- โลกกำลังตื่นตัวกับกระแสดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ประเมินว่ามันมีโอกาสที่จะพุ่งชนโลกได้ในอีก 7 ปีข้างหน้า
- โอกาสชนโลกของมันตอนนี้อยู่ที่ 3.1% ซึ่งถือว่าน้อยมาก และผู้เชี่ยวชาญก็ระบุว่าไม่ต้องกังวล แต่หากเกิดกรณีเลวร้ายที่สุด มันก็อาจทำให้เกิดความเสียหายระดับท้องถิ่นได้
- แต่วิธีป้องกันโลกอย่างการยิงอาวุธนิวเคลียร์เข้าทำลายดาวเคราะห์น้อยโดยตรงเหมือนในภาพยนตร์ กลับเป็นวิธีที่ผู้เชี่ยวชาญไม่แนะนำให้ใช้
โลกกำลังตื่นตัวกับกระแสดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ประเมินว่ามันมีโอกาสที่จะพุ่งชนโลกได้ในอีก 7 ปีข้างหน้า
สำนักงานบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา กับสำนักงานอวกาศยุโรป หรือ อีซา ปรับเพิ่มตัวเลขประเมินความเสี่ยงที่ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะพุ่งชนโลกขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดอยู่ 3.1% ในการประเมินเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (18 ก.พ.) ทั้งที่เมื่อช่วงสิ้นเดือนมกราคมตัวเลขความเสี่ยงอยู่ที่เพียง 1% เท่านั้น
แน่นอนว่าตัวเลข 3.1% ยังถือว่าน้อยมาก และผู้เชี่ยวชาญต่างออกมาบอกว่า ไม่มีความจำเป็นต้องกังวล ในขณะที่นักดาราศาสตร์ทั่วโลกกำลังเร่งเก็บข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ เพื่อประเมินความเสี่ยงให้ได้แม่นยำมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากโชคไม่ดีเกิดกรณีเลวร้ายที่สุดจริงๆ นักวิทยาศาสตร์ก็มีประเมินความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเอาไว้ รวมถึงเมืองที่ 2024 YR4 อาจตกใส่ ส่วนวิธีป้องกันอย่างการยิงอาวุธนิวเคลียร์เข้าทำลายดาวเคราะห์น้อยโดยตรงเหมือนในภาพยนตร์ กลับเป็นวิธีที่ผู้เชี่ยวชาญไม่แนะนำให้ใช้ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
2024 YR4 เสี่ยงชนโลกแค่ไหน?
...
ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 ซึ่งเพิ่งมีการค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ มีโอกาสพุ่งชนโลกเพิ่มขึ้นเป็น 3.1% แล้ว หลังนาซาประเมินเบื้องต้นเอาไว้ในช่วงปลายเดือนมกราคาที่ผ่านมาว่า มันมีโอกาสชนโลกราว 1% ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.9% ในสัปดาห์ก่อน และ 2.6% เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 มีขนาดประมาณ 40-90 ม. ใกล้เคียงกับตึกขนาดใหญ่ 1 หลัง โดยมันจะโคจรกลับมาและเคลื่อนตัวผ่านใกล้โลกอีกครั้งในวันที่ 22 ธ.ค. 2575
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า โอกาสที่มันจะพุ่งชนโลกจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงอีกหลายครั้ง เมื่อพวกเขาทำความเข้าใจเส้นทางโคจรรอบดวงอาทิตย์ของมันดีขึ้นกว่านี้ และมีโอกาสที่ความเสี่ยงจะลดลงไปจนเหลือ 0% ด้วย
ปัจจุบัน ดาวเคราะห์ 2024 YR4 มีความเสี่ยงที่จะพุ่งชนโลกอยู่ที่ระดับ 3 จาก 10 ตามมาตราโตริโน ซึ่งหมายถึงดาวเคราะห์น้อยที่การคำนวณในปัจจุบันบอกได้ว่ามีโอกาส 1% หรือมากกว่าที่จะเกิดการชนและสร้างความเสียหายในวงจำกัด การศึกษาด้วยกล้องโทรทรรศน์ในอนาคตน่าจะปรับลดเป็นระดับ 0 ได้
ในประวัติศาสตร์ยังไม่เคยมีวัตถุใกล้โลกใดๆ ที่เคยถูกจัดความอันตรายเกินกว่าระดับ 4 ตามมาตราโตริโน ซึ่งหมายความว่า การคำนวณในปัจจุบันบอกได้ว่ามีโอกาส 1% หรือมากกว่าที่จะเกิดการชนและสร้างความเสียหายระดับภูมิภาค การศึกษาด้วยกล้องโทรทรรศน์ในอนาคตน่าจะปรับลดเป็นระดับ 0 ได้
หลังจากนี้ กล้องโทรทรรศน์ เจมส์ เว็บบ์ จะสังเกตการณ์ดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกดวงนี้ไปจนถึงเดือนเมษายน ก่อนที่มันจะหายไปจากระยะการมองเห็น และนักวิทยาศาสตร์ต้องรอจนถึงปี 2571 กว่าที่มันจะปรากฏตัวอีกครั้ง
จะเกิดอะไรขึ้นหาก 2024 YR4 ชนโลก?
หากดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 จะพุ่งชนโลกจริง มันจะเกิดขึ้นในวันที่ 22 ธ.ค. 2575 นาซาประเมินว่าการตกจะเกิดขึ้นตามเส้น “risk corridor” ซึ่งลากยาวตั้งแต่พื้นที่ทางตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ไปยังทางเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ตามด้วยมหาสมุทรแอตแลนติก, ทวีปแอฟริกา, ทะเลอาราเบีย และเอเชียใต้
ในพื้นที่ดังกล่าว มีเมืองที่ประชากรมากที่สุดในโลก 100 อันดับแรกอยู่ถึง 8 เมือง รวมถึง โบโกตา, อาบิดจาน, ลากอส, คาร์ทูม, มุมไบ, โกลกาตา และธากา
พอล โชดาส ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการศึกษาวัตถุใกล้โลกของนาซา ระบุว่า หาก 2024 YR4 มีขนาดค่อนไปใหญ่ของตัวเลขประเมิน ก็มีโอกาสที่แรงกระแทกจากสร้างความเสียหายรัศมีถึง 50 กม. นับจากจุดตก และความเสียหายอาจมากขึ้นอีก เนื่องจากมันเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงถึง 17 กิโลเมตรต่อวินาที
ดาวเคราะห์น้อยขนาดนี้พุ่งชนโลกทุกๆ 2-3 พันปี และสร้างความเสียหายอย่างหนักในระดับท้องถิ่น เช่นในปี 2451 ดาวเคราะห์น้อยขนาด 30 ม. ตกลงในแม่น้ำ พอดกาเมนนายา ตุงกุสกา (Podkamennaya Tunguska) ในพื้นที่ห่างไกลของป่าไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย ทำลายพื้นที่กว่า 2,150 ตร.กม. ต้นไม้หักโค่นหรือได้รับผลกระทบกว่า 20 ล้านต้น
และในปี 2556 ดาวเคราะห์น้อยขนาด 20 ม. พุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก เหนือท้องฟ้าของเมืองเชเลียบินสก์ ของรัสเซีย ก่อนที่มันจะระเบิดกลางอากาศ ปล่อยพลังงานมากกว่าระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมะ 20-30 เท่า ทำให้เกิดแสงสว่างจ้ายิ่งกว่าดวงอาทิตย์ และปลดปล่อยความร้อนออกมา สร้างความเสียหายให้แก่อาคารมากกว่า 7,000 หลัง มีผู้บาดเจ็บเกิน 1,000 คน
หาก 2024 YR4 เป็นดาวเคราะห์น้อยหินอย่างที่คาด และมีขนาดค่อนไปทาง 90 ม. ตามการประเมิน ความเสียหายก็อาจรุนแรงกว่านี้มาก แต่หากมันตกในทะเลทรายหรือในทะเล ความเสียหายก็อาจเป็นศูนย์เลยก็ได้
ทำไมยิงนิวเคลียร์สกัดไม่ได้?
นาซาเป็นเจ้าแรกของโลกที่ดำเนินการทดสอบเทคโนโลยีป้องกันโลกจากดาวเคราะห์น้อย โดยพวกเขาส่งจรวดไปชนดาวเคราะห์น้อยแฝดภายใต้โครงการ “ดาร์ท” (DART) และเปลี่ยนวิธีโคจรของมันได้สำเร็จในวันที่ 26 ก.ย. 2565 และนาซาก็อาจจะทำแบบเดียวกันกับ 2024 YR4 ได้
แต่ในกรณีที่ 2024 YR4 เป็นดาวเคราะห์น้อยประเภทเศษหิน (rubble-type asteroid) การส่งยานไปชนอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง เพราะดาวเคราะห์น้อยอาจจะแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แทนที่จะเป็นก้อนใหญ่ก้อนเดียว ซึ่งคราวนี้ก็ไม่มีใครคาดเดาได้แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกมัน
ในกรณีของอาวุธมหาประลัยอย่างระเบิดปรมาณู นายลูกา คอนเวอร์ซี จากสถาบันวิจัยอวกาศยุโรป “ESRIN” ของ อีซา ระบุว่าประสิทธิภาพการป้องกันจะลดน้อยลงไปอีก และเป็นวิธีอันตรายที่ควรใช้เมื่อไม่มีทางเลือกแล้วเท่านั้น
“ก่อนอื่นเลย มันไม่เคยมีการทดสอบมาก่อน” นายคอนเวอร์ซีกล่าว “หากเรายิงจรวดแบบโครงการดาร์ทไปแล้วล้มเหลว มันก็แค่ ‘ว้า แย่จัง’ แต่หากยิงจรวดบรรทุกระเบิดนิวเคลียร์ไป แล้วมันเกิดระเบิดขึ้นในชั้นบรรยากาศส่วนบนละ จะทำยังไง” “คุณกำลังเสี่ยง และคุณต้องทำให้แน่ใจว่า ความเสี่ยงที่คนกำลังทำนั้นมันคุ้มกับความพยายาม”
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
ที่มา : cnn , forbes , yahoo
...