โรคไอกรนกำลังแพร่ระบาดไปทั่วยุโรป ขณะที่สาธารณรัฐเช็กเผชิญการระบาดรุนแรง โดยพบผู้ป่วยแล้วมากกว่า 3,000 ราย
ในสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม เจ้าหน้าที่สาธารณรัฐเช็ก ระบุว่า มีผู้ป่วยโรคไอกรนที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 28 ราย ขณะที่ตัวเลขดังกล่าวขณะนี้อยู่ที่ 3,084 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่เคยปรากฏมาตั้งแต่ปี 1963
หนึ่งในผู้ป่วยโรคนี้คือ นายโบฮูสลาฟ สโวโบดา นายกเทศมนตรีกรุงปราก วัย 80 ปี ซึ่งเป็น ส.ส. และสูตินรีแพทย์ที่มีชื่อเสียง นายสโวโบดา มีอาการไอ และเสียงแหบ ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการสุขภาพของรัฐสภา โดยมีผู้แสดงความสงสัยว่าทำไมเขาร่วมการประชุมดังกล่าว ขณะที่เขาอ้างว่าเขากำลังฟื้นตัวจากอาการไอกรน หลังกินยาปฏิชีวนะไปแล้ว 6 วัน ขณะที่ กฎระเบียบด้านสาธารณสุขกำหนดให้ผู้ที่เป็นโรคไอกรนต้องอยู่บ้านจนกว่าจะสิ้นสุดการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยยังคงเพิ่มขึ้น หน่วยงานด้านสาธารณสุขของของกรุงปรากได้ส่งจดหมายถึงโรงเรียนต่างๆ โดยระบุว่า ในกรณีที่มีผู้ป่วยโรคไอกรนที่ได้รับการยืนยันในชั้นเรียน เด็กที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนจะต้องถูกส่งตัวกลับบ้าน อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการสำนักงานสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวแย้งว่า โรงเรียนไม่มีอำนาจส่งเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนกลับบ้านเพื่อเป็นการป้องกัน แต่ควรพิจารณาเป็นรายบุคคล โดยพิจารณาจากระยะเวลาที่เด็กที่ติดเชื้ออยู่ในห้องเรียน และอื่นๆ
ด้านนักระบาดวิทยา รวมถึงผู้ที่เป็นผู้นำมาตรการของรัฐบาลในการต่อสู้กับโควิด แสดงความไม่เห็นด้วยกับความเห็นดังกล่าว โดยกล่าวว่าแนวปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุขที่มีการแก้ไขเมื่อเร็วๆ นี้ เรียกร้องให้ปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานด้านสาธารณสุขของของกรุงปราก
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรน หรือที่เรียกในภาษาเช็กว่า "อาการไอดำ" ถือเป็นข้อบังคับในประเทศ และจำเป็นต้องมีการฉีดควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก โปลิโอ และอื่นๆ ตั้งแต่สัปดาห์แรกของการเกิดของทารก ตามตัวเลขอย่างเป็นทางการ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรนอยู่ที่ประมาณ 97% ของประชากรทารก ซึ่งบ่งชี้ว่ามีทารกจำนวนหลายพันคนที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนในสาธารณรัฐเช็ก
...
วลาสติมิล วาเลก รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันเกิดจากสองปัจจัยร่วมกัน ได้แก่ การฟื้นตัวของโรคระบบทางเดินหายใจ ในขณะที่สังคมหละหลวมต่อมาตรการป้องกันโควิดที่เข้มงวด และการสร้างภูมิคุ้มกันที่ไม่สมบูรณ์ในเด็ก
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรนแบ่งออกเป็น 5 ระยะ โดย 3 ระยะแรกในช่วง 12 เดือนแรกของชีวิต โดยเด็กเกือบทั้งหมดจะได้รับวัคซีนในระยะเริ่มต้นนี้ อย่างไรก็ตามมีเด็กเพียง 90% เท่านั้นที่ได้รับวัคซีน 2 ระยะสุดท้าย ซึ่งจะได้รับการฉีดเมื่ออายุประมาณ 6-10 ขวบ
นายวาเลก กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุว่าเหตุใดวัยรุ่นเช็กจึงเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากที่สุด และแนะนำให้ผู้ปกครองควรตรวจสอบประวัติการฉีดวัคซีนของบุตรหลาน ขณะที่ผู้ใหญ่ควรไปฉีดเข็มกระตุ้น
วัยรุ่นที่ติดเชื้ออาจไม่มีอาการร้ายแรงนอกเหนือจากอาการไออย่างต่อเนื่อง แต่พวกเขายังสามารถถ่ายทอดสิ่งที่อาจเป็นโรคร้ายแรงไปยังญาติพี่น้อง ซึ่งยังมีการสร้างภูมิคุ้มกัน หรือผู้สูงอายุ ซึ่งอาจไม่มีภูมิคุ้มกันแล้ว.
ที่มา BBC
ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign