สองนักบินอวกาศนาซาที่ขึ้นไปทำภารกิจ 8 วันบนสถานีอวกาศ ISS ตั้งแต่เดือน มิ.ย. ล่าช้ามา 2 เดือนแล้ว แต่ล่าสุดก็ยังไม่ได้กลับลงมาเพราะแคปซูลยานอวกาศ "สตาร์ไลเนอร์" ของโบอิ้งยังขัดข้องแก้ปัญหาไม่ได้ และอาจล่าช้าไปถึงต้นปีหน้าเลยทีเดียว
เมื่อ 8 ส.ค. 2567 เว็บไซต์ข่าว CNN รายงานว่า "บุตช์ วิลมอร์" และ "สุนี วิลเลียมส์" สองนักบินอวกาศขององค์การนาซา อาจจะต้องติดค้างอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station-ISS) ไปอีกจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า หลังจากที่พวกเขาขึ้นไปปฏิบัติภารกิจที่มีกำหนดการ 8 วันบนสถานีอวกาศ ISS ตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน แต่ปรากฏว่า "สตาร์ไลเนอร์" (Starliner) ยานอวกาศแบบแคปซูล ของบริษัทโบอิ้ง ที่จะพาพวกเขากลับลงมาเกิดปัญหาที่ต้องซ่อมแซมและแก้ไข แต่จนถึงขณะนี้ผ่านไป 2 เดือนแล้วยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้
เจ้าหน้าที่ของนาซาเปิดเผยว่า นักบินอวกาศบุตช์ วิลมอร์ และสุนี วิลเลียมส์ เป็นนักบินอวกาศชุดแรกที่ได้เดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติด้วยยานแคปซูลสตาร์ไลเนอร์ของโบอิ้ง แต่หากทางโบอิ้งยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางเทคนิคที่เกิดขึ้นได้ และยังไม่สามารถให้บริการเดินทางกลับโลกอย่างปลอดภัยได้ ทั้งสองคนอาจต้องเดินทางกลับด้วยยานอวกาศ "ครูว ดรากอน" (Crew Dragon) สเปซเอ็กซ์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 นี้แทน
รายงานข่าวระบุว่า ขณะนี้ทางองค์การนาซาก็กำลังหาทางพานักบินอวกาศทั้งสองคนกลับโลกอย่างปลอดภัย โดยได้มีการหารือกับสเปซเอ็กซ์ให้สำรองที่นั่งว่างไว้ 2 ที่ บนยานครูว ดรากอน สำหรับการเดินทางเที่ยวกลับ แต่อย่างไรก็ตาม การปล่อยยานของสเปซเอ็กซ์ ยังคงล่าช้ามานานกว่า 1 เดือนแล้ว
ทางด้านโฆษกของโบอิ้งกล่าวว่า หากนาซาตัดสินใจเปลี่ยนภารกิจของสตาร์ไลเนอร์ ทางบริษัทก็จะต้องดำเนินการที่จำเป็นเพื่อกำหนดค่าสตาร์ไลเนอร์ ให้เป็นโหมดการเดินทางกลับโลกแบบไม่มีนักบินอวกาศ
...
ทั้งนี้ ภารกิจทดสอบของสองนักบินอวกาศที่เดินทางออกจากโลกในวันที่ 5 มิถุนายน ที่ผ่านมาในตอนแรกคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 8 วันบนสถานีอวกาศ แต่เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบขับเคลื่อนของสตาร์ไลเนอร์ ซึ่งก่อให้เกิดคำถามมากขึ้นเกี่ยวกับความสามารถของยานอวกาศรุ่นนี้ ในการส่งพานักบินอวกาศกลับสู่โลกอย่างปลอดภัยตามที่วางแผนไว้.