สหรัฐฯ กับสหราชอาณาจักร ปฏิเสธร่วมลงนามในปฏิญญา AI ระหว่างประเทศที่การประชุมสุดยอดในกรุงปารีส ในขณะที่อีกหลายสิบประเทศ รวมจีนกับอินเดีย ร่วมลงนาม

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กว่า 60 ประเทศรวมถึง ฝรั่งเศส, จีน, และอินเดีย ร่วมลงนามในปฏิญญาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระหว่างประเทศ ที่การประชุมสุดยอดในกรุงปารีส ให้คำมั่นว่าจะใช้นโยบายที่ “เปิดกว้าง”, “ครอบคลุม” และ “มีจริยธรรม” ในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้

อย่างไรก็ตาม สหราชอาณาจักรกับสหรัฐฯ เป็น 2 ประเทศที่ปฏิเสธร่วมลงนามปฏิญญาดังกล่าว โดยรัฐบาลอังกฤษระบุว่า พวกเขาเห็นด้วยกับเนื้อหาส่วนใหญ่ในปฏิญญา แต่รู้สึกว่าประกาศนี้ไม่ให้ความชัดเจนเพียงพอในเรื่องธรรมาภิบาลโลก และไม่ได้ตอบคำถามที่ยากกว่าเรื่องความมั่นคงของชาติและความท้าทายที่เป็นผลมาจาก AI

ขณะที่นายเจ.ดี. แวนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้เป็นตัวแทนไปร่วมการประชุมที่กรุงปารีสกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า กฎข้อบังคับที่มากเกินไปในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์อาจทำลายอุตสาหกรรมที่มีความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลานี้ ในตอนที่มันเพิ่งเริ่มออกตัวเท่านั้น

นายแวนซ์บอกผู้นำโลกคนอื่นๆ ด้วยว่า AI คือโอกาสที่รัฐบาลทรัมป์จะไม่ยอมให้เสียไป และว่านโยบาย AI เพื่อการเติบโต ควรได้รับความสำคัญมากกว่าความปลอดภัย

คำพูดของนายแวนซ์ดูจะสวนทางกับนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ผู้ออกมากล่าวปกป้องความจำเป็นที่ต้องมีการควบคุมการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์มากขึ้นว่า “เราต้องการข้อบังคับเหล่านี้เพื่อให้ AI สามารถก้าวไปข้างหน้าได้”

ด้านรัฐบาลสหราชอาณาจักรยืนยันด้วยว่า การตัดสินใจของพวกเขาไม่ได้รับอิทธิพลมาจากรัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ “เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับสหรัฐฯ แต่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของประเทศของเรา, การรับประกันสมดุลระหว่างโอกาสและความมั่นคง”

...

ทั้งนี้ ปฏิญญา AI ระหว่างประเทศมีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ด้วยการส่งเสริมการเข้าถึงปัญญาประดิษฐ์ และรับประกันว่าการพัฒนาเทคโนโลยีนี้จะเป็นไปอย่าง “โปร่งใส”, “ปลอดภัย” และ “น่าเชื่อถือ” โดยที่การทำให้ AI ยั่งยืนสำหรับผู้คนและโลก เป็นหนึ่งในสิ่งที่ได้รับความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ

ปฏิญญายังระบุด้วยว่า ประเด็นเรื่องการใช้พลังงานของ AI ที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเตือนว่าจะเพิ่มมากขึ้นจนเท่าการใช้พลังงานของประเทศเล็กๆ บางประเทศภายในไม่กี่ปีข้างหน้า ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือในการประชุมสุดยอดคราวนี้เป็นครั้งแรกด้วย

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : bbc