“โดนัลด์ ทรัมป์-คามาลา แฮร์ริส” สองผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสู้กันยิบตา หลังคะแนนนิยมของทั้งสองออกมาสูสีจนไม่อาจชี้ขาดชัดเจนโดยก่อนเปิดหีบหย่อนบัตรจริงในวันที่ 5 พ.ย.นี้ ต้องจับตา 7 รัฐตัวแปร “สวิง สเตท” ทำให้ต้องเร่งเครื่องหาเสียงทิ้งท้าย ซึ่ง “ทรัมป์” ลุยหาเสียงที่รัฐมิชิแกน ส่วน “แฮร์ริส” เดินสายหาเสียงที่รัฐเพนซิลเวเนีย ขณะที่จะรู้ใครเป็น “ตัวเต็ง” ในคืนวันเลือกตั้ง
การเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา 2024 ศึกชิงชัยระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ วัย 78 ปี อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน กับนางคามาลา แฮร์ริส วัย 60 ปี รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และตัวแทนจากพรรคเดโมแครต ในวันที่ 5 พ.ย.นี้ ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ถูกจับตาจากคนทั่วโลกว่าจะมีผลลัพธ์เช่นไร หลังคะแนนนิยมของผู้สมัครทั้ง 2 คน ออกมาสูสีคู่คี่ จนไม่สามารถชี้ขาดได้ว่า ใครจะได้เข้าไปนั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศในทำเนียบขาว ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งสหรัฐฯครั้งนี้ มีความชัดเจนแล้วว่า ผู้สมัครที่กวาดชัยชนะในรัฐ “สวิง สเตท” หรือรัฐที่ในปีนั้นๆ มีทิศทางไม่ชัดเจนว่าจะเลือกรีพับลิกันหรือเดโมแครต จะเป็นผู้กำชัยในท้ายที่สุด เนื่องด้วยระบบการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ไม่ได้วัดจากคะแนนดิบทั่วประเทศ แต่วัดจากคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง 538 เสียงใน 50 รัฐ ตามระบบการสร้างสมดุลรัฐใหญ่รัฐเล็ก ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยหลังจากผู้มีสิทธิออกเสียงกาบัตรเลือกตั้งประธานาธิบดีเสร็จสิ้น คะแนนเสียงเหล่านี้จะถูกรวมกันภายในรัฐ ซึ่งหากผู้สมัครชิงตำแหน่งคนใดได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุด จะได้รับคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งในรัฐนั้นไปทั้งหมดตามระบบ “ผู้ชนะกินรวบ” (Winner-take-all) ยกตัวอย่างเช่น รัฐนิวยอร์ก ที่มีคณะผู้เลือกตั้ง 28 เสียง (คำนวณจากจำนวนประชากร) หรือรัฐฟลอริดา ที่มีคณะผู้เลือกตั้ง 30 เสียง หากพรรคเดโมแครตหรือรีพับลิกันชนะคะแนนดิบ จะได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้งไปทั้งหมด ไม่ต้องแบ่งตามสัดส่วนของคะแนนดิบ และมีเพียง 2 รัฐของสหรัฐฯ เท่านั้นที่ใช้ระบบการแบ่งสัดส่วนคณะผู้เลือกตั้งตามคะแนนดิบ นั่นคือ รัฐเมน และรัฐเนบราสกา
...
กฎเกณฑ์ของการเลือกตั้งสหรัฐฯ คือ ผู้สมัครจะต้องได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งอย่างน้อย 270 เสียง จากทั้งหมด 538 เสียง จึงจะชนะการเลือกตั้ง ซึ่งหากวัดจากทิศทางคะแนนนิยมในรัฐ “ฐานที่มั่น” หรือรัฐที่มักจะเลือกรีพับลิกันหรือเดโมแครตอยู่ตลอดเวลาไม่เอนเอียง เท่ากับว่าในขณะนี้พรรคเดโมแครตจะได้รับคะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้งไปแล้ว 226 เสียง ขาดอีก 44 เสียงจะชนะ ขณะที่ รีพับลิกันครอง 219 เสียง ขาดอีก 51 เสียงจะชนะ
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้รัฐตัวแปร “สวิง สเตท” ในปีนี้ ที่ประกอบด้วย 7 รัฐ คือเพนซิลเวเนีย มิชิแกน วิสคอนซิน นอร์ทแคโรไลนา จอร์เจีย อริโซนา เนวาดา กลายเป็นรัฐที่จะตัดสินชี้ขาด มีคะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้งรวมกันทั้งหมด 93 เสียง แบ่งเป็นเพนซิลเวเนีย 19 เสียง มิชิแกน 15 เสียง วิสคอนซิน 10 เสียง นอร์ทแคโรไลนา 16 เสียง จอร์เจีย 16 เสียง อริโซนา 11 เสียง และเนวาดา 6 เสียง ซึ่งสำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักประเมินทิศทางผลสำรวจคะแนนนิยมพบว่า นายทรัมป์กำลังมีคะแนนนำอยู่ใน 4 รัฐ คือนอร์ทแคโรไลนา จอร์เจีย อริโซนา เนวาดา ขณะที่นางแฮร์ริสมีคะแนนนำในรัฐวิสคอนซิน ส่วนรัฐเพนซิลเวเนียและมิชิแกน มีคะแนนนิยมสูสี
สื่อท้องถิ่นสหรัฐฯ ยังประเมินด้วยว่าหากยึดตามทิศทางของคะแนนนิยม สามารถตีความได้ว่า ฝ่ายรีพับลิกัน (ทรัมป์) ครองคะแนนคณะผู้เลือกตั้งไปแล้ว 268 เสียง ขาดอีก 2 เสียงถึงจะชนะ ฝ่ายเดโมแครต (แฮร์ริส) ครองคะแนนคณะผู้เลือกตั้งไปแล้ว 236 เสียง ขาดอีก 34 เสียงถึงจะชนะ ซึ่งความเป็นไปได้หลังจากนี้คือ พรรคเดโมแครตจำเป็นต้องได้รับชัยชนะในรัฐเพนซิลเวเนียและมิชิแกน จึงจะมีเสียงคณะผู้เลือกตั้งถึงเกณฑ์ กรณีนี้ทำให้นายทรัมป์เดินสายหาเสียงทิ้งท้ายในวันที่ 4 พ.ย.ที่รัฐมิชิแกน และนางแฮร์ริสเดินสายหาเสียงที่รัฐเพนซิลเวเนีย
ข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ยังระบุด้วยว่าส่วนใหญ่แล้วจะมีการประกาศ “ตัวเต็ง” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในคืนวันเลือกตั้ง (ตรงกับช่วงเช้าวันที่ 6 พ.ย. ตามเวลาประเทศไทย) จากนั้นจึงจะเข้าสู่กระบวนการที่แต่ละรัฐจะต้องประกาศผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการ ซึ่งสำนักข่าวเดอะไทม์สรายงานว่า รัฐสวิง สเตทมีกำหนดประกาศผลนับคะแนนที่ต่างกัน รัฐจอร์เจียต้องประกาศผลไม่เกินวันที่ 23 พ.ย. มิชิแกน วันที่ 25 พ.ย. นอร์ทแคโรไลนาและเนวาดา ไม่เกินวันที่ 26 พ.ย. รัฐวิสคอนซิน ไม่เกินวันที่ 1 ธ.ค. รัฐอริโซนา ไม่เกินวันที่ 2 ธ.ค. ส่วนรัฐเพนซิลเวเนียยังไม่กำหนดวันที่ชัดเจน เพื่อให้คณะผู้เลือกตั้งจัดการประชุมในรัฐของตัวเอง เพื่อลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีในวันที่ 17 ธ.ค. และนำส่งผลการโหวตของคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมดไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ภายในวันที่ 25 ธ.ค. เพื่อเตรียมทำพิธีนับผลโหวตคณะผู้เลือกตั้งในวันที่ 6 ม.ค.2568
นอกจากนี้ สำนักข่าวต่างประเทศยังรายงานด้วยว่า การเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 รอบนี้ ยังถือว่ามีความแตกแยกทางสังคมมากกว่าครั้งใดๆ เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมของสื่อสาธารณะโดยเฉพาะแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่มักจะเอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งอย่างชัดเจน อย่างเมตา (เฟซบุ๊ก/อินสตาแกรม) ที่เน้นการเผยแพร่คอนเทนต์ของขั้วเดโมแครตและเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) ที่เต็มไปด้วยคอนเทนต์ของขั้วรีพับลิกัน ทั้งยังเกิดประเด็นในวงการสื่อกระแสหลัก หลังจากหนังสือพิมพ์แอลเอ ไทม์ส และเดอะวอชิงตัน โพสต์ แสดงจุดยืนไม่สนับสนุนผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใด และทำให้กลุ่มบรรณาธิการประกาศลาออกจากตำแหน่ง เนื่องด้วยความไม่พอใจในตัวผู้บริหารสื่อ ไม่ยอมให้เผยแพร่บทแถลงการณ์สนับสนุนนางแฮร์ริส ตัวแทนพรรคเดโมแครต
...
ขณะที่บรรยากาศช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ยังเกิดกรณีที่อาจส่งผลต่อคะแนนนิยมของตัวผู้สมัครด้วยเช่นกัน หลังทีมหาเสียงของนายทรัมป์กล่าวติดตลกว่า เกาะเปอร์โตริโกเป็นเกาะขยะ ทำให้ทางพรรคเดโมแครตโหนกระแสโจมตีว่า รีพับลิกันไม่เห็นคุณค่าของฐานเสียงชาวอเมริกันเชื้อสายละตินอเมริกา ซึ่งถือเป็นฐานเสียงสำคัญในรัฐสวิงสเตท แต่ในเวลามาต่อ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้กล่าวว่า ผู้สนับสนุนนายทรัมป์ล้วนเป็นพลเมืองขยะ ก่อนจะแถลงแก้ตัวภายหลังว่า ไม่ได้หมายถึงประชาชนที่สนับสนุนทรัมป์ แต่ขยะในที่นี้หมายถึงทีมงานของทรัมป์ ซึ่งมีนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า เป็นการตั้งใจเตะตัดขานางแฮร์ริสหรือไม่ เนื่องจากในช่วงเดือน ส.ค.กลางปีที่ผ่านมาทางพรรคเดโมแครตได้เปลี่ยนตัวแทนพรรคชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกลางคัน โดยปลดนายไบเดนออกและชูนางแฮร์ริสขึ้นมาแทน ด้วยความกังวลว่านายไบเดนมีปัญหาทางสุขภาพ ซึ่งสื่อท้องถิ่นสหรัฐฯ ต่างรายงานว่า คนที่เดินเกมเปลี่ยนตัวครั้งนี้คือนายบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ