ในปี 2568ทั่วโลกต่างจับตา “การแข่งขันของมหาอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกา และประเทศจีน” ที่เกิดขึ้นและยังดำเนินอยู่ เข้ามามีบทบาท “ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเข้มข้นมากขึ้น” เนื่องจากภูมิภาคแห่งนี้มีฐานทรัพยากรทางเศรษฐกิจมั่นคง และมีจุดยุทธศาสตร์เชื่อมโยงในหลายภูมิภาค
หากมาดูโครงสร้างอำนาจของโลกแนวดิ่ง “หลังสงครามเย็น” สหรัฐฯเป็นประเทศอภิมหาอำนาจเจ้าเดียว ส่วนประเทศมหาอำนาจ คือ จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น อินเดีย อียู และมหาอำนาจปานกลาง เช่น ออสเตรเลีย อิหร่าน เกาหลีใต้ รวมถึงเกาหลีเหนือ แม้พื้นที่เล็กประชากรน้อย แต่มีอาวุธนิวเคลียร์เลยถูกจัดเป็นมหาอำนาจปานกลางนั้น
ถ้ามาดูโครงสร้างแนวระนาบจะเห็นว่า “สหรัฐฯ” เป็นแกนกลาง ทางยุทธศาสตร์ต่อประเทศพันธมิตร เช่น ยุโรป ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หากมีนโยบายใดออกมาประเทศเหล่านี้ก็จะร่วมขับเคลื่อน อย่างเช่น “นโยบายอินโดแปซิฟิก” ที่มีออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น คอยรับลูกเพื่อร่วมกันต่อสู้อิทธิพลจีนในภูมิภาคนี้
แล้วทุกครั้งที่ “สหรัฐฯ เรืองอำนาจทางการเมืองโลก” ในอีกมุม ของจีน และรัสเซียก็มักร่วมมือกันต่อต้านการเป็นมหาอำนาจเจ้าเดียว โดยมีพันธมิตรอย่างเกาหลีเหนือ อิหร่าน ปากีสถาน สนับสนุนในรูปแบบต่างๆ รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รอง ผอ.โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ บอกว่า
เรื่องยุทธศาสตร์มหาอำนาจจัดระเบียบโลกอย่าง “สหรัฐฯ” หากดูภูมิประเทศแล้วจะเห็นว่า “ตั้งอยู่จุดกึ่งกลางระหว่างจีนและรัสเซีย” เพราะถ้าข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกก็เจอกับ “รัสเซีย” แต่หาก ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกก็ต้องเผชิญ “จีน” ทำให้สหรัฐฯต้องหาหนทางรักษาความมั่นคง ปลอดภัย และการมีอำนาจต่อกรคู่แข่งนั้น
...
ด้วยการสถาปนากับ “ประเทศพันธมิตรทางยุทธศาสตร์” ในยุโรปตะวันตกอย่างซาอุดีอาระเบียและอิสราเอล เพราะเป็นประเทศสำคัญ “อันเป็นจุดยุทธศาสตร์ในยูเรเชีย” ที่เป็นเขตอิทธิพลโดยประเพณีของรัสเซีย ขณะที่เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ก็เป็นประเทศหมายปองสำหรับใช้ปิดล้อมต่อกรกับจีนด้วยเหมือนกัน
ทว่าหากมาดู “การควบคุมทางทะเล” สหรัฐฯได้วางสายโซ่ ทางยุทธศาสตร์ไปตามท้องน้ำมหาสมุทรแปซิฟิกให้เป็นเส้นวางกำลังเรือรบ หรือฐานทัพเรือลอยน้ำ “ควบคุมอำนาจทางทะเล” เพื่อขยาย อิทธิพลไว้ 4 สายโซ่ เริ่มจากฝั่งตะวันตกสหรัฐฯ ฮาวาย มิดเวย์ และ เกาะกวมมีการวางแนวป้องกัน และแนวรุกรบตามเกาะยุทธศาสตร์
แถมยังลากเส้นสายโซ่ยุทธศาสตร์จากตอนใต้ของญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ “ควบคุมทะเลจีนใต้” สิ่งนี้เป็นการบ่มเพาะกำลังพลผ่านแนวโซ่ยุทธศาสตร์ 4 แนว ทำให้มีเสถียรภาพถูกใช้มาจนทุกวันนี้หากสหรัฐฯเปิดศึกกับจีนก็สามารถลำเลียงกำลังพล พร้อมยุทโธปกรณ์สมทบกับกองเรือที่วางไว้ได้อย่างสะดวก
เมื่อเป็นเช่นนี้ “จีน” ก็พยายามแก้เกมด้วยประกาศขึงโซ่ยุทธศาสตร์ทับซ้อนแนวโซ่ของ “สหรัฐฯ” นำมาสู่ความตึงเครียดในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะเอเชียแปซิฟิกล้วนเกิดจากการเล่นเกมขึงโซ่ ทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ทำให้แนวโซ่ทับซ้อนบริเวณไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และทะเลจีนใต้ มีการแข่งขันกันค่อนข้างเข้มข้นรุนแรง
สิ่งนี้ทำให้เห็นว่า “สหรัฐฯเป็นประเทศเดียวแบ่งเขตแนวโลกมาเป็นยุทธศาสตร์” เพื่อเป็นแนวกระจายกำลังทหาร และพัฒนาพันธมิตร ในส่วน “จีน” แม้จะกระจายอิทธิพลออกมานอกประเทศบ้าง แต่ก็ยังเน้นการใช้ยุทธศาสตร์ทางทหาร “ยึดแผนที่ประเทศเป็นตัวตั้ง” สำหรับกระจายกองกำลังทางทหารออกไปตามภูมิภาค
ประเด็นสำคัญคือ “USPACOM หรือ USINDOPACOM” ที่มีกองบัญชาการใหญ่ในฮาวายเป็นหน่วยงานที่มีบทบาท “ในการรักษาความมั่นคงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก” ครอบคลุมถึงในเซาท์อีสเอเชีย เช่น ไทย อินเดีย แล้วในสายตาสหรัฐฯต่างมองว่าพื้นที่เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคทางทหารสำคัญ
เพราะด้วยอินโดแปซิฟิกนี้มีความชัดเจนขึ้น “สมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ 1.0” จากนโยบายอเมริกาต้องมาก่อน (America First) ที่ต้องลดบทบาทกิจการระหว่างประเทศในหลายด้าน เพื่อจะพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ จึงชูแนวคิดยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกให้ชัดเจนมากที่สุดอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ผลลัพธ์ตามมาคือ “คาบสมุทรอินโดถูกเชื่อมต่อกับมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นผืนน้ำเดียวกัน” ส่งผลให้สหรัฐฯสามารถวางกำลังทางทหารในภูมิภาคเดียวได้ “อันเป็นความสำเร็จทางยุทธศาสตร์อย่างมาก” เพราะทำให้เรือรบ และพันธมิตรแล่นผ่านจุดใดก็ได้ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกอย่างเสรีนี้
“เช่นนี้ทำให้อาเซียนกลายเป็นศูนย์กลางทางยุทธศาสตร์ภายในกรอบอินโดแปซิฟิก ดังนั้น ประเทศไทยจะอยู่ภายในกรอบความสัมพันธ์เฉพาะอาเซียนอย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างกรอบอินโดแปซิฟิกด้วย เพราะเป็นระเบียบโลก หรือระเบียบภูมิภาคที่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้ว” รศ.ดร.ดุลยภาคว่า
...
แต่หากมาดู “จีน” ซึ่งเป็นมหาอำนาจใช้กลยุทธ์แบบต่อยอด “คิดหลายชั้น” ในการใช้ยุทธศาสตร์เดิมเข้าไปควบคุมพื้นที่สำคัญก่อนแล้ว “นำยุทธศาสตร์ใหม่เข้าไปเสริมทัพ” เพื่อให้อิทธิพลเข้มข้นหลายชั้นอย่างในปี 1990-2000 “จีนขยายอิทธิพลแบบสร้อยไข่มุก” ในการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจนอกดินแดนก็มักปักเม็ดไข่มุกเอาไว้
ตั้งแต่ทะเลจีนใต้เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิก-มหาสมุทรอินโด “จนอินเดียถูกปิดล้อม” พยายามแหวกสร้อยไข่มุกเรียกว่า “ยุทธศาสตร์สร้อยเพชร” ที่จับมือศัตรูจีนอย่างญี่ปุ่น เวียดนาม เป็นประเทศอยู่นอกวงสร้อยไข่มุก
ไม่เท่านั้นจีนยังวางเลย์เอาต์ “สร้างไข่มุก” อย่างเช่นเส้นทาง one belt one road หรือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง “ขยายโลจิสติกส์” เป็นเส้นทางการค้าการลงทุนเชื่อมจีนกับเอเชียกลางไปสู่ยุโรป “ประเทศ ในอาเซียน” ก็เผชิญกับระเบียงเศรษฐกิจจีน และอินโดจีนไม่ว่าจะเป็นทางรถไฟลาว-จีน หรือท่าเรือสีหนุวิลล์ในกัมพูชา
แม้แต่เมียนมา “จีนก็มีอิทธิพลหัวเมืองใหญ่” บางส่วนขยายมายังชายแดนเมียนมา-ไทย ทำให้บางพื้นที่เกิดภัยคุกคามเป็นแหล่งกบดานจีนเทาในเมียวดี ชเวโก๊กโก่ เคเคปาร์ก และมีข่าวจีนจะเข้าไปพญาตองซูด้วย
ส่วนโอกาสของอิทธิพลจีนที่มีต่อ “ไทย” หากต้องการทำธุรกิจค้าขายก็จะทำได้ง่ายเพียงแต่อาจต้องปรับกลยุทธ์ให้เกิดเป็นผลประโยชน์ต่อประเทศ สิ่งนี้ถูกนำเสนอผ่านโครงการเพิ่มองค์ความรู้สื่อมวลชนเรื่อง : กระบวนทัศน์ใหม่ของสื่อหลังโลกาภิวัตน์รุ่นที่ 2 (ลกส.2) จัดโดยสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และ สกสว.เมื่อไม่นานมานี้
ฉะนั้นประเทศไทย “กำลังอยู่จุดคับขันทางยุทธศาสตร์” ต้องปรับตัวแผ่อิทธิพล 4 ทิศ และมียุทธศาสตร์เฉพาะตามชายแดนมองทะลุกรอบ “ด้ามขวานทอง” เพื่อให้เป็นรัฐที่มีอำนาจระดับกลางในเอเชีย.
...
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม