ประธานาธิบดีซิมบับเวลงนามบังคับใช้กฎหมาย ยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว และเตรียมพิจารณาบทลงโทษของนักโทษประหารหลายสิบคนในประเทศใหม่อีกครั้ง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายเอ็มเมอร์สัน มนันกากวา ประธานาธิบดีซิมบับเว ลงนามกฎหมายยกเลิกการลงโทษด้วยวิธีประหารชีวิตแล้ว ในวันอังคารที่ 31 ธ.ค. 2567 โดยให้มีผลบังคับใช้ในทันที

รัฐสภาซิมบับเวลงมติผ่านร่างกฎหมายยกเลิกโทษประหารเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม โดยซิมบับเวประหารชีวิตนักโทษครั้งล่าสุดเมื่อปี 2548 และปัจจุบันเหลือนักโทษประหารประมาณ 60 คน จากความผิดร้ายแรงต่างๆ เช่นโทษประหาร

สื่อท้องถิ่นของซิมบับเวระบุว่า นักโทษประหารกลุ่มนี้จะได้รับการพิพากษาโทษใหม่โดยศาล โดยจะพิจารณาจากธรรมชาติของความผิดที่พวกเขาก่อ, ระยะเวลาที่ถูกคุมขังเพื่อรอรับโทษประหาร และสถานการณ์ส่วนบุคคลของพวกเขา

ทั้งนี้ นายมนันกากวาเป็นผู้ต่อต้านโทษประหารชีวิตมาตลอด โดยอ้างถึงประสบการณ์ของตัวเองที่เคยถูกตัดสินประหารชีวิตในช่วงยุค 60 จากข้อกล่าวหาว่า วางระเบิดรถไฟระหว่างช่วงสงครามกองโจรเพื่อเอกราช โดยต่อมาเขาได้รับการลดโทษเหลือจำคุก 10 ปี

ด้านองค์กรนิรโทษกรรมสากล หรือ “แอมเนสตี” (Amnesty) ออกมาชื่นชมความเคลื่อนไหวล่าสุดของซิมบับเว อย่างไรก็ตาม พวกเขาเรียกร้องให้รัฐบาลซิมบับเวยกเลิกข้อกำหนดในกฎหมายฉบับนี้ ที่อนุญาตให้ใช้โทษประหารได้ในกรณีฉุกเฉินด้วย

ตามข้อมูลจากแอมเนสตี ปัจจุบันมี 113 ประเทศทั่วโลก รวมถึง 24 ชาติในทวีปแอฟริกา ที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ขณะที่ 5 ประเทศที่มีการประหารชีวิตนักโทษมากที่สุดในปี 2566 ได้แก่ จีน, อิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย, โซมาเลีย และ สหรัฐอเมริกา

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

...

ที่มา : bbc