จีนพบแบคทีเรียสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยพบบนโลกมาก่อน อยู่ในสถานีอวกาศเทียนกง และดูเหมือนว่ามันจะสามารถปรับตัวกับสภาวะที่นั่นได้ดี
สำนักข่าว ซีซีทีวี สื่อโทรทัศน์แห่งชาติของจีนรายงานในวันที่ 21 พ.ค. 2568 ว่า นักบินอวกาศจีนพบแบคทีเรียที่มีลักษณะเป็นท่อนขนาดเล็ก ซึ่งไม่เคยเจอที่ใดบนโลกมาก่อน อยู่ภายในห้องควบคุมของสถานีอวกาศเทียนกง และมันอาศัยอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนัก โดยเจ้าหน้าที่ตั้งชื่อให้มันว่า “นีอัลเลีย เทียนกงเจนซิส” (Niallia tiangongensis)
นักบินอวกาศเก็บตัวอย่างแบคทีเรียดังกล่าวจากสถานีอวกาศเทียนกงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 แล้วส่งมันกลับโลกในสภาพถูกแช่แข็งเพื่อทำการศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษาพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กชนิดนี้ ซึ่งถูกพบในสภาพแวดล้อมแบบปิดอย่างสิ้นเชิง
ผลการศึกษาซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Systematic and Evolutionary Microbiology บรรยายว่า การวิเคราะห์ตัวอย่างดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แบคทีเรียตัวนี้ เป็นสายพันธุ์ใหม่ของแบคทีเรียในตระกูล (genus) “นีอัลเลีย” และผลการตรวจสอบลำดับยีนพบว่าญาติที่ใกล้ชิดที่สุดของมันคือแบคทีเรีย “นีอัลเลีย เซอร์คูลันส์” ซึ่งมีอยู่บนโลก อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์เทียนกงมียีนต่างกันมาก
นีอัลเลีย เทียนกงเจนซิส มีความแตกต่างทางโครงสร้างและการทำงาน หมายความว่ามันปรับตัวอย่างดีเพื่ออาศัยอยู่ในสถานีอวกาศ มันมีความสามารถในการย่อยสลายเจลาตินในรูปแบบที่ไม่เหมือนใคร ทำให้มันสามารถกินโปรตีนชนิดนี้เพื่อเอาชีวิตรอดในสภาพแวดล้อมที่ขาดสารอาหารอย่างบนสถานีอวกาศได้
นอกจากนั้น เทียนกงเจนซิสยังสามารถสร้างไบโอฟิล์มป้องกัน มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียดออกซิเดชัน (Oxidative Stress) ซ่อมแซมความเสียหายจากรังสี และสร้างเอนโดสปอร์ ซึ่งช่วยให้มันมีชีวิตรอดในอวกาศ
...
ตอนนี้ยังไม่แน่ชัดว่า แบคทีเรียสายพันธุ์ใหม่นี้วิวัฒนาการในอวกาศ หรือมีอยู่ในโลกอยู่แล้วแต่ไม่เคยถูกค้นพบมาก่อน โดยจนถึงตอนนี้มนุษย์ค้นพบแบคทีเรียแล้วหลายหมื่นชนิด แต่เชื่อกันว่า ยังมีแบคทีเรียบนโลกที่ยังไม่ถูกค้นพบอีกนับพันล้านชนิด
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การค้นพบแบคทีเรีย นีอัลเลีย เทียนกงเจนซิส จะทำให้พวกเขาเข้าใจความไม่แน่นอนของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่นักบินอวกาศในอนาคตจะต้องพบเจอมากขึ้น และช่วยออกแบบมาตรการด้านสุขอนามัยสำหรับภารกิจระยะยาว
แต่ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่า แบคทีเรียสายพันธุ์ใหม่ตัวนี้มีอันตรายต่อนักบินอวกาศบนสถานีเทียนกงหรือไม่ แต่ญาติของมันอย่าง นีอัลเลีย เซอร์คูลันส์ สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสโลหิตได้ โดยเฉพาะในคนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign
ที่มา : wired