เผยสถิติน่าตกใจ ทั่วโลกมีคนเป็นโรคอ้วนแตะ 1 พันล้านคนแล้ว ในจำนวนนี้รวมไปถึงเด็กและผู้ใหญ่ นับว่าเป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นเร็วกว่าผู้เชี่ยวชาญเคยคาดการณ์ไว้

1 มีนาคม 2567 สำนักข่าว CNN รายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญเผยสถิติคนเป็นโรคอ้วน (obesity) ทั่วโลกว่า ล่าสุดเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1,000 ล้านคนแล้ว โดยผลการการวิเคราะห์ที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet ระบุว่า เด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ มากกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลก กลายเป็นโรคอ้วน ซึ่งเป็นภาวะทุพโภชนาการรูปแบบหนึ่งที่พบบ่อยที่สุดในหลายประเทศ

ดร. มาจิด เอซซาติ ศาสตราจารย์จาก Imperial College London ผู้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ชิ้นนี้ กล่าวว่า สถิติอันน่าตกใจนี้เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของภาวะทุพโภชนาการในรูปแบบของผู้มีน้ำหนักน้อย ไปเป็นโรคอ้วน ในประเทศที่ประชากรมีรายได้น้อย และมีรายได้ปานกลาง 

ก่อนหน้านี้ สหพันธ์โรคอ้วนโลก ประมาณการว่า ภายในปี 2573 จะมีผู้คนจำนวน 1,000 ล้านคน ที่ป่วยเป็นโรคอ้วน แต่ตัวเลขดังกล่าวได้ทะลุไปแล้วในปีที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ การวิเคราะห์ชิ้นนี้จัดทำโดยความร่วมมือของนักวิจัย 1,500 คน จากองค์กรความร่วมมือด้านปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อ และองค์การอนามัยโลก โดยมีการวิเคราะห์ข้อมูล วัดส่วนสูง และน้ำหนักของผู้คน มากกว่า 220 ล้านคน จากกว่า 190 ประเทศ

การวิเคราะห์มุ่งเน้นไปที่อัตราการมีน้ำหนักตัวน้อย และโรคอ้วน ภาวะทุพโภชนาการทั้งสองรูปแบบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้คน โดยผู้ใหญ่จะถูกจัดว่าเป็นโรคอ้วนหากดัชนีมวลกาย (body mass index-BMI) มากกว่า หรือเท่ากับ 30 และจัดว่ามีน้ำหนักน้อยเกินไปหากค่าดัชนีมวลกายต่ำกว่า 18.5 ขณะที่เด็ก และวัยรุ่น จะถูกระบุให้เป็นโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักน้อย พิจารณาตามเกณฑ์อายุ และเพศ ตลอดจนด้านการศึกษา

...


ดร. ฟรานเชสโก บรังกา ผู้อำนวยการแผนกโภชนาการและความปลอดภัยด้านอาหารของ WHO กล่าวในการแถลงข่าว ภาวะโภชนาการไม่เพียงพอและโรคอ้วน เป็นปัญหาเดียวกัน ซึ่งก็คือการขาดการเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาพ

ทั้งนี้ การวิเคราะห์คาดการณ์ว่าผู้ใหญ่เกือบ 880 ล้านคน และเด็ก 159 ล้านคน ป่วยด้วยโรคอ้วนในปี 2565 อัตราโรคอ้วนในเด็กและวัยรุ่นทั่วโลกเพิ่มขึ้นสี่เท่าตั้งแต่ปี 2533-2565 ในขณะที่อัตราโรคอ้วนในผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า.