ปูตินต้อนรับ "มิน อ่อง หล่าย" ผู้นำเผด็จการทหารเมียนมาเยือนทำเนียบเครมลิน หารือกันสุดชื่นมื่น สานต่อความสำเร็จ "การทูตช้าง" พร้อมลงนามในข้อตกลงที่รัสเซียจะไปสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กในเมียนมา
วันที่ 5 มีนาคม 2568 นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย ต้อนรับพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา และพบหารือกันที่ทำเนียบประธานาธิบดีเครมลิน ในกรุงมอสโก โดยสองผู้นำได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือหลายฉบับ รวมไปถึงข้อตกลงที่รัสเซียจะไปสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กในเมียนมา
ตามข้อตกลงนี้ บริษัท Rosatom บริษัทพลังงานนิวเคลียร์ของรัฐบาลรัสเซีย จะเป็นผู้ดำเนินการโครงการ ซึ่งจะทำให้เมียนมามีความสามารถในการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ 100 เมกะวัตต์ และอาจมีการขยายกำลังการผลิตได้ถึง 3 เท่า อย่างไรก็ตาม แม้ข้อตกลงสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กนี้จะได้รับความสนใจจากทั้งสองฝ่าย แต่รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานที่ที่จะตั้งโรงไฟฟ้ายังไม่ได้รับการเปิดเผย ขณะที่การพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในประเทศที่อยู่ในภาวะความไม่สงบเช่นเมียนมายังคงเป็นประเด็นที่มีการจับตามองจากนานาชาติ
ประธานาธิบดีปูติน กล่าวว่าปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 25 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับเมียนมา พร้อมเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ที่มั่นคงและเติบโตอย่างต่อเนื่องระหว่างสองประเทศ โดยเขากล่าวเสริมว่า การค้าระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้น 40% ในปีที่ผ่านมา
ผู้นำรัสเซียยังกล่าวแสดงความขอบคุณที่ก่อนหน้านี้ เมียนมามอบช้าง 6 ตัวให้แก่รัสเซียเป็นของขวัญ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของ "การทูตช้าง" (elephant diplomacy) ซึ่งมีช้างเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ทางการทูตที่มีความหมายพิเศษเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ขณะที่รัสเซียเพิ่งเสร็จสิ้นการส่งมอบเครื่องบินรบ 6 ลำให้แก่เมียนมาเช่นกัน
...
การมอบช้างในครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับความสัมพันธ์ที่ทั้งสองประเทศกำลังพยายามสร้างขึ้นท่ามกลางการคว่ำบาตรจากตะวันตกหลังจากการยึดอำนาจของทหารในเมียนมาในปี 2564
ขณะเดียวกัน การลงนามในข้อตกลงสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมียนมา เกิดขึ้นในขณะผู้นำเมียนมา เดินทางไปเยือนรัสเซียเป็นครั้งที่ 4 เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางทหารและพลังงานท่ามกลางการเผชิญกับการคว่ำบาตรจากตะวันตกและการโดดเดี่ยวในระดับนานาชาติ ขณะที่รัสเซียและจีน ถือเป็นผู้สนับสนุนหลักของเมียนมาในด้านการทหารและการค้า ขณะที่เครื่องบินรบของรัสเซียถูกใช้ในการโจมตีพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งหลายกลุ่มเป็นพันธมิตรกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร.