- ชาวเน็ตแชร์คลิปวิดีโอในที่เกิดเหตุพร้อมติดแฮชแท็ก#staged และ #fakeassassination ส่วนใหญ่เป็นคลิปที่แสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่หน่วยซีเคร็ต เซอร์วิสอาจจะรู้ล่วงหน้าว่าจะมีเหตุร้าย ได้มีการเดินไปบอกให้ช่างภาพเปลี่ยนมุมยืน ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ทำท่าทางเหมือนเห็นมือปืนที่นอนซุ่มบนหลังคาในช่วง 30 นาที ก่อนที่มือปืนจะลั่นไก
- ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเหตุการณ์ลอบยิงที่ดูแล้วสมบูรณ์แบบจนเกินไป โดยเฉพาะภาพของทรัมป์ชูกำปั้นที่มีของประกอบฉากดูสมบูรณ์แบบเกินความเป็นจริง
- ขณะเดียวกัน ทฤษฎีสมคบคิด อาจไม่ได้มาจากฝ่ายซ้ายหรือขวาทางการเมือง แต่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับความไม่ไว้วางใจสื่อหลัก เป็นการวิเคราะห์ภาพฟุตเทจที่ถ่ายโดยสื่อหลักที่เกาะติดการชุมนุมฟังปราศรัยของทรัมป์ที่รัฐเพนซิลเวเนีย
ไม่กี่นาทีหลังจากที่กระสุนปืนถูกยิงเฉี่ยวบริเวณใบหูของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ แฮชแท็กทฤษฎีสมคบคิดก็เริ่มปรากฏขึ้น พร้อมวาทกรรมบนโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับเหตุความพยายามลอบสังหารที่เกิดขึ้น หลายคนแชร์ข้อความที่ระบุว่า "อย่าเชื่อในสิ่งที่พวกเขาบอกคุณ" ที่เกิดขึ้นมาจากความไม่ไว้วางใจ ทรัมป์ ผู้ที่มักจะออกมาโต้แย้งสื่อกระแสหลักและบอกว่าเป็นข่าวที่เชื่อไม่ได้
มีคนโพสต์ข้อความทาง X พร้อมแฮชแท็ก #staged ตั้งคำถามว่า กระสุนปืนถูกยิงทะลุหูของทรัมป์จริงๆ หรือไม่ โดยมีคนเข้าไปดูมากกว่า 500,000 ครั้ง หลายคนสงสัยว่า ถ้ามันพลาดเป้าจาก ทรัมป์ แล้วกระสุนหายไปไหน พร้อมวิเคราะห์ภาพและฟุตเทจที่ถ่ายโดยสื่อทางการในช่วงระหว่างการชุมนุมฟังปราศรัยหาเสียงที่รัฐเพนซิลเวเนีย มีคนเข้าไประบุว่า ข่าวทรัมป์โดนยิงทำห้พวกเขารู้สึกตลกเพราะไม่มีอะไรที่ดูปลอมขนาดนี้แล้ว
ผู้เชี่ยวชาญสรุปอย่างหนึ่งจากโพสต์เหล่านี้ก็คือ พวกเขาแสดงให้เห็นว่าทฤษฎีสมคบคิดไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และไม่ได้เป็นเพียงคุณลักษณะหนึ่งของวาทกรรมฝ่ายขวาเท่านั้น นับตั้งแต่โควิดก็ได้ก่อกำเนิดความสงสัยต่างๆ ออกมา โดยกลายเป็นมาตรฐานสำหรับผู้คนจำนวนมากในโลกออนไลน์ที่จะสงสัยในความเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับมุมมองและตีความเหตุการณ์ในลักษณะแตกต่างกันไป
...
อิมราน อาเหม็ด ผู้บริหารระดับสูงของศูนย์ต่อต้านความเกลียดชังทางดิจิทัล กล่าวว่า ทฤษฎีสมคบคิดไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการโน้มน้าวใจทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่มุมมองเรื่องทฤษฎีสมคบคิดเป็นความพยายามที่จะจัดวางเหตุการณ์ต่างๆ ไว้ในเรื่องราวที่สมเหตุสมผลกว่า เพื่อเสริมสร้างความเชื่อและอคติของเราเองที่มีอารมณ์ความรู้สึกสูงเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี มันตอกย้ำความปรารถนาของผู้คนที่จะปรับให้เข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการเล่าเรื่องที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะสนองมุมมองทางการเมืองของพวกเขาไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม
เขากล่าวว่า ทฤษฎีสมคบคิด เกิดขึ้นควบคู่ไปกับความไม่ไว้วางใจสื่อหลัก เป็นการวิเคราะห์ภาพฟุตเทจที่ถ่ายโดยสื่อหลักที่เกาะติดการชุมนุมฟังปราศรัยของทรัมป์ที่เพนซิลเวเนีย
ทฤษฎีสมคบคิดบางอย่างมาจากกลุ่มคนที่มีความคิดฝ่ายซ้าย หรือเสรีนิยม ทำให้เกิดคำว่า "บลูอานอน" (Blueanon) โดยอ้างอิงถึงพรรคบลูเดโมแครต คำนี้เป็นที่มาจาก "คิาอานอน" (QAnon) ซึ่งเป็นทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดฝ่ายขวาที่สนับสนุนทรัมป์และฝ่ายขวาซึ่งไม่มีมูลความจริงว่า กลุ่มชนชั้นนำกำลังควบคุมโลกด้วยเครือข่ายการทารุณกรรมเด็ก

จัดฉากลอบสังหารเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง
ภายในไม่กี่นาทีที่มีข่าวเกี่ยวกับความพยายามลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คำที่ถูกแชร์อย่างมากใน X ก็คือ "จัดฉาก" (Staged) ซึ่งแพร่กระจายเข้าสู่การสนทนาออนไลน์กระแสหลัก และโพสต์ที่เต็มไปด้วยการคาดเดา ความเกลียดชัง และการละเมิดที่ปราศจากหลักฐาน หลายคนสงสัยว่ามือปืนถืออาวุธครบมือเล็ดลอดระบบรักษาความปลอดภัยและขึ้นไปบนหลังคาได้ยังไง ทำไมไม่ถูกเจ้าหน้าที่สกัดเอาไว้ หลายคนบอกว่าคิดแค่นี้ก็ชัดเจนแล้วว่าเป็นการจัดฉาก
นอกจากนี้ยังคนตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมคนในกลุ่มผู้ชมต่างไม่วิ่งหนีด้วยความแตกตื่นตกใจเลย ไม่มีใครได้ยินเสียงปืนเลยหรือ ทำไม่พวกเขาไม่แตกตื่นวิ่งหนีแต่แรก
อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะในอดีตที่ผ่านมา ความพยายามลอบสังหารประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในอดีต ทำให้เกิดการแชร์เกี่ยวกับทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด อาทิ การสังหารประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ในเดือนพฤศจิกายน 2506

ภาพเหตุการณ์สมบูรณ์แบบเกินไป
...
ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตภาพถ่ายทรัมป์ยกกำปั้น มีเลือดบนหน้าและหูของเขา โดยมีธงชาติสหรัฐฯ เป็นพื้นหลัง ซึ่งกลายเป็นภาพที่แคมเปญทรัมป์นำมาใช้เป็นภาพหาเสียงในช่วงไม่กี่เดือนนับจากนี้ ภาพนี้ถ่ายโดย Evan Vucci หัวหน้าช่างภาพของเอพี ในกรุงวอชิงตัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์แบบขององค์ประกอบภาพ การจัดวาง และโทนสี ที่ดูสมบูรณ์แบบไปทุกอย่าง
ผู้ใช้ยูทูบในสหรัฐฯ รายหนึ่งมองว่า ภาพนี้ดูสมบูรณ์แบบเกินความเป็นจริง โดยตั้งข้อสังเกตว่าทำไมผู้คนที่อยู่ตรงนั้นต่างได้รับธงมาถือในตำแหน่งที่สมบูรณ์แบบทุกอย่าง นอกจากนี้ยังมีคนตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงวินาทีก่อนที่กระสุนจะพุ่งมา ทรัมป์ ได้ยกมือขึ้นข้างหนึ่งทำทีเหมือนส่งสัญญาณสั่งการ อย่างไรก็ตามไม่มีหลักฐานยืนยันประกอบในประเด็นนี้
ข้อมูลของ Cyabra บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลที่บิดเบือนของอิสราเอล แฮชแท็กสมคบคิดได้รับการมีส่วนร่วม 404,000 ครั้ง โดยอ้างถึงการถูกใจ ความคิดเห็น และการโพสต์ซ้ำ นอกจากโพสต์จากบัญชีจริงที่อ้างว่า ทรัมป์ จัดฉากกราดยิงเพื่อเพิ่มโอกาสในการเลือกตั้งแล้ว Cyabra ยังพบหลักฐานของความพยายามร่วมกันในการเผยแพร่เรื่องเล่าเท็จ ได้ตรวจสอบโปรไฟล์โซเชียลมีเดีย 3,115 โปรไฟล์ ที่ผลักดันแฮชแท็ก และพบว่า 45% เป็นบัญชีปลอม

...
สุดท้ายใครได้ประโยชน์
ทฤษฎีสมคบคิด ถูกแชร์ทางโซเชียลมีเดียของกลุ่มเดิมๆ ที่เคยต่อต้านการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ต่อต้านวัคซีน ต่อต้านสงคราม และต่อต้านการกราดยิงครั้งใหญ่ ตลอดจนการโจมตีด้วยความหวาดกลัว ส่วนใหญ่มีเนื้อหาชักจูงให้คนเชื่อว่า ทรัมป์ ไปท้าทายอำนาจซาตาน โดยชี้ให้เห็นว่า ทรัมป์ กำลังทำสงครามลับกับผู้มีอิทธิพลในรัฐซ้อนรัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรหน่วยข่าวกรองและความมั่นคงที่ซ่อนอยู่แบบไร้เงา และต้องการขัดขวางทุกการเคลื่อนไหวของทรัมป์
โดยเชื่อว่า ทรัมป์ ถูกสั่งเก็บโดยซีไอเอ และคนที่อยู่เบื้องหลังจริงๆ ก็คือ อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา, ฮิลลารี คลินตัน และไมค์ เพนซ์ อย่างไรก็ตามไม่มีหลักฐานสนับสนุนในประเด็นนี้
หลังเกิดเหตุ คณะผู้แทนเลือกตั้งของพรรครีพับลิกันลงคะแนนเสียงเลือก โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นตัวแทนพรรคไปลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้อย่างเป็นทางการแล้ว โดยเป็นการลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่แห่งชาติของพรรครีพับลิกัน ในวันแรก ซึ่งจัดขึ้นสองวันหลังจากที่ ทรัมป์ เพิ่งผ่านพ้นเหตุการณ์ถูกลอบยิงระหว่างการหาเสียงที่เมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย
ทฤษฎีสมคบคิดนี้เชื่อว่า ทรัมป์ จัดฉากการลอบสังหารนี้เพื่อปลุกกระแสรณรงค์ทางการเมือง เพื่อให้ตัวเองได้รับความเห็นอกเห็นใจทางการเมือง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าอีกหลายเดือนจากนี้ชาวอเมริกันยังต้องจัดการกับข่าวปลอมและทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ ที่จะถูกเผยแพร่อย่างเข้มข้นกว่านี้เมื่อใกล้ถึงวันเลือกตั้ง.