นับต่อจากนี้ไป การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของอังกฤษ จะถูกประวัติศาสตร์จดจำอย่างไม่มีวันลืมลง Brexit คำที่ติดหูของทุกคนในขณะนี้ ได้นำไปสู่จุดจบความสัมพันธ์ของ อังกฤษ และ EU แล้ว ส่งผลทำให้พื้นแผ่นดินยุโรปที่เคยอยู่อย่างเป็นปึกแผ่น สั่นคลอน
ในวันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปพบกับแง่มุมสำคัญๆ ที่ผู้อ่านพลาดไปคงน่าเสียดาย นั่นคือ Brexit จุดเริ่มต้นของระเบิดตัวแรกที่มีอานุภาพมหาศาล จนก่อให้เกิดผลกระทบ และเห็นวี่แววการล่มสลายของกลุ่มประเทศผู้แข็งแกร่ง อย่าง EU ก็เป็นได้…นำโดยนักวิชาการถึง 4 ท่าน ได้แก่ 1. ผศ.ดร.ณัฐนันท์ คุณมาศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2. อาจารย์วิโรจน์ อาลี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3. อาจารย์วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ 4. อาจารย์ ดร.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งให้เกียรติมาพูดคุยในวงเสวนาวิชาการในหัวข้อ “จะอยู่หรือจะไป : Brexit กับชะตากรรมของสหภาพยุโรป” ที่จัดขึ้นโดยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา
จุดกำเนิดก่อร่างสร้างตัวเป็น EU
ก่อนจะพูดถึงการแยกตัวของสหราชอาณาจักร ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขอเริ่มจาก “ที่มา” ของการรวมตัวมาเป็น EU ก่อน ในเรื่องนี้ ดร.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เกริ่นนำให้ฟังว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศในแถบทวียุโรปต่างบอบช้ำจากภัยสงคราม และมีความรู้สึกว่าตนเองอ่อนแอ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ประเทศในแถบยุโรปรวมพลังกัน เพื่อรักษาสันติภาพ ตลอดจนสร้างอำนาจต่อรองบนเวทีโลก โดยครั้งแรกก่อตั้งในรูปแบบของประชาคมถ่านหินและเหล็ก ก่อนที่จะพัฒนาเป็น ประชาคมเศรษฐกิจยุโรปในปี พ.ศ. 2510 อันมีสมาชิกก่อตั้ง 6 ประเทศ คือ เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์ โดยช่วงเวลานั้น อังกฤษยังไม่ได้เข้าร่วม แต่กลับไปเปิดการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จนัก อังกฤษจึงมองว่า ตัวเองกำลังจะถูกทิ้งให้ตกขบวนรถไฟ

ทันทีที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง อังกฤษต้องกลายเป็นชาติที่ตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว กลายเป็นประเทศไร้ซึ่งอำนาจ จักรวรรดิที่เคยเกรียงไกรต้องถูกรื้อถอน พร้อมเผชิญกับวิกฤตการณ์คลองสุเอซ และหนี้สินก้อนใหญ่ที่สร้างไว้ช่วงสงคราม โดยมีสหรัฐฯ เป็นชาติเจ้าหนี้ใหญ่ ท้ายที่สุด อังกฤษจึงมองยุโรปเป็นทางออก และสนใจเข้ามาเป็นสมาชิกของประชาคมเศรษฐกิจยุโรป เพื่อหวังจะได้รับประโยชน์ทางการค้า ทำให้เศรษฐกิจในประเทศเติบโตอย่างมั่นคง
เมื่อถึงตรงนี้ ดร.ภูริ เล่าเรื่องราวอย่างออกรสต่อไปว่า อังกฤษพยายามสมัครเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจยุโรปถึง 2 รอบ ครั้งแรก ในสมัยนายกรัฐมนตรี แฮโรลด์ แมคมิลแลน (Harold Macmillan) แต่สุดท้ายการเจรจาก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะได้รับการปฏิเสธจากประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกล (Chaeles de Gaulle) ของฝรั่งเศส ซึ่งไม่ถูกชะตากับอังกฤษนัก ด้วยเหตุผลที่ว่า อังกฤษมีความสัมพันธ์พิเศษกับสหรัฐอเมริกา จนคนอังกฤษถูกล้อเลียนด้วยชื่อว่า “ร้อยโทผู้จงรักภักดีของสหรัฐอเมริกา” ทำให้อังกฤษต้องอยู่อย่าง “โดดเดี่ยว” ในขณะที่ประเทศยุโรปตะวันตกพยายามยกระดับการบูรณาการระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง
“หลังจากมีการเปลี่ยนผ่านมาหลายสมัย จนมาสู่สมัยของนายกรัฐมนตรี เอ็ดวาร์ด ฮีธ (Edward Heath) ในขณะที่ทางฝรั่งเศสมีการเปลี่ยนผู้นำ อังกฤษจึงไม่ลดละความพยายามสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจยุโรป กระทั่งประสบความสำเร็จในปี 2516 โดยการเข้าเป็นสมาชิกนั้นอาศัยแต่คะแนนเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และไม่ได้จัดให้มีการลงประชามติแต่อย่างใด จึงทำให้มีความเห็นแตกแยกในสังคมมาก” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว
นางสิงห์เหล็ก...ผู้ไม่ก้มหัวให้ EU
จากนั้น อาจารย์ภูริ ได้แตะมือส่งต่อมายัง ผศ.ดร.ณัฐนันท์ คุณมาศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล่าต่อว่า เมื่ออังกฤษเข้ามาอยู่ในประชาคมเศรษฐกิจยุโรปได้ไม่นานก็เริ่มทำตัว “แข็งข้อ” ในสมัยนายกรัฐมนตรี “นางสิงห์เหล็ก” มาร์กาเรต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) ในปี พ.ศ. 2522 รัฐบาลนางมาร์กาเรต มีนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นเรื่องทุนนิยมเสรี ต้องการสลายกำลังของสหภาพแรงงาน จนนำไปสู่ยุคที่พวกฝ่ายซ้ายในอังกฤษต่างถูกปราบปรามแบบราบคาบ แต่ท่าทีของแทตเชอร์ทำให้เธอต้องขัดแย้งกับยุโรป เพราะผู้นำคนสำคัญในยุโรปต่างมาจากพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย นอกจากนี้ แทตเชอร์ยังเดินหน้าเรียกร้องให้ประชาคมเศรษฐกิจยุโรปคืนเงินค่าสมาชิกภาพที่อังกฤษได้จ่ายไป เพราะเชื่อว่า อังกฤษได้ไม่คุ้มเสีย โดยแทตเชอร์กดดันจนสุดท้ายสามารถบรรลุในสิ่งที่ต้องการ คือ ได้เรียกเงินคืนกลับมาให้ประเทศได้สำเร็จ แต่ขณะเดียวกัน เธอก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักการเมืองอังกฤษที่เป็นมิตรกับยุโรป ก่อนสูญเสียคะแนนนิยม จนต้องลงจากอำนาจ และเปิดทางให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่คือ จอห์น เมเจอร์ (John Major) ซึ่งมีแนวคิด ต้องการให้อังกฤษเข้าไปร่วมเป็นหนึ่งในรัฐผู้นำของประชาคมเศรษฐกิจยุโรป
“จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา อังกฤษไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นเท่าใดนักกับประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นสหภาพยุโรป (EU) ในปี พ.ศ. 2536 โดยหลังเข้าร่วมเป็นสมาชิก อังกฤษได้รับผลกระทบหลายด้าน เนื่องจากมิได้เป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งแต่ต้น ประกอบกับกลไกการรวมกลุ่มของยุโรปก็ยังได้รับอิทธิพลด้านการบริหารจัดการจากเยอรมนี และฝรั่งเศส จนทำให้อังกฤษรู้สึกไม่พอใจเป็นระยะๆ เนื่องจากการเมืองในอังกฤษนั้นกำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้ถืออำนาจสูงสุด ดังนั้นการที่อังกฤษจำต้องถ่ายโอน และแบ่งอำนาจอธิปไตยส่วนหนึ่งไปให้สหภาพยุโรปจึงก่อปัญหามาก”
ผศ.ดร.ณัฐนันท์ กล่าวต่อว่า สหภาพยุโรปได้วางหลักไว้คือ ประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรป และหากเกิดข้อขัดแย้งระหว่างกัน ให้ถือว่ากฎหมายของสหภาพยุโรปมีสภาพบังคับเหนือกฎหมายของชาติสมาชิกเสมอ ดังนั้นแม้อังกฤษจะพยายามต่อต้านเพียงใด แต่อังกฤษก็ต้องปรับกฎหมายของตนจำนวนมากตามแบบสหภาพยุโรปอยู่ดี ซึ่งตรงนี้จะกลายเป็นปมขัดแย้งสำคัญ รวมถึงเรื่องปัญหาผู้อพยพด้วย
อย่างไรก็ดี การเข้ามาร่วมกลุ่ม EU ได้ช่วยให้อังกฤษได้รับผลประโยชน์หลายด้าน โดยเฉพาะสิทธิพิเศษทางการค้า คือไม่ถูกเก็บภาษีนำเข้าเวลาส่งสินค้าไปขายยังประเทศสมาชิกอื่นๆ จึงเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจอังกฤษขยายตัวดีต่อเนื่อง ประกอบกับการเปิดให้มีการโยกย้ายเงินทุนอย่างเสรี ได้ทำให้กรุงลอนดอนสามารถรักษาความเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกไว้ได้เสมอมา

สัมพันธ์ EU สะบั้น! คนอังกฤษคาใจ 4 ประเด็น เป็นที่มาต้อง “ขอลาออก!”
หลังจากรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ก่อนเข้า EU ของอังกฤษแล้ว คราวนี้มาหาสาเหตุว่าทำไม อังกฤษ ถึงต้องลาออก โดย ผศ.ดร.ณัฐนันท์ พร้อมด้วย อาจารย์ วิโรจน์ อาลี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้วิเคราะห์ว่า สาเหตุของของการตีตัวออกห่างจาก EU ของอังกฤษนั้น เกิดมาจากความคับข้องใจของคนอังกฤษต่อ EU โดยแบ่งเป็น 4 ประเด็นคือ
1. ปัญหาในแง่ความคิดทางการเมือง ที่อังกฤษมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มีสิทธิเท่าเทียม สิทธิที่ควรพึงจะได้มี หรือไม่มีบทบาทนำในการวางอำนาจนโยบายกลางของ EU เหมือนกับประเทศสมาชิกที่ก่อตั้ง EU อย่างเช่น เยอรมนี และฝรั่งเศส ทำให้อังกฤษอยู่ในฐานะผู้ตามมากกว่า
2. ปัญหาข้อกำหนดในนโยบายการค้าทางเศรษฐกิจ ที่เข้มงวดเกินไป โดยเฉพาะในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เช่น ข้อกำหนดห้ามปล่อยของเสียลงน้ำ หรือการห้ามปล่อยควันในอากาศ ซึ่งการที่มีกฎระเบียบมากมายในเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้ประกอบการอังกฤษมีภาระการลงทุนหนักขึ้น ที่จะต้องใช้เทคโนโลยีที่สะอาด ส่งผลให้การลงทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอังกฤษหนีไปประเทศที่ผ่อนคลายมากกว่า อย่างเช่น จีน บราซิล เป็นต้น
3. ปัญหาแรงงานอพยพ ที่เข้ามาสร้างปัญหาให้กับอังกฤษอย่างมาก ทำให้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และความรู้สึกคนอังกฤษ โดยคนอังกฤษมองว่าผู้อพยพได้เข้ามาแย่งหน้าที่การงานไป
4. ปัญหาเรื่องการเก็บเงินค่าสมาชิก ที่อังกฤษต้องจ่ายให้ EU และ EU ได้นำไปช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ เช่น กรีซ เป็นต้น ซึ่งจุดนี้ทำให้อังกฤษมองว่าเงินที่จ่ายไปไม่คุ้มค่า สู้นำมาพัฒนาทำประโยชน์ภายในประเทศยังดีกว่า

อาจารย์วิโรจน์ กล่าวต่อว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวสะท้อนพฤติกรรมของอังกฤษ ที่กำลังจะบอกกับ EU ว่าช่วยผ่อนคลายกฎพวกนี้หน่อย เพราะมันจะสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันค่อนข้างสูง แต่ EU กลับทำให้ไม่ได้ เพราะด้วยกลไกของ EU ที่ทำให้สมาชิกที่เข้ามาไม่สามารถดิ้น หรือขยับตัวได้เลย
“ดังนั้นมันจึงเป็นเหตุผลที่คนอังกฤษคับข้องใจมาจนถึงในปัจจุบัน ที่นำมาสู่การทำประชามติ ในสมัยปัจจุบันคือ เดวิด แคเมรอน (David Cameron) ซึ่งเป็นช่วงที่ เขาพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ยังคงอยู่ในอำนาจ จึงเป็นเหตุให้เขาใช้นโยบายการทำประชามติ ออกไม่ออก หรือ Brexit ในการหาเสียง จนในที่สุด เขาได้ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งในตอนนี้มันกำลังย้อนกลับมาทำร้ายตัวเขาเอง เพราะหลังจากการทำประชามติจบลง และผลให้ “ออก” มีมากกว่า “ให้อยู่” จึงส่งผลทำให้เขาถูกกดดันให้ลาออกในที่สุด” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กล่าว
2 เหตุผล คนโหวต “ให้ออก” ทัศนคติเป็นลบต่อ EU และไม่อยากมีข้อผูกมัดมากเกินไป
สำหรับแนวความคิดของกลุ่มคนที่ต้องการ “ให้ออก” นั้น อาจารย์วิโรจน์ มองว่า เกิดจากแนวความคิด 2 ประการ คือ 1. เนื่องจากมีทัศนคติทางลบต่อ EU และมองข้ามความดีของ EU 2. คนอังกฤษวาดฝันว่าถ้าออกจาก EU จะมีอิสระมากกว่าอยู่ เพราะที่ผ่านมาตัวเองถูกมัดไว้กับความสัมพันธ์ใน EU จึงเป็นเหตุผล ที่ทำให้อังกฤษต้องการหลุดจากสภาวะตรงนั้น ต้องการเป็นเสรีนิยมสมัยใหม่ ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐ เพราะมองว่า EU เป็นก้างขวางคอ ที่อังกฤษไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพได้ เนื่องจากมีกฎระเบียบของ EU บังคับอยู่มากมาย

ผลกระทบหลังแยกตัว เงินปอนด์ ร่วงหนัก ราคาสินค้าแพงขึ้น
นอกจากนี้ อาจารย์วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้กล่าวถึงผลกระทบจากการออกจาก EU ของอังกฤษ ว่า จะทำให้เกิดผลกระทบขึ้นมาอย่างมหาศาล ทางด้านเศรษฐกิจผลกระทบต่อตลาดเงินโลก เกิดความวิตกกังวลอย่างมาก โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ตลาดการเงิน ได้สะท้อนออกมาว่า ความไม่แน่นอนของการลงประชาติมติ หรือ Brexit ได้ส่งผลให้นักลงทุนที่พยายามจะแสวงหากำไรจากตลาดอังกฤษเคลื่อนย้ายเงินทุนไปยังตลาดอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าที่สุดในรอบ 31 ปี รวมไปถึงค่าเงินยูโรที่อ่อนค่าลงเช่นกัน เมื่อค่าเงินอ่อนค่าลง จึงส่งผลทำให้สินค้านำเข้าสู่อังกฤษมีมูลค่าแพงขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มคนจนและรายได้ปานกลาง เพราะแรงงานมีรายได้เท่าเดิมแต่สินค้ามีราคาแพงขึ้น จึงส่งผลทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีค่าครองชีพสูงขึ้น เพราะในขณะนี้ 75% ของสินค้าที่ขายในอังกฤษเป็นสินค้านำเข้า และท้ายที่สุด ปัญหาดังกล่าว อาจส่งผลกระทบทำให้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของอังกฤษลดลง และจะทำให้ประเทศอื่นๆ เตรียมมองหาตลาดอื่นที่มีศักยภาพดีกว่า เพื่อมาทดแทนอุปสงค์ในอังกฤษที่ลดลง

ผลกระทบทางการลงทุน ที่ต้องถูกชะลอออกไป เนื่องจากประมาณ 50% ของการลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาในอังกฤษมาจากทาง EU ดังนั้นการที่อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิก EU อาจทำให้ตัวเลขการลงทุนจาก EU ชะลอตัวลงได้
อาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวต่อว่า ปัญหาข้อตกลงทางการค้าที่อังกฤษอาจต้องเจรจาใหม่หมด เนื่องจากการออกจากสมาชิก EU ทำให้ข้อสัญญาต่างๆ ด้านการค้าการลงทุนที่อังกฤษทำร่วมกับประเทศสมาชิกยุติลงด้วย จึงทำให้อังกฤษต้องใช้เวลานานในการเจรจาทำข้อตกลงการค้าใหม่ ซึ่งมองว่าการเจรจาไม่สามารถเสร็จได้ภายใน 1-2 ปี
ผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงวงการฟุตบอล พรีเมียร์ลีก อังกฤษ
“ปัญหาด้านแรงงาน โดยเฉพาะการกำหนดข้อตกลงการเคลื่อนย้ายแรงงานของอังกฤษอาจต้องพึงระวัง เพราะหากข้อกำหนดแรงงานที่อนุญาตให้เข้ามาทำงานมีข้อจำกัดและเข้มงวด อาจส่งผลกระทบต่อผู้ทำงานในสาขาแพทย์ ก่อสร้าง และท่องเที่ยว ทั้งนี้ในอนาคต จึงมองว่า ข้อกำหนดระหว่าง อังกฤษกับ EU อาจเหมือนกับลักษณะของ ASEAN คือ มีการกำหนดคุณลักษณะหรือคุณสมบัติของการเข้ามาเพื่อประกอบอาชีพ หรือมีการกำหนดโควตาการเข้ามาของแรงงานมีฝีมือ เช่น แพทย์ และวิศวกร เป็นต้น เพื่อทำให้อาชีพเหล่านี้ สามารถเข้ามาทำงานในภาคบริการของอังกฤษได้อย่างเสรี”
เช่นเดียวกับผลกระทบต่อทีม Premier League ในอังกฤษและ EU ซึ่งทีมฟุตบอลจัดอยู่ในแรงงานภาคบริการสาขาสันทนาการ จึงทำให้ผลกระทบในเรื่องนี้แบ่งออกเป็น 2 กรณีได้ คือ หากอังกฤษยังคงใช้ข้อตกลงเดิมกับ EU ก็จะทำให้ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม ซึ่งในเรื่องนี้ มีแนวโน้มสูงที่อังกฤษจะยังคงข้อตกลงเดิม เนื่องจากผลประโยชน์มหาศาลในเรื่องนี้ ทั้งในแง่ของรายได้ที่ได้จากการขายตั๋ว ค่าโฆษณา และค่าใช้จ่ายของผู้เข้าชมตกอยู่ในมือของอังกฤษ เพราะอังกฤษมีนักเตะมาจาก EU กว่า 432 คน ซึ่งคิดเป็น 65% ของนักเตะทั้งหมด และอีกกรณีหนึ่งคือหากไม่ทำตามข้อกำหนดเดิม นักเตะจาก EU จะต้องถือ Work Permit เช่นเดียวกับนักเตะนอกประเทศของกลุ่ม EU (Non-EU worker) ซึ่งได้ระบุไว้ว่า นักเตะที่มิได้เป็นสมาชิกในกลุ่ม EU ต้องลงสนามให้กับทีมชาติในอังกฤษอย่างต่ำ 30% ถึงจะมีสิทธิ์ขอวีซ่าเข้าทำงานได้ ซึ่งข้อกำหนดนี้ใช้สำหรับทีมระดับ Top 10 ของ FIFA เท่านั้น

นอกจากนี้ อาจารย์วรรณพงษ์ ยังบอกอีกว่า มีประเด็นเรื่องค่าตัวนักเตะของอังกฤษ ที่มีผลกระทบมาจากค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลง ในกรณีนี้หากจ่ายให้นักเตะที่รับค่าตัวเป็นเงินสกุลปอนด์ จะทำให้ผลกระทบมีไม่มากนัก แต่หากต้องจ่ายให้นักเตะที่รับค่าตัวเป็นเงินสกุลยูโร และ ดอลลาร์ จะส่งผลกระทบให้ค่าใช้จ่ายในสโมสรฟุตบอลแพงขึ้น และจะทำให้เหลืองบประมาณในการสนับสนุนกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลน้อยลง
“หากวงการฟุตบอลในอังกฤษได้รับผลกระทบ จะทำให้ผลกระทบขยายตัวเป็นวงกว้างไปยังธุรกิจอื่นๆ ด้วย เช่น ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจก่อสร้างสนามฟุตบอล ธุรกิจร้านอาหาร ร้านของฝาก ธุรกิจผลิตของที่ระลึก ได้แก่ เสื้อฟุตบอล และยังเชื่อมโยงไปถึงทรัพย์สินทางปัญญา อย่างเช่น เรื่องลิขสิทธิ์สัญลักษณ์ทีมฟุตบอล เป็นต้น ที่ต่อไป อาจจะมีราคาถูกลง”
EU ฉุน อังกฤษ แยกตัว ทำ “วิมานล่ม” ผนึกยุโรปเป็นหนึ่งเดียว
ส่วนในกรณีที่ผู้มีชื่อเสียงใน EU ออกมาให้สัมภาษณ์ไล่อังกฤษให้รีบออกไปจาก EU ทันที อาจารย์วรรณพงษ์ มองว่า สมาชิกใน EU ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ อาจมีความรู้สึกน้อยใจ เพราะได้เคยสัญญาว่าจะวางแผนอนาคตร่วมกัน พัฒนาไปด้วยกัน แต่เมื่อมี 1 สมาชิกต้องการออก และดันเป็นสมาชิกที่แข็งแกร่ง มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ใน EU และอันดับ 5 ของโลกอย่างอังกฤษ ที่ส่งผลทำให้ EU สูญเสียศักยภาพในการต่อรอง รวมถึงเสียสมดุลในระยะยาวอย่างแน่นอน จึงไม่แปลกที่สมาชิกใน EU จึงออกมาขับไล่ด้วยความรู้สึกไม่พอใจอังกฤษ แต่คงไม่ได้ถึงขั้นเกลียดกัน ยังคงค้าขายกันได้ เนื่องจากมองว่า สมาชิกในระดับสูงของ EU ที่รับรู้เรื่องราว และปัญหาต่างๆ ในประวัติศาสตร์ที่เกิดตั้งแต่สมัยแรกๆ ที่อังกฤษเข้ามาเป็นสมาชิกใน EU ซึ่งเขาเหล่านี้ จะมีความเข้าใจถึงสาเหตุที่อังกฤษต้องการออกจาก EU ได้ดี และยังเชื่อว่าสมาชิกใน EU ส่วนหนึ่งต้องมีความรู้สึกเสียดายต่อการเดินจากไปของอังกฤษ

ในขณะที่ด้านอาจารย์ ดร.ภูริ มองในประเด็นนี้ว่า นักการเมืองใน EU ต้องการให้อังกฤษเริ่มกระบวนการถอนตัวออกจาก EU โดยเร็วที่สุด เพราะ EU ต้องการความชัดเจน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญต่อเสถียรภาพทางการเมือง และทางเศรษฐกิจ เพราะหากไม่มีความชัดเจน จะส่งผลทำให้การดำเนินนโยบายของ EU ขาดความน่าเชื่อถือ และทำให้การลงทุนชะลอตัว โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังไม่เข้าสู่สภาวะฟื้นตัว ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทาง EU ต้องการเร่งรัดกระบวนการ เพื่อรีบหาข้อสรุปว่า อังกฤษจะถอนตัวออกไปอย่างไร จะมีความสัมพันธ์กับ EU แบบไหน และ EU ที่ปราศจากอังกฤษจะมีทิศทางเช่นไร แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าปัญหาสำคัญน่าจะมาจากฝั่งอังกฤษ เนื่องจากยังขาดความชัดเจนเรื่องผู้นำประเทศที่จะเข้ามาดูแลการเจรจากับ EU เพราะถึงแม้ว่าพรรคอนุรักษนิยมจะยังคงเป็นพรรครัฐบาลต่อไป แต่อังกฤษก็ยังคงต้องหาผู้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนเดวิด แคเมรอน ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลานานเป็นเดือน กว่า EU และอังกฤษจะเริ่มการเจรจาระหว่างกันอย่างจริงจัง
ไม่เชื่อ! จะมีประชามติรอบสอง หากเกิดจริง ผลโหวตจะไร้ความศักดิ์สิทธิ์
อีกทั้ง ในขณะนี้ ฝ่ายที่แพ้จากการทำประชามติ ได้จัดทำเว็บไซต์ล่ารายชื่อ เพื่อยืนต่อรัฐสภาอังกฤษให้มีการทำประชามติใหม่อีกครั้ง อาจารย์วรรณพงษ์ กล่าวในเรื่องนี้ว่า มองว่าการทำประชามติใหม่จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะว่าการทำประชามติเป็นเรื่องใหญ่ มีความศักดิ์สิทธิ์ และมีความเกี่ยวข้องกับเกียรติของสมาชิกสภาในอังกฤษ ดังนั้นเมื่อผลออกมาในรูปแบบใดก็ต้องเคารพแบบนั้น เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ ทางด้านอดีตผู้นำอังกฤษ เดวิด แคเมรอน ก็ออกมาเตือนแล้ว่า โหวตแล้วโหวตเลย เพราะหากมีการทำประชามติอีกหนึ่งรอบ แล้วความศักดิ์สิทธิ์จะอยู่ตรงไหน ดังนั้นหากอังกฤษทำประชามติใหม่อีกรอบ จะแน่ใจได้หรือเปล่า ว่าผลครั้งที่ 2 จะถูกยอมรับ และต่อไปจะมีการล่ารายชื่อใหม่อีก เป็นครั้ง 3 และครั้งที่ 4 หรือไม่ ทั้งนี้ มองว่าสำหรับอังกฤษ สิ่งที่ควรตั้งคำถามในตอนนี้จึงไม่ใช่ว่าจะสามารถทำประชามติใหม่ได้หรือไม่ แต่จะต้องมาคิดว่า จะช่วยกันทำอย่างไรให้อังกฤษเข้าสู่สภาวะที่เรียกว่า "Soft Landing"
ซึ่งสอดคล้องกับด้าน อาจารย์ ดร.ภูริ ที่อธิบายว่า แม้ฝ่ายที่ผิดหวังจากการทำประชามติ จะดำเนินการล่ารายชื่อมายื่นต่อรัฐสภา และหากมีรายชื่อเกิน 1 แสนคน ทางรัฐสภาก็มีหน้าที่ต้องรับเรื่องไปพิจารณาอยู่แล้ว จึงคาดว่ารัฐสภาก็ไม่น่าจะเห็นคล้อยตาม เนื่องจากมีนักการเมืองในสภาจำนวนไม่น้อยที่เห็นชอบกับผลการลงประชามติ และกระบวนการก็เริ่มขับเคลื่อนไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะการหารือเบื้องต้นระหว่างเดวิด แคเมรอน กับผู้นำ EU ดังนั้น หากมีการลงประชามติอีกรอบ จึงมองว่า จะยิ่งทำให้เกิดสภาวะสุญญากาศ อังกฤษจะขาดความน่าเชื่อถือบนเวทีโลก และทำให้นักลงทุนหมดความเชื่อมั่น ทั้งนี้ ทางออกที่ดีที่สุด จึงมองว่า อังกฤษควรดำเนินการตามผลการลงประชามติที่ออกมารอบแรก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตามองมากกว่าคงเป็นการเคลื่อนไหวของสกอตแลนด์ เพราะในขณะนี้มีเสียงออกมาว่า รัฐสภาของสกอตแลนด์ต้องการให้มีการลงประชามติแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักร เพื่อทำให้สกอตแลนด์ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของ EU ต่อไป

ผลพวง Brexit เนเธอร์แลนด์ - ฝรั่งเศส ส่อเดินรอยตาม
ส่วนผลกระทบในด้านการเมือง หลังจากผลประชามติบอก “ให้ออก” ส่งผลให้สถานการณ์การเมืองภายในสหราชอาณาจักรเกิดความวุ่นวายอย่างมาก และอาจนำไปสู่การทำประชามติออกจากอังกฤษ ของ สกอตแลนด์ ขณะที่ในยุโรปเอง ก็มีเสียงสะท้อนจากประเทศในสมาชิก เช่น เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ที่มีแนวโน้มสูงออกมาทำประชามติเช่นเดียวกัน
ส่วนผลกระทบในระยะยาว เมื่ออังกฤษออกไป 1 ประเทศ อาจทำให้เกิดประเด็นการปลุกระดมของนักการเมืองฝ่ายขวา หรือฝ่ายอนุรักษนิยมในประเทศอื่นๆ และส่งผลให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ทยอยออกจากการเป็นสมาชิก EU จน EU ล่มสลาย ทำให้สิ่งที่ทำกันมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สูญเปล่า
ทั้งนี้ อาจารย์วิโรจน์ ได้วิเคราะห์สถานการณ์หลังจากนี้ว่า อังกฤษและ EU จะต้องใช้เวลาปรับโครงสร้างในกรอบเวลา 2 ปี เพื่อใช้เวลาปรับตัวก่อนที่จะแยกออกกันอย่างถาวร โดยช่วงเวลาระหว่างนั้น จะทยอยถอนสนธิสัญญาต่างๆ ระหว่างอังกฤษและ EU เช่น ข้อตกลงการค้าเสรี
จากนี้เป็นต้นไป คงจะต้องจับตาความเคลื่อนไหวระหว่างอังกฤษกับ EU อย่างใกล้ชิด เพราะอังกฤษถือเป็นประเทศมหาอำนาจ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ การ "ไขก๊อก" ออกจากสมาชิก จะทำให้ EU สั่นสะเทือนถึงล่มสลายหรือไม่ คงได้เห็นกันไม่ช้านี้
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

- สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่ reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ