- สถานการณ์การเมืองและความมั่นคงในสหรัฐอเมริกาเกิดแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ตัดสินใจส่งกำลังทหารจากกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ หลายพันนายเข้าสู่ลอสแอนเจลิส เพื่อรับมือกับการประท้วงอย่างต่อเนื่องนานหลายวัน หลังหน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง ICE เปิดปฏิบัติการไล่จับผู้อพยพผิดกฎหมายทั่วเมือง
- คำสั่งนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนความตึงเครียดด้านนโยบายผู้อพยพ แต่ยังกลายเป็นประเด็นร้อนแรงด้านกฎหมายและการเมือง เมื่อผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย กาวิน นิวซัม ประณามการตัดสินใจของทรัมป์ว่าเป็น การละเมิดอำนาจรัฐอย่างโจ่งแจ้ง และอาจเข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมายกลางของสหรัฐฯ

จุดเริ่มต้นของการประท้วง
แรงปะทุของเหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน หลังเจ้าหน้าที่จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรสหรัฐฯ (ICE) บุกจับผู้อพยพในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วนครลอสแอนเจลิส โดยเฉพาะในย่านศูนย์กลางแฟชั่น และอีกหลายจุดทั่วเมือง
ภายในสัปดาห์เดียว ยอดการจับกุมผู้อพยพในพื้นที่ทะลุ 100 ราย จุดชนวนความไม่พอใจในกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานและผู้อพยพในทันที
...
ย้อนไปคืนวันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน กลุ่มผู้ประท้วงมากกว่า 100 คนชุมนุมหน้าอาคารตรวจคนเข้าเมืองกลางเมืองแอลเอ ก่อนที่ตำรวจจะประกาศว่าเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย และเริ่มปฏิบัติการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาและระเบิดแฟลช
ด้านกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (DHS) ระบุว่ามีผู้ร่วมชุมนุมราว 1,000 คนในคืนนั้น ขณะที่เหตุประท้วงในอีกหลายจุดของเมืองก็ดำเนินไปพร้อมกัน โดยมีการจับกุมผู้ประท้วงหลายรายจากการไม่ยอมสลายตัวตามคำสั่งของตำรวจ
จนกระทั่งวันเสาร์ การเผชิญหน้าทวีความรุนแรงขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางต้องรับมือกับกลุ่มผู้ประท้วงในหลายจุด ขณะที่ตำรวจลอสแอนเจลิสระบุว่า มีการขว้างปาวัตถุแข็ง ใส่เจ้าหน้าที่ และมีการจับกุมเกิดขึ้นหลายราย
จนในที่สุดประธานาธิบดีทรัมป์ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีเมื่อวันเสาร์ที่ 7 มิถุนายน สั่งให้ส่งกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิเข้าลอสแอนเจลิส โดยอ้างว่าการประท้วงลุกลามจนเป็นภัยต่อการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลกลาง และกล่าวหาว่าผู้ประท้วงบางส่วนมีพฤติกรรมรุนแรงถึงขั้นคล้ายการก่อกบฏ และยังมีการส่งกองกำลังนาวิกโยธินเข้าไปสมทบอีก 700 นายในวันที่ 4 ของการชุมนุม

ทรัมป์มีสิทธิส่งกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิเข้าปราบปรามผู้ประท้วงหรือไม่?
ตามกฎหมายของสหรัฐฯ กองกำลัง National Guard หรือกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ เป็นหน่วยกำลังสำรองที่อยู่ภายใต้การควบคุมของแต่ละรัฐ โดยปกติจะถูกสั่งใช้งานโดยผู้ว่าการรัฐเท่านั้น แต่ในการดำเนินการดังกล่าว ทรัมป์อ้างอำนาจตาม มาตรา 10 แห่งประมวลกฎหมายสหรัฐฯ ซึ่งให้อำนาจประธานาธิบดีในการสั่งการกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิภายใต้สถานการณ์ 3 กรณีคือ:
1.เมื่อสหรัฐฯ ถูกรุกราน
2.เมื่อเกิดการก่อกบฏหรือความเสี่ยงต่อการก่อกบฏ
3.เมื่อรัฐบาลกลางไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้โดยใช้กำลังปกติ
แม้ตามกฎหมายแล้ว การใช้มาตรา10 จะสามารถทำได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลายคนตั้งคำถามว่า การประท้วงในลอสแอนเจลิสนั้น ไม่รุนแรงถึงขั้นก่อกบฏ และไม่ใช่สถานการณ์ที่เข้าข่ายเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายได้
นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดภายใต้กฎหมาย Posse Comitatus Act ปี 1878 ซึ่งห้ามไม่ให้กองทัพและกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ ภายใต้คำสั่งรัฐบาลกลางเข้าแทรกแซงงานตำรวจโดยตรง เว้นแต่จะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติปราบปรามการกบฏซึ่งทรัมป์ยังไม่ได้ทำ ณ จุดนี้ ดังนั้นทหารที่ถูกส่งเข้าพื้นที่ ไม่สามารถจับกุมประชาชนได้ แต่สามารถคุ้มครองเจ้าหน้าที่ ICE และทรัพย์สินของรัฐบาลกลางได้เท่านั้น

...
ศึกระหว่างผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียกับทรัมป์
ผู้ว่าการรัฐกาวิน นิวซัม แถลงตอบโต้คำสั่งของทรัมป์ทันที โดยระบุว่าการตัดสินใจของรัฐบาลกลางเป็น การละเมิดสิทธิของรัฐ และยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐแคลิฟอร์เนียควบคุมสถานการณ์ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทหาร
นิวซัมยังกล่าวหาว่าทรัมป์โกหกทั้งการโพสต์ในโซเชียลมีเดียว่ารัฐบาลท้องถิ่นไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ รวมทั้งกรณีที่อ้างว่ามีการหารือเรื่องการส่งทหารในการโทรศัพท์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา และประณามทรัมป์ที่โพสต์ขอบคุณทหารบนโซเชียลก่อนที่ทหารจะมาถึงด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ นิวซัมยังขอให้ทำเนียบขาว ถอนกำลังทหารออกจากรัฐแคลิฟอร์เนียทันที ซึ่งเป็นคำขอที่รัฐบาลกลางยังไม่ตอบรับ
ความรุนแรงที่อาจลุกลามบานปลาย
สิ่งที่น่ากังวลคือ หากทรัมป์ตัดสินใจยกระดับสถานการณ์ด้วยการประกาศใช้พระราชบัญญัติปราบปรามการกบฏ เพื่อให้นำทหารเข้าควบคุมสถานการณ์โดยตรง เช่น การควบคุมฝูงชนหรือจับกุมผู้ประท้วง จะเป็นการเปิดประตูสู่การใช้ทหารกับประชาชนในรูปแบบที่ไม่เกิดขึ้นมานานหลายทศวรรษ
ครั้งสุดท้ายที่กฎหมายนี้ถูกใช้อย่างจริงจังคือปี 1992 หลังการประท้วงจากคดีรอดนีย์ คิง ซึ่งในครั้งนั้น ผู้ว่าการรัฐเป็นผู้ร้องขอให้รัฐบาลกลางเข้ามาช่วย แต่กรณีของทรัมป์ตรงกันข้ามเพราะผู้ว่าการรัฐ ปฏิเสธและขอให้ถอนทหารออก
เหตุประท้วงที่เริ่มต้นจากความไม่พอใจต่อนโยบายผู้อพยพของทรัมป์ จึงกำลังขยายตัวกลายเป็นชนวนความขัดแย้งเชิงโครงสร้างระหว่างรัฐบาลกลางกับอำนาจของรัฐภายใต้ระบบสหพันธรัฐของอเมริกัน การส่งทหารเข้าควบคุมพื้นที่โดยไม่ขอความยินยอมจากผู้ว่าการรัฐ ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดข้อถกเถียงทางกฎหมาย แต่ยังอาจกลายเป็นชนวนใหม่ที่สะท้อนการเมืองแบบเผด็จการในรูปแบบอเมริกัน ที่อำนาจส่วนกลางอยู่เหนืออำนาจส่วนท้องถิ่น สิ่งที่ต้องจับตาต่อจากนี้คือ ทรัมป์จะเดินหน้าใช้พระราชบัญญัติปราบปรามการกบฏหรือไม่ ซึ่งจะนำไปสู่การประท้วงที่รุนแรงและบานปลายมากขึ้น และสังคมอเมริกันจะรับมืออย่างไรหากการเมืองอเมริกาต่อจากนี้จะกลายเป็นรูปแบบของเผด็จการ.
...
ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล
ที่มา : channelnewsasia , Aljazeera
คลิกอ่านข่าวเกี่ยวกับ รายงานพิเศษ