• ตลาดภายในประเทศของจีนได้กลายเป็นตลาดการขายรถ EV ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และรถ EV ของจีนกําลังได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่ผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 75% ของตลาดรถ EV ทั้งหมด
  • รถพลังงานไฟฟ้าของจีนหลากหลายยี่ห้อกำลังเข้ามาตีตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะ BYD ที่เข้ามาแทนที่แชมป์อย่างรถเทสล่าได้เป็นครั้งแรกในไตรมาสสุดท้ายของปี 2023
  • ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถ EV ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นมากในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2566 เกิดจากปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ทำให้ยอดขาย EV สูงขึ้นทั้งในประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

ยอดขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV จากประเทศจีน พุ่งสูงขึ้นมากในกลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นได้จากยอดขายที่เติบโตขึ้นในหลายประเทศ โดยมีแบรนด์หลากหลายมาให้เลือก 

อย่าง BYD เป็นยี่ห้อที่มียอดขายสูงที่สุดในสิงคโปร์ โดยตีตลาดขึ้นมาเป็นยี่ห้อรถเจ้าแรกของจีนที่ติดอยู่ใน 10 อันดับของยี่ห้อรถที่ขายดีที่สุด ขณะที่ในประเทศไทย รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนก็ทำยอดขายคิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2023 โดยแบรนด์ BYD มาเป็นอันดับ 1 มียอดขายคิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของยอดจำหน่ายรถยนต์ EV

...

ขณะที่ยอดขาย EV ของ อู่หลิง แอร์ ของค่ายรถ SAIC Motor ของจีน ก็เพิ่มขึ้นเป็น 65.2 เปอร์เซ็นต์ในปี 2023 กลายมาเป็นแบรนด์รถไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดเป็นอันดับ 2 ของอินโดนีเซีย โดยผลการสำรวจชี้ว่า 66 เปอร์เซ็นต์ผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียมีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน เพราะมีราคาที่เอื้อมถึง มีนวัตกรรมที่น่าสนใจ คล่องตัวและสะดวกสบาย

ความนิยมของรถ EV จากจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยิ่งเป็นการบ่งชี้ว่า จีนกำลังได้รับการยอมรับในการพัฒนาเทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ไฮเทคมากขึ้น ลบภาพจำเก่าๆ ที่ว่า ของที่มีการปั๊มตราว่าผลิตจากจีน หรือเมด อิน ไชน่า จะต้องมีราคาถูก คุณภาพต่ำเท่านั้น

การลงทุนของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับความทะเยอทะยานบุกตลาด EV

แน่นอนว่าการแผ่ขยายอย่างรวดเร็วของรถยนต์ EV จากจีน รวมทั้งการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับรถ EV ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ใช่เรื่องฟลุกหรือบังเอิญ

โดยจีนให้ความสนใจกับเทคโนโลยีเกี่ยวกับยานพาหนะพลังงานทางเลือกใหม่ๆ มาตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 1990 แล้ว จนกระทั่งเริ่มเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2009 โดยกำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์ชาติ

ตั้งแต่นั้นมา รถพลังงานไฟฟ้า หรือ EV รวมทั้งบริษัทที่พัฒนาเกี่ยวกับ EV ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีการส่งเสริมและพัฒนาควบคู่ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาในภูมิภาค โดยจีนกระตือรือร้นอย่างมากที่จะมีส่วนร่วมกับการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มประเทศอาเซียน

อย่างในประเทศสิงคโปร์ บริษัท Nio ได้สร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาเอไอ และรถยนต์ไร้คนขับ

ส่วนบริษัท Geely ได้ร่วมมือกับมาเลเซียในการส่งเสริมตลาดรถ EV ด้วยเงินลงทุน 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งยังพัฒนาสร้างฮับในเปรัก ที่เรียกว่า ออโตโมทีฟ ไฮเทค วัลเลย์ ร่วมกับพันธมิตรมาเลเซีย โดยนอกจากจะพัฒนารถ EV ยังตั้งเป้าไปไกลกว่านั้น โดยเตรียมพัฒนายานยนต์แห่งอนาคตใหม่ๆ ต่อไปอีกด้วย

ในประเทศไทยเอง เกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM) ก็ได้ลงทุนสายการผลิตเต็มรูปแบบ 2 สาย โดย SAIC มอเตอร์ สัญญาว่าจะพัฒนาสวนอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ ซึ่งจะช่วยยกระดับสถานะของประเทศไทยในห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า โดย BYD ก็ประกาศจะเริ่มสายการผลิตในประเทศไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ตั้งแต่ต้นปี 2024 เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยสนับสนุนเป้าหมายของประเทศเหล่านั้นในการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าต่อไปในอนาคต

...

ขณะที่หนิงโป คอนเทมโพรารี บรันทพ์ ลีเจนด์ โรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าของจีน เพิ่งรับปากว่าจะลงทุนมูลค่า 420 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยพัฒนาระบบรถยนต์ไฟฟ้าให้อินโดนีเซียและเพิ่มโอกาสของประเทศในการจัดหานิกเกิล ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่สําคัญที่สุดสําหรับแบตเตอรี่ EV

จีนจะยังคงเป็นจ่าฝูงต่อไป?

ในช่วงเวลาที่เรื่องของสภาพอากาศเปลี่ยนยังคงเป็นสิ่งที่นานาชาติให้ความสำคัญ จีนก็จะยังคงความได้เปรียบกับการบุกตลาดรถ EV เป็นหลัก รวมทั้งการลงทุนในพลังงานสะอาดอื่นๆ เพราะประเทศส่วนมากทางใต้ โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการวางนโยบายสนับสนุนพลังงานไฟฟ้า และตั้งเป้าที่จะพัฒนาพลังงานสีเขียวอยู่แล้ว

...

โดยปัจจุบัน รถยนต์ EV ของจีนกำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆจากทั่วโลก ซึ่งนักวิเคราะห์ประมาณการว่า การลงทุนในต่างประเทศของจีนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ EV โดยตรง มีแนวโน้มที่จะสร้างสถิติสูงสุดใหม่ในปี 2023 และคาดว่ายานยนต์ EV ของจีน จะได้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2030 อย่างไรก็ตาม การจะครองตลาดได้ในระยะยาวยังคงมีความท้าทายหลายอย่างที่จีนจะต้องรับมือให้ได้ อย่างการปรับเปลี่ยนนโยบายส่งเสริม EV ในประเทศเพื่อให้รถไม่ล้นตลาด การเสาะแสวงหาความร่วมมือระหว่างภาครัฐในประเทศต่างๆ ที่จะเข้าไปลงทุน รวมทั้งการแข่งขันจากชาติตะวันตกที่อาจจะตีตื้นตลาดรถ EV ขึ้นมาในระยะต่อไป ซึ่งหากจีนสามารถพิสูจน์คุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยของรถยนต์ที่ผลิตในจีนได้ อาจจะสามารถขยายตลาดต่อไปยังยุโรป หรือภูมิภาคอื่นๆ ได้อีกมาก และอาจจะครองตลาดรถ EV ในภูมิภาคอื่นๆของโลกนอกเหนือจากเอเชียต่อไป.

ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล

...

คลิกอ่านข่าวเกี่ยวกับ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า