- ทำความรู้จัก “มูฮัมหมัด ยูนูส” ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐาสตร์ชื่อดังและเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ ชาวบังกลาเทศ วัย 84 ปี ยอมรับคำขอร้องของแกนนำนักศึกษาที่ก่อม็อบขับไล่นายกฯ เชค ฮาซีนา ในการรับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลรักษาการบังกลาเทศ
- "มูฮัมหมัด ยูนูส" เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ผู้ริเริ่มและพัฒนาแนวคิดการให้กู้เงินแก่คนจนโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมทั้งเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารกรามีน จนคว้าโนเบลสันติภาพ
- ศ.มูฮัมหมัด ยูนูส ได้กลายเป็นคู่ปรับของนายกฯ เชค ฮาซีนา ที่ต้องการสกัดความพยายามของเขาที่ต้องการตั้งพรรคการเมืองใหม่ หลังเห็นความล้มเหลวของพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านในบังกลาเทศ
การเมืองในบังกลาเทศมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ หลังเกิดเหตุการณ์ประท้วงนองเลือดครั้งร้ายแรงที่สุดในบังกลาเทศ นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศชาติ เมื่อปี 2514 โดยจบลงด้วยชัยชนะของพลังประชาชน กลุ่มผู้ประท้วงนำโดยนักศึกษา เมื่อนายกรัฐมนตรีเชค ฮาซีนา ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์หนีไปยังประเทศอินเดีย ปิดฉากการเป็นนายกรัฐมนตรี ที่กุมอำนาจมายาวนานถึง 15 ปี
นักศึกษาซึ่งเป็นแกนนำการชุมนุมประท้วง ได้ขอร้องให้ มูฮ้มหมัด ยูนูส ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ วัย 84 ปี ซึ่งคว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2549 มารับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลรักษาการบังกลาเทศ ขณะร่วมประชุมกับเหล่าผู้บัญชาการกองทัพ และประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด ซาฮาบุดดินแห่งบังกลาเทศ เพื่อเลือกผู้นำรัฐบาลรักษาการ โดยแกนนำนักศึกษาปฏิเสธหนักแน่น ไม่ขอยอมรับที่จะให้ทหารเข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาลรักษาการอย่างเด็ดขาด และประธานาธิบดีซาฮาบุดดิน ได้ประกาศยุบสภา เมื่อ 6 ส.ค. 2567
...
*ประวัติ มูฮัมหมัด ยูนูส : "นายธนาคารเพื่อคนจน"
การตัดสินใจของนักศึกษาบังกลาเทศ ในการขอร้องให้ ศาสตราจารย์ มูฮัมหมัด ยูนูส มารับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลรักษาการบังกลาเทศ ถือเป็นการสร้างความหวังให้กับประชาชนในบังกลาเทศที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงของประเทศชาติ มีระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง สิ้นสุดการเมืองแบบอำนาจนิยม ที่ถูกผูกขาดโดยกลุ่มอำนาจทางการเมืองกลุ่มเดิมๆ โดยเฉพาะการมีรัฐบาลที่คำนึงถึงคนยากคนจนในประเทศ ที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก
มูฮัมหมัด ยูนูส เกิดที่เมืองจิตตะกอง จังหวัดเบงกอล เมื่อ 28 มิถุนายน 2483 ปัจจุบันอายุ 84 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธากา ในปี 2503 และจบการศึกษาระดับปริญญาโทในปี 2504 ก่อนได้ทุนฟุลไบรท์ ไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกในสาขาเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิยาลัยแวนเดอร์บิลท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2512
จากนั้นในปี 2515 หนึ่งปีหลังจากบังกลาเทศได้รับเอกราชจากปากีสถาน ยูนูสได้กลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยจิตตะกอง ในบังกลาเทศ และเขาได้เห็นความอดอยาก ขาดแคลนอาหารอย่างหนักของชาวบังกลาเทศกว่า1.5 ล้านคน ที่ประสบภัยพิบัติในปี 2517 จึงทำให้ยูนูสต้องการช่วยเหลือคนยากคนจน
“ผมพบว่าเป็นเรื่องยากลำบากในการสอนทฤษฎีที่เลิศหรูต่างๆ ด้านเศรษฐศาสตร์ในชั้นเรียนของมหาวิทยาลัย ขณะที่ฉากหลังคือความอดอยากขาดแคลนอย่างหนักในบังกลาเทศ ผมรู้สึกถึงความว่างเปล่าของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เหล่านี้บนใบหน้าของความหิวโหยและยากจน” ยูนูส กล่าวสุนทรพจน์ หลังได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2549 พร้อมกับกล่าวว่า เขาต้องการทำบางสิ่งบางอย่างทันทีเพื่อช่วยเหลือคนรอบตัวที่ลำบากยากจน
จากนั้น ยูนูสได้ริเริ่มและพัฒนาแนวคิด “ไมโครเครดิต” หรือการให้กู้เงินโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เริ่มให้เงินกู้ก้อนเล็กๆ แก่คนยากจนมากที่สุดในชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ และได้ก่อตั้งธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ในปี 2526 จนต่อมา ยูนูส ได้รับฉายาว่าเป็น "นายธนาคารเพื่อคนจน"
ในที่สุด ยูนูส และธนาคารกรามีน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ร่วมกันในปี 2549 ในขณะที่ ยูนูสยังได้รับรางวัลทรงเกียรติระดับโลกอีกหลายรางวัล จนทำให้มีชื่อเสียงโดดเด่นไปทั่วโลก
คู่ปรับคนสำคัญของอดีตนายกฯ เชค ฮาซีนา
ศาสตราจารย์ยูนูส กลายเป็นเป้าหมายโจมตีของนางฮาซีนาที่มีความเดือดดาลอย่างยิ่ง หลังจากเขามีความคิดอยากผลักดันการตั้งพรรคการเมืองในปี 2550 เพราะได้เห็นความล้มเหลวของพรรคการเมืองใหญ่ในประเทศสองพรรค คือทั้งพรรครัฐบาล สันนิบาตอวามี (Awami League) ของเชค ฮาซีนา และพรรคฝ่ายค้าน ชาตินิยมบังกลาเทศ (Bangladesh Nationalist Party)
...
นางฮาซีนา มองศาสตราจารย์ยูนูสว่าเป็นเสี้ยนหนามทางการเมืองของเธอ ทำให้ในปี 2554 ได้มีคำสั่งปลด ศ.ยูนูส จากตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารกรามีน และกล่าวหาว่า เขา "ดูดเลือด" คนจน ธนาคารกรามีนคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงลิ่ว
ขณะที่รัฐบาลของนางฮาซีนาได้เริ่มดำเนินการสอบสวนทางการเงินของธนาคารกรามีน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่แสวงกำไร นอกจากนั้น เดือนมกราคม 2567 ศ.ยูนูสยังถูกศาลบังกลาเทศตัดสินจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน โทษฐานกระทำความผิดในคดีละเมิดกฎหมายแรงงาน จากข้อกล่าวหาล้มเหลวในการสร้างกองทุนด้านสวัสดิการเพื่อพนักงาน ทว่าศาสตราจารย์ยูนูสได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา และกลุ่มผู้สนับสนุน ศ.ยูนูส ระบุว่าคดีนี้มีเหตุจูงใจทางการเมือง
...
นอกจากนั้น ศาสตราจารย์ยูนูสได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าธนาคารกรามีนขูดเลือดขูดเนื้อจากคนจน โดยเขาได้บอกกับ CNN เมื่อต้นปี 2567 ว่า ธนาคารกรามีนไม่เคยมุ่งหวังหาเงิน แต่ต้องการช่วยเหลือคนจน และส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก
ยอมรับตำแหน่ง ผู้นำรัฐบาลรักษาการบังกลาเทศ
กระทั่งในที่สุด เมื่อเกิดการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ในบังกลาเทศ นำโดยนักศึกษาที่ตอนแรกออกมาต่อต้านชุมนุมคัดค้าน เป็นฝ่ายชนะ และ ศ.ยูนูส ได้ยอมรับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลรักษาการ เขาได้เดินทางจากฝรั่งเศส กลับมายังกรุงธากา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567
...
ศาสตราจารย์ยูนูส ได้กล่าวไม่กี่วันก่อนว่า เขาต้องการเห็นกองทัพปล่อยมือจากการควบคุมประเทศมาให้แก่รัฐบาลพลเรือน พร้อมกับตำหนินางฮาซีนาว่า ได้ทรมานพวกเรามานานแล้ว และทำให้ประเทศนี้ไม่น่าอยู่สำหรับผู้คน
“ประชาชนกำลังเฉลิมฉลองบนท้องถนน คนหลายล้านทั่วบังกลาเทศกำลังฉลอง ราวกับว่านี่คือวันประกาศอิสรภาพ” ศ.ยูนูส กล่าวพร้อมกับยกย่องการชุมนุมประท้วงในบังกลาเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมีความเห็นถึงอนาคตของบังกลาเทศ และภารกิจของ ศ.ยูนูส ในฐานะผู้นำรัฐบาลรักษาการที่จะต้องเผชิญนั้น เปรียบดั่งถนนสายยาวและมีความซับซ้อน โดยรัฐบาลต้องมีการปฏิรูป
มูบาชาร์ ฮาซัน ซึ่งศึกษาด้านลัทธิเผด็จการในเอเชีย ที่มหาวิทยาลัยออสโล ในนอร์เวย์ มีความเห็นว่า ความท้าทายเรื่องแรกของ ศ.ยูนูส คือการสร้างกฎหมาย-ความสงบเรียบร้อยขึ้นมาใหม่ในประเทศบังกลาเทศ หลังจากเกิดการประท้วงนองเลือดในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 300 ศพ ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา
ก่อนที่ฝูงชนผู้ประท้วงได้บุกบ้านพักนายกรัฐมนตรีฮาซีนา และพากันขนข้าวของออกมาจากบ้านด้วยความโกรธแค้น ซึ่งเป็นภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในบังกลาเทศ ในขณะที่ประชาชนยังขาดความศรัทธาและความเชื่อมั่นต่อตำรวจ ระบบศาลยุติธรรม และสถาบันต่างๆ ของรัฐไปหมดสิ้นแล้ว
ผู้เขียน : อรัญญา ศรีจันทรนิตย์