• "คุณกินสุนัขหรือเปล่า?" นี่เป็นหนึ่งในคำถามที่เป็นที่ชวนกระอักกระอ่วนใจมากที่สุดที่ชาวต่างชาติสามารถถามได้ในเกาหลีใต้ แม้ว่าปฏิกิริยาและคำตอบมักจะขึ้นอยู่กับอายุของผู้ถูกถามก็ตาม
  • ดร.จู ยองฮา ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาแห่งบัณฑิตวิทยาลัยเกาหลีศึกษาอธิบายว่า ร่างกฎหมายนี้จะช่วยยุติการกินเนื้อสุนัขที่มีมานับศตวรรษได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากในอดีต วัวมีราคาสูงมากจนต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลในการฆ่าจนถึงปลายศตวรรษที่ 19 ดังนั้น ผู้คนที่อาศัยอยู่ในคาบสมุทรเกาหลีจึงจำเป็นต้องมีแหล่งโปรตีนอื่นๆ และเนื้อสุนัขเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีที่สุดที่ผู้คนทุกชนชั้นชื่นชอบ
  • การบังคับใช้กฎหมายห้ามการเพาะพันธุ์ การฆ่า การจำหน่าย และการขายเนื้อสุนัข หมายความว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าเนื้อสุนัขจะต้องถูกปรับหรือถูกจำคุก หากพวกเขาดำเนินธุรกิจต่อไป อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ห้ามการกินเนื้อสุนัขแต่อย่างใด

พัก อึนคยอง ที่ปรึกษาวัย 30 กว่าปีที่ทำงานในเยอรมนี กล่าวว่า "มันเหนื่อยมาก ฉันมักจะต้องชี้แจงเสมอว่าฉันไม่เคยกินมันเลย ผู้ที่บริโภคเนื้อสุนัขส่วนใหญ่คือผู้สูงอายุในเกาหลีใต้ แต่ชาวต่างชาติมักจะพูดว่าชาวเกาหลีมักกินเนื้อสุนัขโดยทั่วไป" ซึ่งเธอยอมรับว่าบางครั้งพบว่าคำถามนี้ก็ไม่เหมาะสมนัก

"มันมีความหมายเชิงลบ หมายความว่าคนเกาหลีกินอะไรที่ไม่เหมาะสมอย่างมาก และวัฒนธรรมนี้ก็ป่าเถื่อน"

แต่การตอบคำถามในลักษณะนี้เริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ผ่านร่างกฎหมายใหม่เพื่อห้ามการเพาะพันธุ์ การฆ่า การจำหน่าย และการขายเนื้อสุนัขภายในปี 2570

ดร.จู ยองฮา ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาแห่งบัณฑิตวิทยาลัยเกาหลีศึกษาอธิบายว่า ร่างกฎหมายนี้จะช่วยยุติการกินเนื้อสุนัขที่มีมานับศตวรรษได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในอดีต วัวมีราคาแพง และมีราคาสูงมากจนต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลในการฆ่าจนถึงปลายศตวรรษที่ 19

...

ดังนั้น ผู้คนที่อาศัยอยู่ในคาบสมุทรเกาหลีจึงจำเป็นต้องมีแหล่งโปรตีนอื่นๆ และเนื้อสุนัขเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีที่สุดที่ผู้คนทุกชนชั้นชื่นชอบ แม้ว่าจะมีผู้ที่หลีกเลี่ยงอยู่เสมอก็ตาม

เช่นเดียวกับเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ เนื้อสุนัขทำให้เกิดเมนูอาหารยอดนิยม เช่น ซุปเนื้อสุนัขที่เรียกว่า "โบชินทัง" และเนื้อสุนัขต้มชิ้น เมื่อพูดคุยกับผู้สูงอายุชาวเกาหลีใต้ หลายๆ คนยังคงยกย่องเนื้อสุนัขว่าเป็นอาหารอันโอชะที่ย่อยง่ายและให้พลังงานสูง โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน

โบซินทัง
โบซินทัง

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าตกใจสำหรับหลายๆ คนในระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโซลปี 1988 ซึ่ง ณ ขณะนั้นถือเป็นงานระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดที่เกาหลีใต้เคยเป็นเจ้าภาพ เมื่อเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับการบริโภคเนื้อสุนัข กระทั่งกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก

ดร.จู กล่าวว่า "ในตอนแรก ผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะชนชั้นสูงรู้สึกไม่พอใจ โดยมองว่าเป็นการไม่เคารพวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ผู้คนจำนวนมากขึ้นรู้สึกอับอายและวิพากษ์วิจารณ์การกินเนื้อสุนัขมากขึ้น" 

หลังจากผ่านไปสามทศวรรษ และเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จำนวนคนที่กินเนื้อสุนัขก็ลดลงตามไปด้วย

จากการสำรวจของแกลลัปโพล เมื่อปีที่แล้ว มีประชากรเพียง 8% ที่เคยลองเนื้อสุนัขในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งลดลงอย่างมากจาก 27% ในปี 2558 ขณะที่ตัวเลขจากสมาคมสุนัขเพื่อการบริโภคแห่งเกาหลี ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมเนื้อสุนัข ก็ชี้ให้เห็นตัวเลขที่ลดลงเช่นกัน

สมาคมฯ ระบุว่าขณะนี้มีฟาร์มเพาะพันธุ์สุนัขประมาณ 3,000 แห่งในเกาหลีใต้ ลดลงอย่างมากจาก 10,000 แห่งในช่วงต้นปี 2553 แต่ยังสูงกว่าตัวเลขของรัฐบาล ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1,100 แห่ง ในขณะเดียวกัน ข้อมูลของกระทรวงเกษตร อาหาร และกิจการชนบท ระบุว่า จำนวนผู้เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น ข้อมูลการสำรวจในปี 2565 ระบุว่าชาวเกาหลีใต้ 1 ใน 4 เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยง 

ในเดือนธันวาคม มีรายงานว่ารถเข็นสัตว์เลี้ยงมียอดขายสูงกว่ารถเข็นเด็กเป็นครั้งแรกในปีที่แล้ว แม้ว่านี่อาจเป็นภาพสะท้อนของอัตราการเกิดที่ลดลงของเกาหลีใต้พอๆ กับความรักในสัตว์ก็ตาม

นอกจากนั้น เกาหลีใต้ยังมีผู้นำอย่าง ประธานาธิบดี ยุนซอกยอล และนางคิมกอนฮี สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ซึ่งทั้งคู่เป็นคนรักสัตว์เลี้ยง โดยมีสุนัข 6 ตัวและแมว 5 ตัว

รัฐบาลชุดนี้ใช้เวลาไม่ถึงสองปีในการนำกฎหมายที่รัฐบาลชุดก่อนๆ ล้มเหลวในการบังคับใช้นับตั้งแต่แนวคิดนี้ถูกถกเถียงกันครั้งแรกเมื่อหลายสิบปีก่อน มาเสนออีกครั้ง หลังจากข้อเสนอภายใต้ผู้นำคนก่อนของเกาหลีใต้ ถูกขัดขวางท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง

การบังคับใช้กฎหมายใหม่นี้หมายความว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าเนื้อสุนัขจะต้องถูกปรับหรือถูกจำคุก หากพวกเขาดำเนินธุรกิจต่อไป อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ห้ามการกินเนื้อสุนัขแต่อย่างใด

...

ถึงกระนั้นก็ตาม นักเคลื่อนไหวก็ยินดีกับข่าวนี้เช่นกัน รวมถึงโจ ฮีคยอง ผู้อำนวยการสมาคมสวัสดิภาพสัตว์แห่งเกาหลี (KAWA) ซึ่งรณรงค์ในประเด็นนี้มาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 เธอกล่าวว่าการห้ามดังกล่าวเป็น "ทางเลือกเดียว" ในการหยุดการทารุณกรรมสุนัข โดยเสริมว่า "ฉันหวังว่าโลกจะหยุดการทารุณกรรมสัตว์ในนามของประเพณีหรือวัฒนธรรม"

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเชื่อมั่น ซึ่งรวมถึงผู้ที่ประกอบอาชีพค้าเนื้อสุนัข

จู ยองบง เกษตรกรผู้เลี้ยงสุนัขมากประสบการณ์และประธานสมาคมสุนัขเพื่อการบริโภคแห่งเกาหลี กล่าวว่า "เราตระหนักดีว่ามีผู้คนจำนวนมากที่ไม่กินเนื้อสุนัขเมื่อเทียบกับผู้ที่กิน เรารู้ว่าตลาดกำลังลดลง แต่ถึงกระนั้น มันก็เป็นสิทธิ์ของเราที่จะดำเนินธุรกิจ" 

เขาแย้งว่ากฎระเบียบของอุตสาหกรรมเนื้อสุนัขที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับหลายสิบปีก่อนที่มีน้อยมากหรือไม่มีเลย สามารถจัดการกับข้อกังวลเกี่ยวกับสิทธิสัตว์ได้

นอกจากนั้น ยังมี ดร. อัน ยอง กึน อดีตศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมอาหารที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติชุงนัม ซึ่งมักได้รับการขนานนามว่า "ดร. เนื้อสุนัข" เขาเป็นหนึ่งในนักวิจัยเนื้อสุนัขเพียงไม่กี่คนในเกาหลีใต้ เขาเริ่มการวิจัยระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 1988 โดยรู้สึกหงุดหงิดกับสิ่งที่เขารู้สึกว่าเป็นการโต้ตอบอย่างเฉยเมยของรัฐบาลและนักวิชาการต่อการวิพากษ์วิจารณ์จากต่างประเทศ และตอนนี้เขาได้โต้แย้งถึงประโยชน์ของการกินเนื้อสุนัข

...

ดร.อาห์นกล่าวว่า เนื้อสุนัขมีไขมันไม่อิ่มตัวในระดับต่ำและอาจใช้แทนเนื้อวัวหรือหมูได้ แต่ดูเหมือนว่าการบริโภคเนื้อสุนัขจะถูกผลักไสให้กลายเป็นเพียงประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่เขาตั้งคำถามว่าขัดแย้งกับเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศหรือไม่

นายจู เกษตรกรผู้เลี้ยงสุนัขกล่าวว่า "คุณไม่สามารถกำหนดสิ่งที่ผู้คนกินได้และกินไม่ได้" 

เช่นเดียวกับลี โบรา เจ้าของสุนัขวัย 30 กว่าๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการกินเนื้อสุนัขและยินดีกับกฎหมายใหม่ แต่เสริมว่าเธอค่อนข้างกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของกฎหมายนี้

"ในแง่ความรู้สึก ฉันหวังว่าผู้คนจะไม่เพาะพันธุ์และฆ่าสุนัขเพื่อเป็นอาหาร" และกล่าวว่า "อย่างไรก็ตาม โดยหลักการแล้ว ฉันคิดว่าเนื้อสุนัขก็ไม่ต่างจากวัวหรือหมูมากนัก."

ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign