เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้เผย กล่องดำของเครื่องบินโดยสารของ เจจู แอร์ ที่ตกจนมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 170 ศพเมื่อเดือนก่อน หยุดทำงานก่อนที่เครื่องจะตก 4 นาที
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เกาหลีใต้กำลังสืบสวนข้อเท็จจริงของเหตุเครื่องบินโดยสารเที่ยวบิน 7C2216 ของสายการบิน เจจู แอร์ ที่ลงจอดฉุกเฉินโดยล้อไม่กางที่ท่าอากาศยานนานาชาติ มูอัน จนทำให้เครื่องไถลหลุดรันเวย์ไปชนกำแพงจนระเบิด และมีผู้เสียชีวิตมากถึง 179 ศพ เมื่อ 29 ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา
ล่าสุดในวันเสาร์ที่ 11 ม.ค. 2568 กระทรวงคมนาคมของเกาหลีใต้ระบุว่า ทั้งอุปกรณ์บันทึกเสียงในห้องนักบิน (CVR) และอุปกรณ์บันทึกข้อมูลการบิน (FDR) ของเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ลำนี้ หยุดทำงานก่อนที่เครื่องจะตกประมาณ 4 นาที โดยที่พวกเขายังไม่ทราบสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร แต่พวกเขาจะหาสาเหตุการตกให้ได้
“CVR กับ FDR เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการสืบสวนอุบัติเหตุ แต่การสืบสวนอุบัติเหตุต่างๆ ดำเนินการผ่านการสืบสวนและวิเคราะห์ข้อมูลที่หลากหลาย ดังนั้น เราจะพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อระบุสาเหตุของอุบัติเหตุในครั้งนี้อย่างแม่นยำ” กระทรวงคมนาคมเกาหลีใต้ระบุในแถลงการณ์
ทางกระทรวงระบุด้วยว่า อุปกรณ์บันทึกเสียงในห้องนักบินได้รับการวิเคราะห์จากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก่อน จากนั้นจึงถูกส่งไปยังสหรัฐฯ เพื่อตรวจสอบยืนยันความถูกต้อง
ส่วนอุปกรณ์บันทึกข้อมูลการบิน ซึ่งเสียหายหนักและช่องเชื่อมต่อหายไป ถูกส่งไปให้คณะกรรมการความปลอดภัยการคมนาคมแห่งชาติของสหรัฐฯ (NTSB) ทำการวิเคราะห์ตั้งแต่สัปดาห์ก่อนแล้ว เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของเกาหลีใต้มีข้อสรุปว่า ความเสียหายดังกล่าวทำให้พวกเขาไม่สามารถดึงข้อมูลจากอุปกรณ์นี้ได้
ด้านนาย ซิม ไจ-ดง อดีตเจ้าหน้าที่สืบสวนอุบัติเหตุของกระทรวงคมนาคมเกาหลีใต้ บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า การที่ข้อมูลในกล่องดำหายไปในช่วงเวลาสำคัญเช่นนี้เป็นเรื่องน่าประหลาดใจ และบ่งชี้ว่าพลังงานทั้งหมด รวมถึงพลังงานสำรอง ถูกตัดขาด
...
ทั้งนี้ โศกนาฏกรรมเครื่องบินโดยสารของ เจจู แอร์ เป็นเหตุเครื่องบินตกที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในรอบ 27 ปีของเกาหลีใต้ โดยในปี 2540 เกิดเหตุเครื่องบินโบอิ้ง 747 ของสายการบิน โคเรียน แอร์ ตกในป่าของเกาะกวม ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 228 ศพ
ข้อมูลที่มีการเปิดเผยออกมาก่อนหน้านี้ระบุว่า ก่อนที่เที่ยวบิน 7C2216 จะลงจอดฉุกเฉิน นักบินได้ส่งสัญญาณเมย์เดย์ และใช้คำว่า “นกชน” (bird strike) และ “ยกเลิกลงจอด” (go-around) ก่อนที่เครื่องจะพยายามลงจอดจากฝั่งตรงข้ามของที่ควรจะเป็น
ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign