นักเรียนเกือบ 80 คนจากโรงเรียนมัธยม 2 แห่งทางตอนใต้ของกรุงจาการ์ตา ล้มป่วยหลังจากรับประทานอาหารกลางวันฟรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนถึงปัญหาโครงการอาหารกลางวันฟรีของรัฐบาลอินโดนีเซีย
อินโดนีเซียกำลังดำเนินโครงการขนาดใหญ่เพื่อจัดหาอาหารฟรีให้กับเด็กนักเรียน 80 ล้านคนทั่วประเทศ แต่ดูเหมือนว่าสิ่งต่าง ๆ จะไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ล่าสุดนักเรียนเกือบ 80 คนจากโรงเรียนมัธยม 2 แห่งในเขตเชียงจูร์ ทางตอนใต้ของกรุงจาการ์ตา มีอาการเจ็บป่วยหลังจากรับประทานอาหารกลางวันฟรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ขณะนี้ได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านแล้ว
เหตุการณ์นี้นับเป็นกรณีล่าสุดของเหตุอาหารเป็นพิษที่เชื่อมโยงกับโครงการอาหารฟรี ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของประธานาธิบดีปราโบโว สุเบียนโต ซึ่งเขาเสนอว่าจะใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา "แคระแกร็น" ในเด็ก ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากการขาดสารอาหาร และส่งผลกระทบต่อเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในอินโดนีเซียถึง 1 ใน 5 ของจำนวนทั้งหมด
นับตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว โครงการนี้ พร้อมกับนโยบายประชานิยมอื่น ๆ เช่น การแจกบ้านใหม่ และการตรวจสุขภาพฟรี ได้ช่วยเพิ่มคะแนนนิยมให้เขา โดยผลสำรวจชี้ว่า ความนิยมของเขาสูงถึง 80% ภายใน 100 วันแรกของการบริหารประเทศ
ในระยะแรกของโครงการที่เริ่มต้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีนักเรียนราว 550,000 คนใน 26 จังหวัดที่ได้รับอาหารกลางวันฟรี และนับตั้งแต่เดือนมกราคม มีเหตุการณ์อาหารเป็นพิษหลายกรณีที่ทำให้ประชาชนเกิดความวิตกต่อโครงการนี้ และในสัปดาห์นี้ หลังเกิดเหตุอาหารเป็นพิษที่เชียงจูร์ ทางการให้คำมั่นว่าจะยกระดับมาตรการความปลอดภัยด้านอาหาร
ซึ่งล่าสุดเจ้าหน้าที่ที่กำลังสืบสวนเหตุการณ์นี้ ระบุว่าสาเหตุอาจเกิดจากความประมาทในการเตรียมอาหาร โดยมีการนำตัวอย่างอาเจียนของนักเรียนส่งไปตรวจในห้องแล็บ และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ตั้งแต่พ่อครัว พนักงานบรรจุอาหาร จนถึงคนขับรถส่งอาหารไปสอบสวนแล้ว
...
ในหลายประเทศทั่วโลก โครงการอาหารฟรีสำหรับนักเรียนถือเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาสุขภาพ ผลการเรียน และการมาเรียนของเด็ก ๆ
แต่โครงการมูลค่า 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาทของอินโดนีเซีย ถูกวิจารณ์ว่าเป็นโครงการอาหารกลางวันที่แพงที่สุดในโลก และยังเกิดความกังวลเรื่องความปลอดภัยของอาหาร จนเป็นชนวนให้เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรง
ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะที่มีการประท้วงตัดงบประมาณทั่วประเทศ ผู้ประท้วงจำนวนมากมุ่งเป้าไปที่ค่าใช้จ่ายอันมหาศาลของโครงการนี้ โดยถือป้ายที่เขียนว่า "เด็กกินฟรี พ่อแม่ตกงาน"
ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายของโครงการนี้ที่มีมูลค่ามหาศาลก็กลายเป็นอีกประเด็นที่สร้างความขัดแย้งโดยในปีนี้อินโดนีเซียจัดสรรงบประมาณมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันฟรี ในขณะที่อินเดียใช้งบประมาณเพียง 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีเพื่อเลี้ยงเด็ก 120 ล้านคน ซึ่งเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนโครงการของบราซิลมีค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกับอินเดีย โดยครอบคลุมนักเรียนประมาณ 40 ล้านคน
เพื่อหารายได้มาสนับสนุนโครงการนี้ ปราโบโวเรียกร้องให้กลุ่มมหาเศรษฐีในประเทศช่วยเหลือ และยอมรับข้อเสนอเงินทุนจากจีน เขายังสั่งตัดงบประมาณของประเทศมูลค่า 19,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อจัดสรรเงินให้กับโครงการนี้และนโยบายประชานิยมอื่น ๆ ซึ่งกลายเป็นประเด็นร้อน
หลายกระทรวง รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการ ถูกตัดงบลงครึ่งหนึ่ง ข้าราชการบางคนที่ไม่ถูกปลดออกจากงานกล่าวว่า พวกเขาต้องประหยัดอย่างมาก เช่น ห้ามใช้เครื่องปรับอากาศ ลิฟต์ และแม้กระทั่งเครื่องพิมพ์เอกสาร
นักศึกษามหาวิทยาลัยไม่พอใจอย่างรุนแรง เมื่อข่าวการยกเลิกทุนการศึกษาและการหยุดเรียนบางวิชาเริ่มแพร่กระจาย
อุปสรรคของโครงการยังไม่หมดแค่เรื่องอาหารเป็นพิษหรือการตัดงบประมาณ เพราะยังมีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการบริหารงบประมาณผิดพลาด ซึ่งเริ่มปรากฏขึ้นหลังจากหน่วยงานต่อต้านการทุจริตของอินโดนีเซียเตือนในเดือนมีนาคมว่ามีความเป็นไปได้จริงที่จะเกิดการโกง
เมื่อต้นเดือนนี้ ตำรวจได้เริ่มสอบสวนหลังผู้ให้บริการอาหารรายหนึ่งในกรุงจาการ์ตาตอนใต้ร้องเรียนว่าไม่ได้รับค่าจ้างตั้งแต่เริ่มจัดทำอาหารกลางวันในเดือนกุมภาพันธ์ ในขณะที่นายปราโบโวยังคงปกป้องโครงการนี้ โดยกล่าวว่ารัฐบาลของเขาจะจัดการกับข้อกล่าวหาเหล่านี้ และปกป้องเงินภาษีของประชาชนทุกบาททุกสตางค์
แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่าปัญหานี้ลึกกว่าที่คิด ด้วยขนาดของงบประมาณที่มหาศาล โครงการนี้จึงเปรียบเสมือนขุมทรัพย์สำหรับเจ้าหน้าที่ทุจริต.
ที่มา : BBC
คลิกอ่านข่าวเกี่ยวกับ โครงการอาหารฟรี