- เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานด้านไซเบอร์และคริปโตแห่งชาติของอินโดนีเซียรายหนึ่ง ได้แสดงความกังวลต่อการย้ายไปยังนูซันตารา เมืองหลวงแห่งใหม่ของอินโดนีเซีย และเปิดเผยว่าเธอกลัวสิ่งที่เรียกว่า "ซันเตต" (santet) ซึ่งเป็นความเชื่อแบบดั้งเดิมของอินโดนีเซียที่เกี่ยวข้องกับคาถา มนตร์เสน่ห์ และพลังเหนือธรรมชาติอันชั่วร้ายที่ใช้ทำร้ายผู้อื่น
- กาลีมันตัน ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียว มีความเกี่ยวข้องกับประเพณีทางวัฒนธรรมลึกลับต่างๆ เช่น พิธีกรรมล่าหัวคนของชนเผ่าดายัค ด้านนักสังเกตการณ์ด้านวัฒนธรรม ยืนยันว่าการปฏิบัติเวทมนตร์ดำซันเตตยังคงมีอยู่และแพร่หลายในชุมชนพื้นเมืองของเกาะบอร์เนียว รวมถึงพื้นที่โดยรอบที่ตั้งของเมืองหลวงในอนาคตของอินโดนีเซียด้วย
- นายโจโค วิดโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ดูเหมือนจะตระหนักดีถึงพลังเหนือธรรมชาติที่โอบล้อมพื้นที่เมืองหลวงแห่งใหม่นี้ ในปี 2565 ก่อนที่จะเริ่มก่อสร้างเมืองใหม่ เขาได้จัดพิธีกรรมที่เรียกว่า "เคนดี นูซันตารา" หรือ "เหยือกแห่งนูซันตารา" เพื่อขออนุญาตจากวิญญาณที่อาศัยอยู่ก่อนจะเข้าไปในอาคารหรือบ้านหลังใหม่
แค่ความคิดที่จะย้ายไปยังนูซันตารา เมืองหลวงแห่งใหม่ของอินโดนีเซีย ก็ทำให้หลายคนรู้สึกมึนงงแล้ว ทั้งจากอุปสรรคด้านการขนส่ง ไปจนถึงค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น แต่สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่ง การย้ายถิ่นฐานทำให้เธอต้องวิตกกังวลด้วยเหตุผลที่ต่างออกไปโดยสิ้นเชิง นั่นคือความกลัวว่าจะตกเป็นเหยื่อของเวทมนตร์ดำ
ในระหว่างการประชุมกับสำนักงานเมืองนูซันตารา ในกรุงจาการ์ตาเมื่อไม่นานนี้ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานด้านไซเบอร์และคริปโตแห่งชาติซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ครั้งนี้ เธอเปิดเผยว่าเธอกลัวสิ่งที่เรียกว่า "ซันเตต" (santet) ซึ่งเป็นความเชื่อแบบดั้งเดิมของอินโดนีเซียที่เกี่ยวข้องกับคาถา มนตร์เสน่ห์ และพลังเหนือธรรมชาติอันชั่วร้ายที่ใช้ทำร้ายผู้อื่นจากระยะไกล เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวอ้างว่า สามีของเธอเองก็เคยตกอยู่ภายใต้คำสาปซันเตตมาก่อนในขณะที่ประจำการอยู่ที่เมืองปอนเตียนัค เมืองหลวงของจังหวัดกาลีมันตันตะวันตก
...

อาลีมุดดิน รองหัวหน้าฝ่ายสังคม วัฒนธรรม และชุมชนของทางการเมืองนูซันตารา รับทราบถึงความกลัวของหญิงคนดังกล่าว และกล่าวว่าซันเตตเป็นปัญหาที่แพร่หลายไปทั่วอินโดนีเซีย ไม่ใช่แค่ในกาลีมันตันตะวันออก ซึ่งจะเป็นเมืองหลวงในอนาคต แต่ยังรวมถึงในเมืองบันยูวังงี และเมืองบันเตินด้วย ในทางกลับกัน อาลีมุดดินยังสารภาพด้วยว่าในอดีตเขาเองก็เคยตกเป็นเหยื่อของซันเตตมาแล้ว
สำนักข่าวท้องถิ่นอ้างคำพูดของอาลีมุดดินว่า "ดังนั้น มันขึ้นอยู่กับพวกเรา เพราะเมื่อเราเพิกเฉยต่อมัน เราก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของเวทมนตร์ดำ และวันนี้ผมก็สบายใจได้"
อาลีมุดดิน กล่าวต่อไปว่า กาลีมันตัน ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียวในส่วนของอินโดนีเซีย มีความเกี่ยวข้องกับประเพณีทางวัฒนธรรมลึกลับอื่นๆ มานานแล้ว เช่น พิธีกรรมล่าหัวคนของชนเผ่าดายัค ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่ครั้งหนึ่งเคยพบเห็นได้ทั่วไป จากการสำรวจสำมะโนประชากรในปี 2010 พบว่ามีชาวดายัคมากกว่า 3 ล้านคนที่กระจายอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยกว่า 200 กลุ่ม ซึ่งทำให้มีเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับเรื่องเหนือธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง
อาลีมุดดินยืนยันว่า "กาลีมันตันไม่เหมือนอย่างที่เราคิดไว้ ไม่เหมือนกับที่เราเคยจินตนาการไว้ในอดีต เมื่อครั้งเราไม่กล้าที่จะไปเยือนที่นั่น"
แต่เค้าลางแห่งเวทมนตร์ดำอาจเป็นอุปสรรคที่ยากกว่าที่จะต้องเอาชนะ สำหรับว่าที่ประชากรบางคนของเมืองนูซันตารา

การต่อสู้กับพลังเหนือธรรมชาติ
โรดี ฮาร์โย วิดโจโน นักสังเกตการณ์ด้านวัฒนธรรมของชนเผ่าดายัคในเมืองซามารินดา ยืนยันว่าการปฏิบัติเวทมนตร์ดำซันเตตยังคงมีอยู่และแพร่หลายในชุมชนพื้นเมืองของเกาะบอร์เนียว รวมถึงพื้นที่โดยรอบที่ตั้งของเมืองหลวงในอนาคตของอินโดนีเซียด้วย
โรดีกล่าวว่า ชนเผ่าบาลิกและปาเซอร์ ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตเซปากู ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เขตปกครองหลักของนูซันตารา เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชนเผ่าดายัค รีกัน ตาเตา ซึ่งเป็นชุมชนที่ยังคงประกอบพิธีกรรมเวทมนตร์ แม้ว่าชาวดายัคหลายคนจะเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์ ในช่วงทศวรรษ 1990 ภายใต้แรงกดดันจากรัฐบาลก็ตาม
...
ผู้นำของอินโดนีเซีย ดูเหมือนจะตระหนักดีถึงพลังเหนือธรรมชาติที่โอบล้อมพื้นที่เมืองหลวงแห่งใหม่นี้ ในปี 2565 ก่อนที่จะเริ่มก่อสร้างเมืองใหม่ ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ได้จัดพิธีกรรมที่เรียกว่า "เคนดี นูซันตารา" หรือ "เหยือกแห่งนูซันตารา" โดยผู้นำในภูมิภาคได้รับคำสั่งให้นำตัวอย่างดินและน้ำจากพื้นที่บ้านเกิดของตัวเอง มาผสมในหม้อดินขนาดใหญ่ พิธีกรรมนี้คล้ายกับ "เซลาเมตัน" (selametan) ซึ่งเป็นประเพณีของชาวเกาะชวาที่ต้องขออนุญาตจากวิญญาณที่อาศัยอยู่ก่อนจะเข้าไปในอาคารหรือบ้านหลังใหม่

วิโดโดเองเป็นที่รู้จักในฐานะคนที่เชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติ เขามักจะปรับคณะรัฐมนตรีให้ตรงกับวันมงคลส่วนตัวของเขาเสมอตามปฏิทินชวา วันนี้คือวันราบูปอน (Rabu Pon) ซึ่งตรงกับวันพุธตามปฏิทินเกรกอเรียน หรือตรงกับวันที่สาม จาก 5 วันตามปฏิทินปาซารันของท้องถิ่น ถือเป็นวันที่โชคดีเป็นพิเศษตามธรรมเนียมของชาวชวา และเป็นวันเกิดของวิโดโดด้วย
...
รัฐบาลของวิโดโดยังได้ว่าจ้าง อิลฮัม ทริอาดี นาโกโร หมอผีฝนชื่อดังจากเมืองบันยูวังงี ศูนย์กลางแห่งเวทมนตร์ดำ เพื่อให้แน่ใจว่าการเฉลิมฉลองวันประกาศอิสรภาพ เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่เมืองนูซันตาราจะเป็นไปอย่างราบรื่น อิลฮัมซึ่งทำงานเป็นภัณฑารักษ์ที่สำนักงานวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของเมืองบันยูวังงีด้วย กล่าวกับสื่อท้องถิ่นว่าเขาได้รับการว่าจ้างจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการ เพื่อใช้เวลา 22 วันในเมืองหลวงแห่งใหม่ พร้อมธูปศักดิ์สิทธิ์ 1,000 เล่ม และมีดโบราณ 3 เล่มเพื่อ "ปัดเป่าอิทธิพลของเวทมนตร์"
อิลฮัมอ้างว่ามีดเล่มหนึ่งมีมาตั้งแต่สมัยจักรวรรดิมัชปาหิตในศตวรรษที่ 14 และมีพลังที่จะขจัดอุปสรรคใดๆ ที่ผู้ถือครองต้องเผชิญ อย่างไรก็ตาม หมอผีบอกว่าเขาเคยผ่านการต่อสู้เหนือธรรมชาติมาแล้ว โดยเขามีอาการอ่อนแอทางร่างกายและเจ็บปวด ในช่วงไม่กี่วันแรกในนูซันตารา หลังจากถูก "โจมตี" ด้วยพลังเหนือธรรมชาติผ่านความฝันของเขา
อิลฮัมบอกกับสื่อท้องถิ่นเมื่อเดือนที่แล้วว่า "ขอบคุณพระเจ้าที่การโจมตีเหนือธรรมชาติ เกิดขึ้นในช่วงสามวันแรกเท่านั้น แต่มันเป็นแค่ความฝัน ต่อมา ฉันต่อสู้กับความฝันนั้นด้วยจิตวิญญาณ ตอนนี้ ฉันรอดชีวิตมาได้แล้ว แต่ร่างกายของฉันเจ็บปวดไปหมดทั้งตัว"
"คุณต้องยิ้มตอบไป"
โรดี นักสังเกตการณ์ทางวัฒนธรรมกล่าวกับ This Week in Asia ว่า ชนเผ่าท้องถิ่นที่อาศัยอยู่รอบๆ พื้นที่โครงการเมืองนูซันตารา ได้เปิดฉากโจมตีตอบโต้แผนการของรัฐบาลด้วยพลังเหนือธรรมชาติแล้ว "เพราะพวกเขารู้ว่าพวกเขาไม่สามารถต่อสู้ด้วยกำลังกับทหารที่คอยดูแลโครงการได้"
"บางคนปฏิเสธพิธีกรรม "เหยือกแห่งนูซันตารา" ของโจโกวี เนื่องจากพิธีกรรมนี้ไม่ได้แสดงถึงสัญลักษณ์บรรพบุรุษของชาวดายัคในท้องถิ่น พวกเขาเห็นว่านี่เป็นการ "เรียกร้องให้เกิดสงคราม" เพราะบรรพบุรุษในท้องถิ่นไม่ได้รับการยอมรับ"
...
โรดีกล่าวว่า ชนเผ่าแต่ละเผ่าในกาลีมันตัน มีพิธีกรรมมนตร์ดำซันเตตที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง ซึ่งรวมถึง "ปารังมายา" (parang maya) ซึ่งเป็น "สงครามที่มองไม่เห็น" ที่หมอผีสามารถเสกพิษร้ายแรงที่พัดมาตามลมเพื่อปกป้องหมู่บ้านของพวกเขาได้ รูปแบบทั่วไปอีกแบบหนึ่งคือคำสาป "ปานาห์เตรอง" (Panah Terong) ซึ่งจะค่อยๆ ทำให้ผู้ถูกคำสาปเหี่ยวเฉาและกลายเป็นของเหลวตามกาลเวลา

โรดีกล่าวว่า เทคนิคปารังมายาถูกนำมาใช้เพื่อต่อต้านการขับไล่ชาวบ้านออกจากหมู่บ้านในพื้นที่ใกล้พื้นที่นูซันตารา ซึ่งชนเผ่าท้องถิ่นจำนวนมากไม่พอใจกับการเคลื่อนย้ายหลุมศพบรรพบุรุษของพวกเขา การศึกษาของกลุ่มเอ็นจีโอเมื่อเร็วๆ นี้พบว่าชนเผ่าบาลิกในเขตเซปากูเพียงแห่งเดียว ถูกขุดขุดหลุมศพ 35 หลุมที่มีอายุย้อนกลับไป 200 ปี สำหรับโครงการสร้างเมืองใหม่
อย่างไรก็ตาม มูฮัมหมัด ซาริป นักประวัติศาสตร์ เชื่อว่าความกลัวเวทมนตร์ดำที่รายล้อมนูซันตารานั้น "เกินจริง" โดยให้เหตุผลว่ากาลีมันตันไม่ใช่ "พื้นที่ดั้งเดิม"
อย่างไรก็ตาม เขาเรียกร้องให้ข้าราชการที่ย้ายไปยังเมืองหลวงแห่งใหม่ คำนึงถึงประเพณีท้องถิ่น เช่น ยิ้มตอบให้กับผู้อยู่อาศัยเดิม ไม่ปฏิเสธอาหารที่พวกเขานำมาให้ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ไม่รู้เท่าทันหรือหยิ่งยโส ที่อาจสร้างความขุ่นเคืองให้กับชุมชนพื้นเมือง
"ในกาลีมันตัน หากผู้คนยิ้มให้คุณ คุณต้องยิ้มตอบ อย่าโง่เขลา อย่าหยิ่งยโส และอย่าดูถูกดูแคลน" เขากล่าว "ถ้ามีคนเสนออาหารมาให้ แม้จะอิ่มแล้วก็ตาม ก็ต้องชิมสักหน่อย อย่าปฏิเสธ เพราะถ้าปฏิเสธ คนในพื้นที่จะไม่พอใจ"
ที่มา South China Morning Post
อ่านข่าวต่างประเทศเพิ่มเติม https://www.thairath.co.th/news/foreign