• บริษัท "โคบายาชิ ฟาร์มาซูติคอล" ของญี่ปุ่น เรียกคืนสินค้า อาหารเสริมชนิดเม็ด "เบนิ โคจิ คอเลสเต เฮลป์" ที่มีส่วนผสมของ "ข้าวยีสต์แดง" ที่อ้างสรรพคุณช่วยลดคอเลสเตอรอล หลังมีความเชื่อมโยงกับอาการเจ็บป่วยจากปัญหาไต ทำให้มีผู้รับประทานแล้วเสียชีวิตแล้วถึง 5 ศพ ล้มป่วยเข้าโรงพยาบาลอีกนับร้อยราย ทางผู้ผลิตต้องออกมาขอโทษต่อผู้บริโภค โดยระบุว่าอยู่ระหว่างกระบวนการยืนยันข้อเท็จจริง และความสัมพันธ์เชิงสาเหตุการเสียชีวิต
  • ทางด้าน นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ กล่าวต่อรัฐสภา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เราต้องตรวจสอบให้แน่ชัดเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิตและเจ็บป่วย และพิจารณาการตอบสนองต่างๆ หากมีความจำเป็น ซึ่งเป็นการตอบโต้นักการเมืองฝ่ายค้านที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขกรอบการทำงานด้านความปลอดภัยที่หละหลวมมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ

เมื่อนับถึงวันศุกร์ที่ 29 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา อาหารเสริมจากข้าวยีสต์แดงของ บริษัท โคบายาชิ ฟาร์มาซูติคอล ที่มีฐานอยู่ในจังหวัดโอซาก้า เชื่อมโยงกับกรณีการเสียชีวิตของผู้บริโภค 5 ราย และผู้ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่า 100 ราย โดยมีอีกเกือบ 700 ราย ที่เข้ารับคำแนะนำทางการแพทย์แล้ว หรือวางแผนที่จะปรึกษาแพทย์

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับรายงานผู้เสียชีวิตมีชื่อว่า “เบนิโคจิ คอเลสเต เฮลป์” (Red Yeast Choleste Help) ยาเม็ดอาหารเสริมที่โฆษณาว่ามีผลช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ผลิตที่โรงงานโอซาก้า ซึ่งโรงงานนี้ปิดตัวลงในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ส่วนโรงงานในเมืองคิโนะคาวะ ของจังหวัดวากายามะ ซึ่งได้ขนย้ายอุปกรณ์มาจากโรงงานในโอซาก้าที่ปิดตัวไป เป็นผู้รับหน้าที่ผลิตวัตถุดิบสำหรับอาหารเสริมตัวนี้

...

"ข้าวยีสต์แดง" คืออะไร

"เบนิ โคจิ" หรือข้าวยีสต์แดง คือ ข้าวที่หมักกับยีสต์สีแดง ที่เรียกว่า "โมแนสคัส เพอพิวเรียส" (Monascus purpureus) ซึ่งเป็นราสีแดงที่ใช้เป็นสีผสมอาหารด้วย บริษัทผู้ผลิตอาหารเสริมอ้างว่า ข้าวยีสต์แดง มีสรรพคุณช่วยลดคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีในร่างกาย ขณะที่กระบวนการหมักสามารถก่อให้เกิดสารพิษที่เรียกว่า "ซิทรินนิน" (Citrinin) ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำงานของไตได้ อย่างไรก็ตามบริษัทกล่าวว่า การวิเคราะห์ไม่พบซิทรินนินเลย

การศึกษาทางการแพทย์ระบุว่า ข้าวยีสต์แดง เป็นทางเลือกแทนยากลุ่มสแตติน ในการลดคอเลสเตอรอลสูง แต่ยังเตือนถึงความเสี่ยงที่อวัยวะจะถูกทำลาย โดยขึ้นอยู่กับส่วนประกอบทางเคมีของข้าว โดยบริษัท โคบายาชิ ฟาร์มาซูติคอล เปิดตัว "คอเลสเต เฮลป์" ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 และจัดจำหน่ายสินค้าชนิดนี้ไปแล้วประมาณ 1 ล้านกล่อง

กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่น ระบุว่า นอกจากอาหารเสริมของโคบายาชิ ฟาร์มาซูติคอล แล้วยังมีผลิตภัณฑ์มากกว่า 40 รายการ จากบริษัทอื่นๆ ที่มี "เบนิ โคจิ" ซึ่งรวมถึง มิโซะ แครกเกอร์ สาเก ขนมปัง และน้ำสลัดน้ำส้มสายชู ซึ่งจากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ข้าวยีสต์แดง พวกเขาพบ "กรดพิวเบอรูลิก" (puberulic acid) สารประกอบธรรมชาติที่เกิดจากราสีน้ำเงิน ซึ่งไม่ควรอยู่ในผลิตภัณฑ์

เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิภาพ ระบุว่า กรดพิวเบอรูลิก เป็นสารมีฤทธ์เป็นยาปฏิชีวนะ และยาต้านมาลาเรียได้ แต่ก็อาจเป็นพิษได้เช่นกัน โดยมีความเป็นไปได้ในระดับหนึ่งที่กรดตัวนี้จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา แต่ทางกระทรวงย้ำว่าต้องทำการตรวจสอบอย่างละเอียดก่อน

 

บุกตรวจโรงงาน "โคบายาชิ ฟาร์มาซูติคอล"

สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่น และหน่วยงานท้องถิ่นลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานของโคบายาชิ ฟาร์มาซูติคอล บริษัทยาสัญชาติญี่ปุ่น ในจังหวัดวากายามะ เพื่อตรวจหาสาเหตุเบื้องหลังที่แท้จริงของปัญหาสุขภาพที่เชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของข้าวยีสต์แดง โดยเป็นการตรวจสอบโรงงานแห่งนี้เป็นวันที่ 2 แล้ว หลังไปเยือนโรงงานในโอซาก้า

โฆษกกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่น ระบุว่า การตรวจสอบพบสารไม่พึงประสงค์อย่าง “กรดพิวเบอรูลิก” (puberulic acid) สารประกอบธรรมชาติที่เกิดจากราสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสารต้านแบคทีเรีย และยาต้านมาเลเรีย ที่เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วอาจเป็นพิษได้ แต่งานวิจัยเกี่ยวกับปริมาณการรับกรดพิวเบอรูลิกเข้าสู่ร่างกายจนทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ หรือทำให้ไตเสียหายนั้นยังคงไม่ชัดเจน

กระแสวิตกเกี่ยวกับความปลอดภัยอาหารเสริมญี่ปุ่น

ปัญหาสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้นจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงถึงการออกมาชี้แจงตอบสนองที่ล่าช้าของ โคบายาชิ ฟาร์มาซูติคอล โดยบริษัทฯ ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ตั้งแต่รับเรื่องรายงานความเสียหาย จนกว่าจะประกาศเรียกคืนสินค้าโดยสมัครใจ ซึ่งการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ที่มีเบนิ โคจิ เป็นส่วนผสมได้ขยายวงกว้างไปทั่วประเทศแล้ว ส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์หลายรายการ อาทิ สาเก ขนมหวานที่ผลิตจากน้ำตาล ขนมปัง และมิโซะ ขณะที่ผู้บริหารของโคบายาชิ ยอมรับเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า บริษัทได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาไตเป็นครั้งแรกในเดือนมกราคม

...

ทางด้าน นายโยชิมาสะ ฮายาชิ โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่น กล่าวในงานแถลงข่าวว่า รัฐบาลได้เรียกร้องให้บริษัทยาดำเนินการอย่างเร่งด่วนและจริงจังเพื่อระบุสาเหตุ ตลอดจนเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ความกังวลในหมู่สาธารณชนกำลังแพร่กระจาย

สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่น รายงานว่า ผู้ผลิตยาในจังหวัดโอซาก้ารายนี้ ยังไม่ได้ระบุสาเหตุเฉพาะเจาะจง แต่กล่าวว่ามีความเป็นไปได้ที่ผลิตภัณฑ์นั้นมีส่วนผสมที่เราไม่ได้ตั้งใจจะใส่เข้าไป

โฆษกรัฐบาล ระบุว่า ญี่ปุ่นกำลังแบ่งปันข้อมูลกับองค์การอนามัยโลก และประเทศที่เกี่ยวข้อง หลังจากมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางออนไลน์ในหลายประเทศ บริษัทจัดส่งข้าวยีสต์แดงให้กับบริษัทประมาณ 50 แห่งในญี่ปุ่น และอีกสองแห่งในไต้หวัน 

ยูทากะ อาราอิ กรรมาธิการสำนักงานกิจการผู้บริโภคของญี่ปุ่น กล่าวว่า ปัจจุบันความหวาดกลัวด้านสุขภาพกำลังสั่นคลอนตลาดอาหารของญี่ปุ่น ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลังกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการติดฉลากได้รับการผ่อนคลายความเข้มงวดลง ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยในด้านความปลอดภัยของ อาหารที่ติดฉลาก "Functional Food" หรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่า "คิโนเซอิ เฮียวจิ โชคุฮิน" ซึ่งเพิ่งมีฉลากหมวดหมู่นี้เมื่อปี 2015 เพื่อเป็นทางเลือกนอกเหนือจาก "โทคุโฮะ" หรืออาหารที่มีคุณสมบัติพิเศษด้านสุขภาพ ซึ่งต้องได้รับการตรวจคัดกรองจากรัฐบาล และมีรายงานวิจัยรองรับ โดยหมวดหมู่ใหม่ ฉลาก "Functional Food" ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 6,700 รายการ ได้รับการออกแบบเพื่อให้บริษัทขนาดเล็กสามารถนำเสนออาหารที่มีมูลค่าเพิ่ม และกระตุ้นอุตสาหกรรมโดยรวมได้ง่ายขึ้น

...

โดยตลาดอาหารเพื่อสุขภาพแซงกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว คิดเป็น 19% ในปี 2022 เมื่อเทียบกับปี 2023 โดยมีมูลค่าประมาณ 686,5000 ล้านเยน หรือประมาณ 4,530 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

วิกฤตการณ์บริษัทโคบายาชิ ฟาร์มาซูติคอล ทำให้บริษัทอาหารเร่งตรวจสอบผลิตภัณฑ์โดยสมัครใจ ด้านผู้ผลิตลูกกวาด Kanro ออกมาเปิดเผยว่า จะสอบถามซัพพลายเออร์ส่วนผสม เกี่ยวกับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัย

ขณะที่ โฆษกของบริษัทโคคา-โคลา ญี่ปุ่น ซึ่งติดฉลากเครื่องดื่มบางชนิดเป็นประเภท "Functional Food" ระบุว่า ความปอลดภัยเป็นไปตามมาตรฐานทางกฎหมายและจัดการกระบวนการผลิตผ่านการดำเนินงานรายวัน เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ของบริษัท 

ข้าวกล้องยีสต์แดง ถือเป็นความกังวลด้านสุขภาพเรื่องแรกในญี่ปุ่นที่เชื่อมโยงกับอาหารเพื่อสุขภาพ ไม่ชัดเจนว่าความเจ็บป่วยเกิดจากส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ หรือจากกระบวนการผลิตที่ผิดพลาด แต่บริษัทโคบายาชิ ฟาร์มาซูติคอล ต้องเผชิญกับคำวิพากษ์วิจารณ์ว่าตอบสนองอย่างล่าช้าเกินไป หลังได้รับรายงานปัญหาที่เกิดขึ้น.