รัฐบาลกัมพูชาประกาศจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะระดับสูงกิจ เตรียมเอกสารหลักฐานเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ICJ ประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับพื้นที่ สามเหลี่ยมมรกต และปราสาทโบราณ 3 แห่ง ได้แก่ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาควาย

วันที่ 10 มิถุนายน 2568 เว็บไซต์ข่าวกัมพูชารายงานว่า รัฐบาลกัมพูชาตัดสินใจจัดตั้งคณะกรรมการเตรียมเอกสารและข้อมูลที่สำคัญเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขข้อพิพาทและยืนยันสิทธิ์ในพื้นที่สำคัญบริเวณชายแดน ได้แก่ สามเหลี่ยมมรกต ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าชายแดนรอยต่อสามประเทศ คือ ไทย กัมพูชา และลาว รวมถึงปราสาทโบราณ 3 แห่ง ได้แก่ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาควาย

เอกสารจัดตั้งคณะกรรมการฯ ออกโดยสำนักงานคณะรัฐมนตรีของราชอาณาจักรกัมพูชา ลงนามโดยนายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา โดยระบุว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของกัมพูชาในการใช้กลไกทางกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อคลี่คลายประเด็นข้อพิพาทชายแดนที่ยืดเยื้อมานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีปราสาทโบราณทั้ง 3 แห่ง ซึ่งที่ผ่านมามักมีประเด็นข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์และเขตแดนเกิดขึ้นอยู่เสมอ

คณะกรรมการชุดนี้มี นายปรัก สุคน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน นอกจากนี้เอกสารยังระบุถึงโครงสร้างคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายสก จันดา โสเพีย รองนายกรัฐมนตรี  ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะทำงาน ตามมาด้วยนายเมง สักเทียรา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกและเลขาธิการ

รายงานข่าวระบุว่า คณะกรรมการจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของกัมพูชาต่อหน้าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตั้งแต่ขั้นตอนการยื่นเรื่องจนถึงการสิ้นสุดกระบวนการของศาล นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการทบทวนและตัดสินใจเลือกที่ปรึกษาทางกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อเป็นตัวแทนในคดีที่กรุงเฮก รวมถึงรวบรวมเอกสารที่จัดทำโดยคณะทำงานด้านกฎหมายที่ร่วมมือกับที่ปรึกษาต่างประเทศเพื่อยื่นต่อศาลระหว่างประเทศ 

...

โดยระบุว่า การจัดตั้งคณะทำงานนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของกัมพูชาที่จะใช้ช่องทางกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขข้อพิพาทเกี่ยวกับพื้นที่ชายแดนและมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวและมีความสำคัญต่ออธิปไตยของประเทศมายาวนาน การดำเนินการนี้อาจนำไปสู่การทบทวนหรือตีความใหม่เกี่ยวกับเขตแดนและสิทธิเหนือปราสาทโบราณเหล่านี้ในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์และข้อพิพาทระหว่างประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศไทย.

ที่มา KhmerTimes