้ายรายนี้ ระหว่างที่รถวิ่งไปทั่วเมืองเป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง ก่อนจะทิ้งร่างของทั้ง 2 คนที่ถูกทำร้ายสาหัสไว้ข้างถนน และฝ่ายหญิงเสียชีวิตในอีกหลายวันต่อมา
คดีนี้ทำให้เกิดกระแสความโกรธเกรี้ยวอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประเทศอินเดีย รวมทั้งเรียกความสนใจจากนานาชาติ ผู้คนจำนวนมากออกมารวมตัวประท้วงทั่วประเทศ และเรียกร้องให้รัฐบาลจับกุมตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และแก้กฎหมายให้มีการคุ้มครองสตรีมากขึ้น ซึ่งหลังจากนั้น ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาได้ 6 คน ได้แก่ นายวินัย ชาร์มา, อัคชาย ธาคูร์, ปาวัน กุปตา, มูเคช สิงห์, ราม สิงห์ และผู้เยาว์อีก 1 คน แต่นายรามเสียชีวิตในคุก โดยตำรวจระบุว่าแขวนคอตาย
...
ผู้ใหญ่ทั้ง 4 คนถูกศาลตัดสินประหารชีวิตในเดือน ก.ย. 2013 แต่พวกเขายื่นอุทธรณ์กับศาลสูงสุด ส่วนผู้ต้องหาที่เป็นผู้เยาว์ได้รับโทษเบากว่า
อนึ่ง คดีนี้ส่งผลให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการยุติธรรมขึ้นมาเพื่อออกกฎหมายช่วยลดเหตุความรุนแรงทางเพศ และผ่านกฎหมายเพิ่มโทษผู้กระทำผิด แต่อาชญากรรมลักษณะนี้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ตามสถิติที่รัฐบาลอินเดียเปิดเผยชี้ว่า ในปี 2015 มีจำนวนการแจ้งความในคดีข่มขืนถึง 34,000 ครั้ง เพิ่มจากช่วง 5 ปีที่ผ่านมาถึง 50% โดยกว่า 95% เป็นฝีมือของผู้ที่รู้จักกับเหยื่ออยู่แล้ว